xs
xsm
sm
md
lg

บี้"นครหลวง-กลต."เอาผิดMFC

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บลจ.เอ็มเอฟซี-นิชดาธานี 2 ซบปัญหาเรื้อรัง ผู้ถือหน่วยไล่บี้"แบงก์นครหลวง"ทำตามหน้าที่ผู้ดูแลผลประโยชน์ร่อนหนังสือถึงก.ล.ต. เร่งเอาผิดฐานละเมิดเกณฑ์จัดตั้งกองทุนรวมหลายกระทง "ทนายโจทก์"แฉเล่ห์"บ.นิชดาฯ"งุบงิบกรรมสิทธิ์ถนน-สิ่งอำนวยความสะดวกในโครงการไว้เป็นของบริษัท แต่กลับไม่โอนให้กองทุนตามเงื่อนไข หวั่นเกิดความเสียหายแก่นักลงทุนภายหลัง ด้าน"พิชิต"ปัดตอบคำถาม ยันกองทุนฯได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเรียบร้อยแล้ว

นายณกฤช เศวตนันทน์ เปิดเผยว่า ในฐานะที่ตนเป็นทนายความผู้รับมอบอำนาจของ นางเรณู เมฆอุไร และนางสาวสาริณี เมฆอุไร ซึ่งเป็นผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนอสังหาริมทรัพย์นิชดาธานี 2 ได้ทำการยื่นหนังสือคำร้องลงวันที่ 3 มีนาคม 2552 ถึงกรรมการผู้จัดการ ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด(มหาชน) ในฐานะผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวมดังกล่าวให้ปฏิบัติหน้าที่ตาม พระราชบัญญัติหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 127 (1) ในการดูแลให้บริษัทหลักทรัพย์ปฏิบัติตามมาตรา 125 ในการจัดตั้งกองทุนรวมอย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ ธนานครหลวงไทยจะต้องจัดทำรายงานเสนอต่อสำนักงาน ก.ล.ต.ในกรณีที่บริษัทหลักทรัพย์กระทำการหรืองดเว้นกระทำการจนก่อให้เกิดความเสียหายแก่กองทุนรวม หรือไม่ปฏิบัติหน้าตามมาตรา 125

สำหรับการทำหนังสือคำร้องครั้งนี้สืบเนื่องจาก โจทก์ทั้ง 2 ในฐานะผู้ถือหน่วยลงทุนได้ติดตามการบริหารงานของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด(มหาชน) พบว่า บลจ.ดังกล่าวมิได้จัดการให้เป็นไปตามโครงการจัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์นิชดาธานี 2 อย่างเคร่งครัดประกอบด้วย การโอนสินทรัพย์ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของกองทุนตามรายละเอียดโครงการจัดกองทุนนิชดาธานีหน้า 6 ที่ระบุว่าสิ่งอำนวยความสะดวกเช่น คลับเฮ้าส์ สระว่ายน้ำ และที่จอดรถส่วนกลางที่จะต้องเป็นทรัพย์สินของกองทุนนั้น แต่เมื่อตรวจสอบที่สำนักจดทะเบียนที่ดินแล้วพบว่า เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2552 บริษัทนิชดาพร็อพเพอร์ตี้ได้ทำการโอนที่ดินจำนวน 58 แปลงและบ้านจำนวน 58 หลังให้กองทุนฯ เท่านั้น แต่มิได้โอนที่ตั้งของสิ่งอำนวยความสะดวกดังกล่าวให้กับกองทุนแต่อย่างใด

นอกจากนี้ยังพบว่า กองทุนฯยังมีได้รับการโอนขายที่ดินบริเวณที่เป็นถนนภายในหมู่บ้านและรอบหมู่บ้านจาก บริษัทนิชดา พร้อพเพอร์ตี้ และไม่ได้มีการจดทะเบียนภาระจำยอมการใช้ถนนให้กับกองทุน ซึ่งจะส่งผลให้ผู้อยู่อาศัยในบ้านของกองทุนฯ ไม่มีทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย และไม่เป็นไปตามรายละเอียด โครงการจัดการกองทุนข้อ 4.1.2 หน้า 22 ที่ระบุว่าอสัหาริมทรัพย์ที่จะลงทุนต้องตั้งอยู่ในประเทศไทย มีทางเข้าออกที่ดีและเหมาะสมตามสภาพ

