xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาล-ผู้เชี่ยวชาญเร่งรัดชาวเอเชีย หยุดออมหันมาจับจ่ายผลักดันศก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี – ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ชาวเอเชียทุบกระปุกหมูออมสินของตนเองแล้วเอาเงินไปจับจ่ายใช้สอย หากว่าต้องการให้เศรษฐกิจภูมิภาคนี้ไม่ประสบภาวะชะลอตัวรุนแรงจากแรงฉุดของภาวะเศรษฐกิจโลก ขณะที่รัฐบาลประเทศต่างๆ ก็พากันออกมาตรการกระตุ้นเร่งรัดให้ประชาชนบริโภคกันมากขึ้น อย่างไรก็ดี ไม่มีใครมั่นใจว่านิสัยมัธยัสถ์เก็บออมของคนในภูมิภาคนี้จะเปลี่ยนได้ง่าย ๆ

ภาวะเศรษฐกิจชะลอได้ลุกลามไปทั่วภูมิภาคนี้ภายในเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ทำให้นักเศรษฐศาสตร์มากมายในเอเชียออกมาเรียกร้องให้การกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ เพื่อดึงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจให้เพิ่มขึ้น

“ผมคิดว่าผลกระทบที่สำคัญที่สุดของวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ก็คือ เราจะได้เห็นเอเชียปรับเปลี่ยนมาสู่การบริโภคภายในเพิ่มขึ้น อันเป็นส่วนที่ขาดหายไปตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินในช่วงปี 1997-1998” สตีเฟ่น โรช ประธานของมอร์แกน สแตนลีย์ เอเชียกล่าว

ความต้องการของตลาดสหรัฐฯและยุโรปต่อสินค้าเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ได้ตกต่ำอย่างรุนแรง ในขณะที่เครื่องจักรผลิตสินค้าส่งออกอย่างจีนก็ต้องสะดุดหยุดลง ยอดส่งออกของจีนตกลง 2.8% ในเดือนธันวาคม ซึ่งนับเป็นการลดลงติดกันเดือนที่สองและเป็นครั้งที่ร้ายแรงที่สุดในรอบหนึ่งทศวรรษ

มาซาฮิโร คาวาอิ ประธานสถาบันธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย ซึ่งเป็นหน่วยงานศึกษาวิจัยของเอดีบี ก็เห็นด้วยว่าคนในภูมิภาคควรเปิดกระเป๋าให้มากขึ้นกว่าเดิม

“เอเชียควรจะคงสถานะเป็นโรงงานอุตสาหกรรมของโลกต่อไป แต่ในขณะเดียวกันชาวเอเชียก็ควรจะเริ่มบริโภคและจับจ่ายใช้สอยให้มากขึ้น” เขากล่าว
แต่ผู้เชี่ยวชาญก็เห็นว่ามีสัญญาณน้อยมากที่แสดงให้เห็นว่าแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ และการจับจ่ายใช้สอยในประเทศของชาติเอเชียต่างๆ สามารถเปลี่ยนแปลงนิสัยชอบเก็บออมของคนในภูมิภาคนี้ได้

“มันเป็นเรื่องยากที่จะให้ผู้บริโภคชาวเอเชียใช้เงินซื้อข้าวของให้มากขึ้น” โรเบิร์ต ไพรเออร์-วันเดอร์สฟอร์ด นักเศรษฐศาสตร์เอเชียอาวุโสของเอชเอสบีซี กล่าวให้ความเห็น

อย่างไรก็ตาม บรรดารัฐบาลในชาติเอเชียต่างกำลังทุ่มเทใช้ความพยายามอย่างหนักเพื่อให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น อย่างเช่น ในไต้หวัน รัฐบาลได้ออกคูปองมูลค่า 105 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อคน เพื่อให้พลเมือง 23 ล้านคนของเกาะแห่งนี้ออกมาซื้อหาสินค้ากัน

ตอนนี้รัฐบาลไต้หวันกำลังเก็บข้อมูลว่ามาตรการนี้ได้ผลหรือไม่ ขณะที่นักวิเคราะห์ยังคงไม่เชื่อมั่น

