xs
xsm
sm
md
lg

รมต.คิงพาวเวอร์ ใส่เกียร์ห้ายืนกรานบินไทยต้องย้ายลูกเดียว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"โสภณ ซาเล้ง" โชว์เก๋าย้ำจุดยืนเดิม "การบินไทย" ต้องย้ายตามแผน "ซิงเกิ้ล แอร์พอร์ต" ยันไม่สร้างสุวรรณภูมิ เฟส 2 ชี้ ศก.ซบไม่คุ้มลงทุน ฝันหวานใช้กลไกตลาดจูง 2 สายการบินที่เหลือเดินตามก้นได้

นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ออกมาเปิดเผยกรณีการย้ายสายการบินในประเทศของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มาทำการบินที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยย้ำว่า เป็นส่วนหนึ่งที่จะส่งเสริมศักยภาพให้สุวรรณภูมิเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค และหากสามารถให้ 2 สายการบินที่เหลือมาบินที่สุวรรณภูมิ ก็จะเป็นการใช้สุวรรณภูมิอย่างเต็มที่ และสามารถดึงสายการบินอื่นมาทำการบินที่สุวรรณภูมิได้

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการก่อสร้างสุวรรณภูมิระยะที่ 2 นั้น ขณะนี้ไม่ได้อยู่ในแผนแล้ว เพราะจะเป็นการสร้างภาระมากจนเกินไป ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ โดยจะมีการก่อสร้างเพียงรันเวย์เส้นที่ 3 และอาคารผู้โดยสารในประเทศ ที่มีมูลค่าโครงการประมาณ 1 หมื่นล้านบาท จากที่โครงการขนาดใหญ่นั้นสูงถึง 8 หมื่นล้านบาท และใช้เวลาการก่อสร้างเพียง 3 ปี

รมว.คมนาคม กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. อยู่ระหว่างการปรับแผนโครงการ ซึ่งจะสามารถนำเสนอกระทรวงคมนาคมได้ในเร็วๆ นี้ และจะนำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

นอกจากนี้ ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฏร นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ ได้ตั้งกระทู้ถามนายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม ถึงกรณีการย้ายเที่ยวบินของสายการบินไทยจากสนามบินดอนเมืองไปสุวรรณภูมิในวันที่ 29 มี.ค.ซึ่งเป็นการสนองตอบนโยบายสนามบินเดียว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารจำนวนมากที่ต้องสิ้นเปลืองทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายรวมถึงผลกระทบด้านมลภาวะกับประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ

“เหตุใดกระทรวงคมนาคมจึงไม่ทำตามคำแนะนำขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ(ไอเคโอ) ที่เสนอผลการศึกษาว่าหากใช้นโยบายสองสนามบิน นั้นสนามบินสุวรรณภูมิจะต้องสร้างรันเวย์เพิ่มขึ้นอีกเพียง 1-2 เส้นก็จะเพียงพอ ขณะที่การใช้สนามบินเดียวทำให้ต้องสร้างรันเวย์เพิ่มอีก 3-6 เส้น ต้องเวนคืนที่ดินอีก 9 พันไร่ เหตุใดจึงไม่คำนึงถึงการประหยัดงบประมาณในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจเช่นนี้ และการดำเนินโครงการที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมากนั้นตามรัฐธรรมนูญ ม.57 นั้นกำหนดให้การต้องทำประชาพิจารณ์ จึงอยากถามว่ารัฐบาลจะทำประชาพิจารณ์หรือไม่และทำเมื่อไหร่”นายสามารถ กล่าว

โดย นายโสภณ ลุกขึ้นชี้แจงว่า วันที่ตนรับตำแหน่งนั้นประเทศไทยตกอยู่ในภาวะวิกฤตทั้งการเมืองและเศรษฐกิจโลก รวมถึงวิกฤตทางการบินมีการปิดสนามบิน ทำให้สนามสุวรรณภูมิขาดความน่าเชื่อถือ ขณะเดียวกันการบินไทยก็ประสบวิกฤตสภาพคล่องอย่างที่ไม่เคยเป็นมาในอดีต เมื่อเข้ารับตำแหน่งตนเห็นว่าสายการบินไทยก็คือประเทศไทยจึงไม่ยอมให้ล้มในช่วงที่ตนกำกับดูแล จึงให้ผู้บริหารการบินไทยไปทำเวริ์กช็อปภายใต้นโยบาย 2 เรื่องคือ 1.จะแก้วิกฤตการบินไทยอย่างไร และ2.จะให้สนามบินสุวรรณภูมิเป็นฮับหรือไม่ ซึ่งทางการบินไทยก็เสนอมาว่าจะต้องลดรายจ่ายและสร้างรายได้เพิ่ม ซึ่งการย้ายการบินไทยไปสุวรรณภูมิก็เป็นข้อเสนอมาเพื่อลดรายจ่าย