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตุว่านอกจากยังมิได้โอนที่ดินบริเวณถนนให้กองทุนแล้ว บริษัทนิชดาฯ เองยังมิได้มีการโอนกรรมสิทธิที่ดินถนนให้เทศบาลหรือคณะกรรมการหมู่บ้านด้วย เพียงแต่ทำการบันทึกไว้ด้านหลังโฉนดว่าที่ดินอยู่ภายใต้การจัดสรรที่ดินและเป็นพื้นที่ส่สวนที่กันไว้เป็นสาธารณูปโภคหรือบริการสาธารณะประเภทถนนเท่านั้น ซึ่งหมายถึงบริษัทดังกล่าวไม่มีเจตนาโอนให้กับกองทุนฯแต่อย่างใด

"ที่สำคัญบริษัทนิชดาพร็อพเพอร์ตี้ยังมีประวัติเรียกร้องเอาเงินค่าผ่านททางเป็นจำนวนเงินที่สูงมากจากผู้ที่มาซื้อบ้านหรือเช่าบ้านในหมู่บ้านมาแล้วหลายรายภายหลังจากที่ได้มีการทำเรื่องซื้อบ้านหรือเช่าบ้านเสร็จแล้ว โดยได้ทำการขึ้นป้ายขนาดใหญ่ไว้ที่ด้านหน้าโครงการว่า เป็นถนนทางเข้าส่วนบุคคล อนุญาตให้ใช้เฉพาะผู้มาติดต่อโรงเรียนนานาชาติกับผู้มาติดต่อ บริษัทนิชดาพร็อพเพอร์ตี้ เท่านั้น"นายณกฤชกล่าว

นายณกฤช กล่าวอีกว่า นอกจากเรื่องที่กล่าวไปข้างต้นยังพบว่า การฟ้องร้องต่อบริษัทนิชดาพร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ร่วมกับ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ นิชดาธานี 2 และ บลจ.เอ็มเอฟซีในช่วงที่ผ่านมาอยู่หลายคดีนั้น น่าจะส่งผลให้การบริหารงานที่เกิดขึ้นไม่เป็นไปตามรายละเอียดโครงการจัดการกองทุนฯ ข้อ 4.1.5 เนื่องจากอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มานั้นเป็นทรัพย์สินที่มีข้อพิพาทอยู่ก่อนหน้าที่จำทำการจัดตั้งกองทุน

ทั้งนี้ โดยเฉพาะในกรณีที่มีการละเมิดเข้าแทรกแซงในทางสัญญาและแย่งลูกค้าผู้เช่ารายประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีผู้เช่าคือกลุ่มครอบครัวเจ้าหน้าที่สถานทูตอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านธารดงเฮอริเทจให้ย้ายไปอยู่ที่โครงการเดอะรีเจนท์แอทนิชดาธานีของบริษัทนิตั้งแต่ช่วงกลางเดือน มกราคม ก่อนที่กองทุนจะได้รับโอนที่ดินจากบริษัทนิชดาฯ เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2552 และทำสัญญาเช่าให้บริษัท นิชดาฯ ไปบริหารงานนั้น น่าจะทำให้กองทุนเสียหายได้

"ข้อพิพาทดังกล่าวตนเองคิดว่า ไม่เป็นไปตามรายละเอียดโครงการ เพราะมีข้อพิพาทเกิดขึ้น ซึ่งผู้ที่ก่อปัญหาขึ้นคือบริษัท นิชดาฯ ร่วมกับบลจ.เอ็มเอ็ฟซี ทั้งนี้ กองทุนฯ จะต้องแก้ไขโดยสั่งการให้บริษัทนิชดาฯ ไม่รับผู้เช่าช่งที่ได้นำไปสู่การฟ้องร้องคดีกันจนเป็นเหตุให้กองทุนฯ ถูกฟ้องโดยบุคคลภายนอกและได้รับความเสียหายเกิดขึ้นได้"นายณกฤชกล่าว

