xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯสั่งด่วนถกมาบตาพุดแฉเอาใจอุตฯใหญ่เบื้องหลังยื้อคุมมลพิษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกฯ ยันทำตามคำสั่งศาลพร้อมประกาศให้พื้นที่มาบตาพุด-บ้านฉาง เป็นเขตควบคุมมลพิษ สั่งอุตฯถกเอกชนด่วนห่วงส่งผลต่อความเชื่อมั่นและการลงทุนระยะยาวซ้ำเติมเศรษฐกิจชะลอตัว ผู้บริหาร ปตท. เชื่อไม่กระทบ เผยเบื้องหลังรัฐบาลเอาใจนักลงทุนยื้อประกาศเขตมลพิษจนชาวบ้านตายผ่อนส่ง แฉปตท. ผู้ลงทุนใหญ่หนึ่งในตัวการสำคัญก่อมลพิษ ด้านส.ส.ระยอง วอนขออย่าอุทธรณ์ ส่วนอธิบดีกรมควบคุมมลพิษชี้ต้องยึดระเบียบอุทธรณ์ทุกคดี

นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะรองประธานคณะกรรมการส่งแวดล้อมแห่งชาติ เปิดเผยว่า ได้เสนอเรื่องไปยังนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กรณีที่ศาลปกครอง จ.ระยอง ตัดสินให้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ ตามที่ท้องถิ่นได้ร้องเรียน เมื่อวันที่ 3 มี.ค. ที่ผ่านมา และจะมีการประชุมพิจารณาโดยเร็ว ซึ่งไม่เพียงแต่พื้นที่มาบตาพุดเท่านั้นยังจะรวมถึงภาพรวมปัญหามลพิษในพื้นที่พัฒนาชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกทั้งหมดด้วย

อย่างไรก็ตาม การป้องกันมลพิษในพื้นที่เขตมาบตาพุด ปัจจุบันมีผลดีขึ้นมาก เพราะที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าไปควบคุม โดยใช้งบประมาณไปแล้วกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งมีผลทำให้สารที่ก่อให้เกิดอันตรายและส่งผลต่อสุขภาพ มีสถิติลดลง ทั้งนี้ การประกาศตามคำสั่งศาล จะมีผลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการควบคุมมลพิษในท้องถิ่นด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ยอมรับว่า การแก้ปัญหามลพิษนั้นต้องใช้ระยะเวลา

นายสุวิทย์ ยังกล่าวว่า การอุทธรณ์คดีหรือไม่ ทางคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ยังไม่มีการหารือในเรื่องนี้ ต้องขอรอดูในรายละเอียดคำพิพากษาของศาลอีกครั้ง แต่ได้ทำหนังสือด่วนถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อเร่งกำหนดวันประชุม

ในเวลาต่อมา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแนวทางปฏิบัติของรัฐบาล ภายหลังศาลปกครอง สั่งให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกาศใหพื้นที่เทศบาลมาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษใน 60 วัน ว่า ต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครอง ตนได้คุยกับนายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมแล้ว ได้ให้เอาคำพิพากษามาพิจารณา และจะมีการเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมต่อไป ทั้งนี้จะต้องดูประเด็นผลกระทบที่เกิดขึ้น

***สั่งอุตฯถกเอกชนดูผลกระทบ

นายสรยุทธ เพ็ชรตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) วานนี้ (4 มี.ค.) ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า นายกรัฐมนตรีได้แสดงความเป็นห่วงกรณีที่ศาลปกครอง จ.ระยองมีคำสั่งให้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษจะทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลและอาจกระทบลงทุนระยะยาวได้หากไม่มีความชัดเจนของการปฏิบัติตามคำสั่งศาล ดังนั้น จึงมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม ไปหารือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และภาคเอกชนเพื่อพิจารณาแนวทางดำเนินงานแล้วนำกลับมาหารือในครม.เศรษฐกิจเพื่อให้ทั้งหมดมีความชัดเจนต่อนักลงทุนอีกครั้งซึ่งคาดว่าอาจจะเป็นสัปดาห์หน้า

“ในฐานะกระทรวงอุตสาหกรรมมีความเป็นห่วงว่าจะกระทบกับการลงทุนในระยะยาวได้หากไม่มีความชัดเจนในเรื่องของการปฏิบัติตามกฏหมายจะออกมาอย่างไร เพราะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวหากเข้มงวดไปก็จะไปซ้ำเติมได้แต่หากมีการดูแลที่ดีก็อาจจะเป็นจังหวะดีในการดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชนเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งเร็วๆ นี้คงจะได้นัดหารือกับเอกชนและทุกส่วนเพื่อรวบรวมข้อเสนอไปยังครม.ศก.อีกครั้ง” นายสรยุทธกล่าว