โดยผู้บริหาร การบินไทยให้เหตุผลว่าการประกอบธุรกิจในสนามบินดอนเมืองมีรายได้เดือนละ 50 ล้านบาท ตกปีละ 600 ล้านบาท ขณะที่มีรายจ่ายปีละกว่า 600 ล้านบาท ซึ่งตนก็ยืนยันว่าตัวเลขระดับนี้ยังไม่มีเหตุผลที่จะต้องย้าย แต่ทางการบินไทยได้อธิบายเพิ่มเติมว่าการมีสนามบิน 2 แห่งที่อยู่ห่างกัน 18 กิโลเมตรนั้นเมื่อเครื่องขึ้นไปภาคอีสานนั้นไม่สามารถเลี้ยวขวาได้ทันที แต่ต้องวนเครื่องอีก 4 นาที เสียค่าน้ำมันคราวละ 3 หมื่นบาท รวมแล้วปีละกว่าร้อยล้ายบาท นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่กัปตันทั่วประเทศรู้ดีว่าการขึ้นลงนั้นไม่เป็นธรรมชาติเพราะมีจุดตัดในอากาศประมาณ 20 จุด ซึ่งจะส่งผลในเรื่องความปลอดภัย ดังนั้นหากต้องการจะให้สนามบินสุวรรณภูมิเป็นฮับนั้นเราต้องดูแลความปลอดภัยด้วย ส่วนผลกระทบในด้านมลภาวะต่อประชาชนนั้นขณะนี้ทางทอท.ได้มีมาตรการแก้ปัญหารองรับไว้สำหรับ 70 เที่ยวบิน แต่ขณะนี้มีเพียง 40 เที่ยวบินเท่านั้น

ส่วนที่มีการถามกันว่าการย้ายไปสุวรรณภูมิต้องทำการขยายเฟสสองและสร้างรันเวย์อีก 5 หมื่นล้านบาทนั้นก็ไม่ต้องสร้างเพิ่มเติมเพราะปัจจุบันสุวรรณภูมิมีเครื่องขึ้นลง 40 เที่ยว สามารถรับได้อีก 70 เที่ยว ดังนั้นสามารถอยู่อีก 10 ปีจึงจะสร้างเฟสสอง ส่วนการสร้างรันเวย์นั้นถึงไม่ย้ายการบินไทยไปก็ต้องสร้างอยู่ดีเพราะจำเป็นต้องปิดรันเวย์หนึ่งช่องเพื่อซ่อมแซม ดังนั้นเมื่อปิดรันเวย์ก็ต้องสร้างรันเวย์ที่3ขึ้นมา ซึ่งก็สามารถรองรับได้อีก 10-20 ปี

นายโสภณ กล่าวว่า ที่การบินไทยอธิบายจนตนต้องยอมคือวันนี้ผู้โดยสารในประเทศที่สุวรรณภูมิมี 4 แสนคน ขณะที่ดอนเมืองมี 1-2 แสนคน แต่ต้องแข่งขันกันสามราย คือการบินไทย นกแอร์ และวัน ทู โก ขณะที่สุวรรณภูมินั้นแอร์เอเชีย ครองตลาดเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นถ้าการบินไทยไม่ย้ายไปสุวรรณภูมิจะสู้แอร์เอเชียไม่ได้ และอัตราการใช้เครื่องการบินไทยที่ดอนเมืองมีความจุเพียง 70 เปอร์เซนต์ต่อเที่ยว แต่ที่สุวรรณภูมิมีความจุต่อเที่ยวถึง 90 เปอร์เซนต์

ทั้งนี้ การย้ายไปสุวรรณภูมิจะทำให้การบินไทยได้ประโยชน์เพราะจะลดรายจ่าย วันนี้เขาเสนอมาในภาวะที่เลือดเขาเกือบทุกหยดจะหมดแล้ว ตนบอกพนักงานต้องลดสิทธิพิเศษทุกอย่าง และยืนยันว่าการย้ายการบินไทยไปสุวรรณภูมิไม่เกี่ยวกับว่ารัฐบาลจะมีนโยบายใช้สนามบินเดียวหรือไม่ เพราะดำริของนายกฯชัดเจนว่าต้องศึกษาข้อมูลโดยละเอียดก่อนจะตัดสินใจเพราะเป็นนโยบายระดับชาติ ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมต้องนำเสนอข้อมูลต่อรัฐบาลต่อไป ถือเป็นคนละเรื่องกัน การย้ายการบินไทยนั้นเป็นไปเพื่อลดค่าใช้จ่ายเท่านั้น ซึ่งจะได้ทั้งการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยและการบินไทย จึงจำเป็นต้องให้เขาย้าย ซึ่งการย้ายวันที่ 29 มี.ค. ไม่ใช่เรื่องแปลกและไม่ใช่นโยบายที่สำคัญแต่อย่างใด

“สาธารณชนให้ความสนใจในเรื่องนี้เพราะเข้าใจว่าจะการย้ายการบินไทยทำให้เป็นการส่งเสริมการขยายเฟสสอง ซึ่งเป็นโครงการเมกกะโปรเจ็ค ทำให้รัฐบาลต้องแบกภาระ ขอยืนยันว่าการขยายเฟสสองนั้นไม่อยู่ในแผนของกระทรวงคมนมคม แต่แผนมีเพียงการสร้างรันเวย์ที่ 3 และการสร้างอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ เท่านั้น ส่วนที่กล่าวหาว่ามีการเอื้อประโยชน์ต่อเอกชนนั้นเรียนว่าไม่มีผู้โดยสารในประเทศที่ไปช็อปปิ้งในดิวตี้ฟรี ผมเข้าใจความรู้สึกของคนที่ห่วงใยดอนเมืองซึ่งกระทรวงจะเสนอต่อรัฐบาลว่าจะมีแผนการฟื้นฟูและใช้ประโยชน์จากดอนเมืองอย่างไรในอนาคต”รมว.คมนาคม กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น