“ผมว่าคนส่วนใหญ่จะเอาคูปองไปใช้ แล้วก็เก็บเงินตัวเองไว้ในธนาคาร” จอห์นนี่ ลี จากเพรสิเดนท์ ซีเคียวริตี้ส์ในไทเปกล่าว

ที่ญี่ปุ่น รัฐบาลก็มีมาตรการคืนเงินภาษีให้กับประชาชน 22,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงินราว 130 ดอลลาร์ต่อคน เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนจับจ่ายสินค้า แต่จากการสำรวจแสดงให้เห็นว่า 44% ของประชาชนจะใช้เงินเพื่อจุนเจือการใช้ชีวิตประจำวันเท่านั้น แถมอีก 18% บอกว่าจะเก็บเงินเอาไว้

ข้อมูลจากรัฐบาลแสดงให้เห็นว่าการจับจ่ายใช้สอยของครัวเรือนในญี่ปุ่นลดลง 4.6% ในเดือนธันวาคมเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่สิบ ซึ่งประเทศในเอเชียอื่นๆ จำนวนมากก็มีรูปแบบเช่นเดียวกันนี้

ที่เกาหลีไต้ ผู้คนพากันเอาเครื่องเพชร แม้กระทั่งแหวนแต่งงานออกมาขาย เพื่อเอาเงินสดมาเก็บไว้เผื่อยามยาก ส่วนพวกข้าราชการหรือพนักงานบริษัทก็เอาอาหารกล่องที่ทำจากบ้านไปกินกลางวัน หรือกินอาหารที่โรงอาหารของบริษัท ไม่ไปกินตามร้านข้างนอกอีกต่อไปแล้ว กระทรวงยุติธรรมยังกำลังพิจารณาว่าจะลดค่าปรับในกรณีทำผิดกฏหมายให้แก่คนจนเป็นพิเศษเพราะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่

ส่วนในมาเลเซีย รัฐบาลได้ลดจำนวนเงินที่ผู้ประกันตนต้องจ่ายเข้าสู่กองทุนประกันสังคมลงมาก แต่นักเศรษฐศาสตร์ไม่ค่อยแน่ใจนักว่าจะสามารถกระตุ้นการใช้เงินได้หรือไม่

“ประชาชนกำลังกังวลและอยากจะเก็บเงินสดไว้มากกว่า และคงยากที่จะเกลี้ยกล่อมให้คนยอมพรากจากเงินของเขาในเวลาouh” วัน ซูไฮมิ ไซดี นักเศรษฐศาสตร์ที่เคนังก้า อินเวสเมนท์ แบงก์ ในกัวลาลัมเปอร์ บอก

สถานการณ์ของผู้ค้าปลีกของโลกและในประเทศต่าง ๆก็กำลังย่ำแย่ไม่แตกต่างกัน สืบเนื่องจากผู้บริโภคพากันรัดเข็มขัด ผู้ผลิตสินค้าแบรนด์เนม อย่าง หลุยส์ วิตตง ซึ่งเผชิญหน้ากับยอดขายที่ย่ำแย่ลงในภูมิภาคนี้ ก็เพิ่งเลื่อนแผนที่จะเปิดร้านขนาดใหญ่ในโตเกียวออกไป

ส่วนมาร์ค แอนด์ สเปนเซอร์ ผู้ค้าปลีกอังกฤษ ต้องปิดสาขาไต้หวันไปเมื่อปีที่แล้ว ที่เกาหลีใต้ ยอดขายของร้านลดราคายักษ์ใหญ่ภายในประเทศทั้ง 3 แห่งร่วงลง 5.8% ในเดือนธันวาคม ส่วนยอดขายตามห้างสรรพสินค้าลดลงไป 4.5%

จีนซึ่งมีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่ห้าวหาญทะลุทะลวงมากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ ก็ยังต้องมุ่งแก้ไขปัญหาเรื่องความต้องการสินค้าในระยะสั้นและระยะยาว โดยออกทั้งมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในชนบทผ่านการอุดหนุนเป็นตัวเงินแก่ผู้คนที่ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างเช่นโทรทัศน์, ตู้เย็น และโทรศัพท์มือถือ รวมทั้งเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่ระบบประกันสุขภาพและประกันสังคมเพื่อให้คนเห็นว่าไม่จำเป็นต้องเก็บออมเผื่ออนาคต แล้วออกมาใช้เงินกันมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น