ทั้งนี้ ยอมรับว่าพื้นที่นิคมฯมาบตาพุดค่อนข้างจะถึงจุดอิ่มตัวในการลงทุนซึ่งกรณีของโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้หรือเซาท์ซีบอร์ดก็จะเป็นทางเลือกหนึ่งในระยะยาวเพื่อการลงทุนแต่กรณีของปัญหาในมาบตาพุดคงไม่เกี่ยวข้องว่าจะไปทำให้เซาท์ซีบอร์ดต้องเกิดเร็วขึ้นแต่อย่างใด

***กนอ.เรียกเอกชนถก6มี.ค.

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม รองผู้ว่าการกนอ. (ท่าเรืออุตสาหกรรม) ดูแลนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด กล่าวว่า วันที่ 6 มี.ค. กนอ.จะเชิญผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดมาหารือถึงผลกระทบจากคำสั่งของศาลปกครอง ว่าผู้ประกอบการได้รับผลอย่างไรบ้างรวมไปถึงการปฏิบัติแผนควบคุมมลพิษที่เดิมกนอ.ทำร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะต้องมีการปรับแผนหรือไม่ หากแผนสิ่งแวดล้อมใหม่เข้มงวดอาจกระทบลงทุน

นายรัชดา สิงคาลวณิช อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า คำสั่งของศาลปกครอง จ.ระยอง เป็นเพียงพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมซึ่งกรอ.ดูแลเฉพาะนอกนิคมฯ 100 แห่งเท่านั้น และสมัยของรัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ นั้นได้มีแผนชัดเจนในเรื่องของการลดมลพิษแต่ไม่ได้ประกาศเท่านั้นเอง ซึ่งเท่ากับว่าได้ทำมาล่วงหน้าแล้ว และเมื่อประกาศเป็นเขตควบคุมก็จะทำให้อำนาจดูแลไปอยู่ที่องค์การบริหารส่วนตำบลหรืออบต. ภายใต้การควบคุมของผู้ว่าราชการจังหวัดที่จะต้องทำงานร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งหากเขาทำแผนมาเหมือนเดิมก็คงไม่มีปัญหาแต่ถ้าปรับใหม่ก็จะต้องมาดูใหม่ ส่วนจะกระทบลงทุนหรือไม่หากเข้มงวดกว่าเดิมก็อาจจะกระทบได้

**** ปตท.เชื่อไม่กระทบ

นายปรัชญา ภิญญาวัธน์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การประกาศให้มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ ปตท.ไม่มีความกังวล เชื่อว่าไม่ส่งผลกระทบต่อโครงการลงทุนปิโตรเคมีของปตท.ที่ดำเนินการแล้วและอยู่ระหว่างก่อสร้าง เนื่องจากโครงการเหล่านี้ได้รับการอนุมัติแผนผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) แล้วทั้งสิ้น ยกเว้นโครงการวางท่อฯเส้นที่ 4 จากระยอง-สระบุรี ซึ่งอยู่ระหว่างการขออนุมัติอีไอเอ แต่โครงการเชื่อว่าไม่เข้าข่าย เนื่องจากไม่ปล่อยมลพิษแต่อย่างไร ส่วนโรงแยกก๊าซฯ7 ได้เลื่อนออกไปก่อน

ที่ผ่านมาในช่วง 2 ปีนี้ กรมควบคุมมลพิษ ได้มีความเข้มงวดในเรื่องสิ่งแวดล้อมมาก ทำให้โครงการใหม่ที่จะลงทุนได้ จะต้องมีการลดมลพิษให้ได้ 100% จึงจะลงทุนได้ 80% รวมทั้งต้องมีการทำประชาพิจารณ์ด้วย ซึ่งเกณฑ์มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมของไทยเป็นไปตามหลักสากล ทำให้การอนุมัติให้อีไอเอเข้มงวดมากขึ้น

“โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของปตท.ไม่ว่าจะเป็นโรงแยกก๊าซฯ 6 โครงการเอทิลีนแครกเกอร์ 1 ล้านตัน และโครงการต่อเนื่องกำลังทยอยแล้วเสร็จในปลายปีนี้และกลางปีหน้า ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากการประกาศดังกล่าว แต่ทั้งนี้ก็คงต้องดูความชัดเจนรายละเอียดประกาศอีกครั้งว่าจะมีหลักเกณฑ์ข้อบังคับใหม่เข้ามาเพิ่มเติมหรือไม่ และหากมีจะส่งผลต่อโครงการเดิมที่มีอยู่แล้วหรือไม่”

นายปรัชญา กล่าวต่อไปว่า กลุ่มปตท.มีการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมในช่วงที่ผ่านมาหลายหมื่นล้านบาท หากมีโครงการลงทุนใหม่ในมาบตาพุด คงต้องศึกษาความคุ้มทุน หากพบว่าทำแล้วไม่คุ้มก็คงต้องลงทุนในพื้นที่ใหม่หรือลงทุนในต่างประเทศแทน อีกทั้งพื้นที่มาบตาพุดค่อนข้างเต็ม รองรับการลงทุนใหม่ได้ไม่มาก