ด้าน นายพิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ในกรณีที่เกิดขึ้นนี้ ตนเองทราบว่าการโอนกรรมสิทธิ์ให้กับกองทุนน่าจะทำเสร็จสิ้นแล้ว และเรื่องที่กล่าวอ้างนั้นตนขอไม่ให้ความเห็นเพิ่มเติม เนื่องจากเรื่องดังกล่าวยังเป็นข้อพิพาทอยุ่ในศาล จึงอยากให้เรื่องดังกล่าวเสร็จสิ้นไปก่อน โดยขณะนี้ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นน่าจะกำลังอยู่ในระหว่างการไกล่เกลี่ยกันอีกด้วย

อนึ่ง กรณีพิพาทที่เกิดขึ้น เนื่องจากในวันที่ 28 มกราคม ทนายความผู้รับมอบอำนาจของบริษัท คำสุขพัฒนา ได้ดำเนินการฟ้องร้องคดีต่อบริษัทนิชดาพร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ร่วมกับ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ นิชดาธานี 2 และ บลจ.เอ็มเอฟซี ทำการฟ้องร้องต่อศาลแพ่งระบุว่า ที่ผ่านมา บริษัทนิชดาฯได้โอนขายที่ดินรวม 58 โฉนดและบ้านพักจำนวน 58 หลังให้แก่กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์นิชดาธานี2 ซึ่ง บลจ.เอ็มเอฟซีเป็นบริษัทจัดการเป็นจำนวนเงินประมาณ 851 ล้านบาท และ ตามโครงการจัดการกองทุนรวมที่ได้ยื่นไว้กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)นั้น กองทุนฯจะต้องจดทะเบียนให้บริษัทนิชดาฯเช่าที่ดินและบ้านพักทั้งหมดกลับไปเพื่อให้บริษัทนิชดาฯไปหาผู้เช่าช่วงต่อ แล้วนำเงินค่าเช่าจัดส่งให้กองทุนรวมเพื่อเป็นเงินรายได้จัดสรรให้ผู้ถือหน่วยลงทุน

ทั้งนี้ บริษัทนิชดาฯ กลับทำการละเมิดเข้าแทรกแซงในทางสัญญาและแย่งลูกค้าผู้เช่ารายประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งมีผู้เช่าคือกลุ่มครอบครัวเจ้าหน้าที่สถานทูตอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านธารดงเฮอริเทจให้ย้ายไปอยู่ที่โครงการเดอะรีเจนท์แอทนิชดาธานีของบริษัทนิชดาฯใกล้โรงเรียนนานาชาติ ISB หมดทั้งหมู่บ้านจำนวน 36 หลัง

นอกจากนี้ กองทุนฯยังมีพฤติกรรมเสนอข้อมูลข่าวสารให้ข่าวผู้สนใจที่จะซื้อหน่วยลงทุนเข้าใจว่า จะมีผู้เช่ารายใหญ่ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สถานทูตประเทศสหรัฐอเมริกาจะย้ายเข้ามาอยู่ในโครงการก่อนหน้าที่จะมีการเซ็นสัญญาเช่าเกิดขึ้นจริง ถือเป็นเรื่องที่ทั้งบริษัทนิชดาฯ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์นี้ และ บลจ.เอ็มเอฟซีร่วมกันละเมิด โดยแย่งลูกค้าผู้เช่าของโจทก์มาไว้ตั้งแต่เดือนมกราคม เป็นเหตุให้โจทก์เสียหายขาดรายได้จากค่าเช่า ซึ่งเดิมบริษัทคำสุขพัฒนามีสัญญาเช่าและคำมั่นว่าจะเช่าจากประเทศสหรัฐอเมริกาถึง 9 ปี รวมทั้งค่าเสียหายในทางการเงิน และ ความเสียหายในด้านชื่อเสียง ความน่าเชื่อถือ ทั้งหมดรวมเป็นเงิน 670 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 15%ต่อปีจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยศาลนัดวันที่ 27 เมษายน ที่จะถึงนี้

ส่วนการฟ้องร้องทางอาญาได้มีการฟ้องบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเอ็มเอฟซี จำกัด(มหาชน) เป็นจำเลยที่ 1 นายพิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการเป็นจำเลยที่ 2 ในความผิดทางอาญาต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ โดยคำฟ้องได้กล่าวว่า จำเลยทั้ง 2 มิได้จัดให้เป็นไปตามโครงการจัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์อย่างเคร่งครัด
กำลังโหลดความคิดเห็น