xs
xsm
sm
md
lg

“เอดีบี” เล็งหั่นคาดการณ์ ศก.ไทย อัดรัฐบาลจอมสร้างภาพ-เล่นเกม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้บริหารเอดีบีแบงก์ เตือนไทยรับมือ ศก.โลกผันผวน คาดปี 51 จีดีพียังโตได้ 5% ตั้งข้อสังเกตเมืองไทย มักจะมีเรื่องให้ประหลาดใจเสมอ เตรียมปรับลดประมาณการปี 52 ชี้การยุบสภายังไม่ใช่ประเด็นที่น่าห่วง แต่สูญญากาศทางการเมืองที่น่ากังวล คือ รัฐบาลไม่คิดและไม่ทำอะไร เพราะมัวแต่หาเสียง ทำให้ไม่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกิดขึ้น

วันนี้ (16 ก.ย.) นายฌอง ปิแอร์ เวอร์บิสท์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียประจำประเทศไทย (เอดีบี) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2551 ยังน่าจะขยายตัวได้ในระดับ 5% แต่มีแนวโน้มว่าอาจมีการปรับลดประมาณการในปี 2552 หากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองยังคงยืดเยื้อต่อไป

ก่อนหน้านี้ เอดีบี คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะมีอัตราการขยายตัว 5.2% แต่ถ้าปัญหาการเมืองยังมีความไม่แน่นอน มีการเปลี่ยนรัฐบาลบ่อยจะกระทบต่อการบริหารนโยบายเศรษฐกิจ ทำให้ไม่ต่อเนื่อง โครงการลงทุนขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) อาจต้องเลื่อนออกไปอีก จากที่ปีนี้ ซึ่งยังไม่เกิดการลงทุนเลย

ขณะที่เศรษฐกิจโลกเองก็มีแนวโน้มว่าจะไม่ดีนัก ซึ่งจะกลายเป็นความเสี่ยงที่อาจทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้แค่ 4.5% ในปีหน้า แต่ก็ไม่ได้เกิดเฉพาะกับประเทศไทย ยังมีสิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไต้หวัน ที่การขยายตัวของเศรษฐกิจมีแนวโน้มจะลดลง เพราะพึ่งพิงเศรษฐกิจโลกมากไป

อย่างไรก็ตาม เอดีบี คาดว่า หากการเมืองของไทยจบภายในต้นปีหน้าเศรษฐกิจก็น่าจะเติบโตได้ 5% เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจก็จะดำเนินต่อไปได้

นายเวอร์บิสท์ ระบุว่า หากการประเมินไม่เป็นอย่างที่คาดเอาไว้ เอดีบีจะมีการทบทวนประมาณการใหม่ประมาณเดือน มี.ค.-เม.ย.2552 เรามองว่าถ้าการเมืองยังยืดเยื้อและรุนแรง ซึ่งถ้าหากนานถึง 1 ปี ทำให้การลงทุนไม่เกิด แต่จะยังมีการผลิตเพื่อสะสมสินค้าทุนอยู่ แต่ถ้ายืดเยื้อถึง 2 ปี กำลังการผลิตจะหดตัว และถ้ายาวไปถึง 3 ปี กำลังการผลิตจะหายไปเลย พร้อมตั้งข้อสังเกตุว่า ประเทศไทยมักจะมีเรื่องให้ประหลาดใจเสมอ โดยเฉพาะตัวเลขที่ออกมา มักจะดีกว่าที่คาดการณ์เอาไว้

นายเวอร์บิสท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากดูดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจไทย โดยตัดปัญหาความเชื่อมั่นทางการเมืองไทย ยังพบว่าดุลบัญชีเดินสะพัดยังเกินดุล เศรษฐกิจครึ่งแรกปีนี้ก็โตดี แต่ไทยกำลังเสียโอกาสที่จะทำได้ดีกว่านี้ และยิ่งหากรอนานไม่ทำอะไรก็จะมีผลกระทบ เพราะตอนนี้การส่งออกก็มีแนวโน้มที่จะลดลงตามเศรษฐกิจโลก การท่องเที่ยวของไทยจะต้องคิดปรับปรุงโครงสร้าง เพราะอาจได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันสูง

ส่วนประเด็นยุบสภาหรือไม่ยุบนั้น นายเวอร์บิสท์ กล่าวว่า คงไม่ใช่ประเด็นที่น่าเป็นห่วง แต่สุญญากาศทางการเมืองที่น่ากังวล คือ รัฐบาลไม่คิดและไม่ทำอะไร ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในช่วง 2-3 เดือนก่อนการเลือกตั้ง เพราะนักการเมืองมุ่งแต่หาเสียง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่มี แต่เรามั่นใจว่าการเลือกตั้งของไทยจบเร็วภายใน 3 สัปดาห์

ส่วนกรณีปัญหาของ เลห์แมน บราเธอร์ส มองว่า ทั้งไทยและเอเชียยังไม่ถูกกระทบ แต่เชื่อว่ายังมีบริษัทระดับโลกที่มีปัญหาอีกหลายบริษัทที่ยังไม่ถูกค้นพบ ซึ่งจะเกิดขึ้นมาอีกได้ ปัญหาเหล่านี้จะทำให้ต้นทุนทางการเงินของโลกสูงขึ้น และทำให้ปล่อยสินเชื่อยากขึ้น

ตลาดระยะเวลาที่ผานมา เศรษฐกิจโลกและไทยมีสภาพคล่องทางการเงินสูงและอัตราดอกเบี้ยต่ำ แต่ต่อจากนี้ไปจะไม่เป็นแบบนี้แล้ว เพราะแม้จะไม่มีวิกฤตซับไพรม์ แต่ก็มีปัญหาเงินเฟ้อ

“ประเทศไทยสภาพคล่องการเงินลดลงเช่นเดียวกับเอเชีย ทำให้ต้นทุนการกู้สูง ต้นทุนการออกพันธบัตรสูงด้วย แต่ผลกระทบโดยตรงต่อสถาบันการเงินไทยไม่ค่อยมี”

สำหรับปีนี้ เอดีบี ยังไม่มีแผนออกพันธบัตรสกุลเงินบาท เพราะยังไม่มีแผนใช้เงินกู้เป็นเงินบาท โดยในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมาออกไปแล้วมูลค่า 1-6 พันล้านบาท

**ปรับลดคาดการณ์ ศก.เอเชีย เตือนปัญหาเงินเฟ้อ

เอดีบี ระบุถึงภาวะเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย มีแนวโน้มขยายตัวที่ระดับ 7.5% ในปีนี้และปรับตัวลดลงไปอยู่ที่ระดับ 7.2% ในปีหน้า หลังจากที่เศรษฐกิจเอเชียขยายตัวขึ้นเร็วที่สุดในระดับ 9% ในรอบเกือบ 20 ปีเมื่อปีที่ผ่านมา ขณะที่เศรษฐกิจในเอเชียจะยังเผชิญภาวะเงินเฟ้อในระดับสูงที่ 7.8%

รายงานความคืบหน้าด้านแนวโน้มเศรษฐกิจในเอเชียปีนี้ ระบุว่า ราคาน้ำมันและอาหารในตลาดโลกจะยังคงไต่ระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อยังคงมีอยู่ในระดับสูง และเศรษฐกิจในประเทศอุตสาหกรรมที่ชะลอตัวลงยาวนาน เป็นปัจจัยสำคัญที่ฉุดรั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจในเอเชีย

นายอีฟซาล อาลี หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารเพื่อการพัฒนาในกรุงมะนิลา กล่าวยอมรับว่า แม้ว่าขณะนี้ราคาน้ำมันมีแนวโน้มอ่อนตัวลงในระยะสั้นๆ แต่ราคาน้ำมันจะยังคงเคลื่อนไหวในระดับสูง และยังเผชิญความผันผวนในระยะยาว ขณะที่ราคาอาหารก็ได้รับอิทธิพลโดยตรงจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ เอดีบี ยังกล่าวเตือนด้วยว่า แรงกดดันด้านเงินเฟ้อในภูมิภาคกำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยจนอาจถึงขั้นที่ไม่สามารถควบคุมได้ โดยระบุว่า กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียต่างเผชิญปัญหาเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นกันถ้วนหน้าจากปัจจัยหลายด้านที่มีอิทธิพลต่อต้นทุนสินค้าต่างๆ อาทิ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น