***เบื้องหลังเอาใจนักลงทุนยื้อคุมมลพิษ

นางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม ซึ่งศึกษาติดตามสถานการณ์มลพิษในเขตอีสเทิร์นซีบอร์ดมาโดยตลอด เปิดเผยว่า ตามสภาพความเป็นจริงของปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นในมาบตาพุดไม่ควรจะมีการลงทุนหรือขยายเพิ่มอีกแล้ว แต่ในช่วงปี 2548 –2550 กลับมีโครงการต่างๆ ยื่นขออนุมัติรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เพื่อประกอบการยื่นขออนุมัติลงทุน มากถึง 35 โครงการ ซึ่งเป็นการลงทุนตามแผนปิโตรเคมี เฟส 3 ระหว่างปี 2548 – 2553 มีมูลค่ารวมประมาณ 200,000 – 300,000 ล้านบาท โดยเครือปตท.เป็นผู้ลงทุนหลัก ทั้งการลงทุนโดยตรงและร่วมทุนกับรายอื่น

ขณะเดียวกัน รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติโครงการ เช่น กนอ. และบีโอไอ ก็ดึงดันอนุมัติและให้การส่งเสริมทั้งๆ ที่ขัดกับหลักธรรมาธิบาลสิ่งแวดล้อมอย่างยิ่ง ตั้งแต่ต้นปี 2550 เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมรู้ว่าสถานการณ์มลพิษรุนแรงถึงขั้นต้องควบคุมแล้ว และชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ให้พิจารณาประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ แต่กลับไม่ได้รับการตอบสนองจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

นางสาวเพ็ญโฉม กล่าวต่อว่า ช่วงเวลานั้น นายโฆษิต เป็นรองนายกรัฐมนตรีดูแลด้านเศรษฐกิจ และรัฐมนตรีอุตสาหกรรม แล้วยังสวมหมวกเป็นประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติด้วย ซึ่งเป็นบทบาทที่ขัดกัน มีปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน เขาเลือกแนวทางเน้นส่งเสริมการลงทุนมากกว่าจะควบคุม เพราะหากเข้ามาควบคุมมลพิษก็จะกระทบต่อการเข้ามาลงทุนด้วย และในช่วงนั้นเองโครงการต่างๆ ที่ยื่นขออนุมัติอีไอเอต่างทยอยได้รับอนุมัติจนเกือบหมด ทั้งที่ชาวบ้านเคลื่อนไหวคัดค้านอย่างหนัก แต่นายโฆษิต ก็ยื้อและซื้อเวลาโดยให้เหตุผลว่าจะทำแผนแก้ไขมลพิษในพื้นที่ระยอง ระยะเวลา 5 ปี (2550-2554) งบประมาณรวมกว่า 2,000 ล้านบาท

“สถานการณ์มลพิษในมาบตาพุดอยู่ในขั้นเลวร้าย ไม่ใช่แค่ประกาศควบคุม ลด ละ ขจัด เท่านั้น แต่ถึงขั้นที่จะต้องฟื้นฟูโดยเร็วด้วย ถ้าหากการลงทุนมีธรรมาภิบาลด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วยเหมือนดังคำโฆษณา ไม่จำเป็นต้องรอให้ศาลพิพากษา” นางสาวเพ็ญโฉม กล่าว

ก่อนหน้านี้ ในช่วงเดือนก.พ. 2550 ชาวระยองเคลื่อนไหวให้รัฐบาลแก้ไขปัญหามลพิษโดยเร่งด่วน นายโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กระทรวงอุตสาหกรรม ขณะนั้น เคยหารือกับนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ถึงการย้ายโครงการปิโตรเคมี เฟส 3 จากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ไปยังพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ แต่ทาง ปตท. สรุปว่าคงเป็นไปได้ยาก เพราะปตท.ต้องปรับแผนการลงทุนใหม่ เนื่องจากรายละเอียดต่างๆ ได้กำหนดไว้หมดแล้ว

เวลานั้น นายจิตรพงศ์ กว้างสุขสถิตย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติในเครือ ปตท. ระบุว่า ปตท.มีแผนลงทุนปรับปรุงการผลิตของโรงแยกก๊าซธรรมชาติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดการปล่อยมลพิษ คาดว่าต้องใช้เงินลงทุน 10,000 ล้านบาท ไม่รวมโครงการปิโตรเคมี มูลค่าการลงทุนประมาณ 50,000 –60,000 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการแอลเอ็นจีเทอร์มินอล โครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติ แห่งที่ 6

ตามแผนการขยายอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดโดยเฉพาะปิโตรเคมี เฟส 3 ระหว่างปี 2548 – 2553 นั้น จากการเก็บข้อมูลของกลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม ระบุถึงโครงการต่างๆ ที่ยื่นขออนุมัติรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ทั้งที่อยู่ระหว่างการพิจารณาและได้รับอนุมัติ นับแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบัน จำนวน 35 โครงการ

สำหรับโครงการของเครือ ปตท. จำนวน 4 โครงการ คือ โรงแยกก๊าซฯ หน่วยที่ 6, โครงการโพลีโพรพิลีน, โครงการโรงแยกก๊าซอีเทน (การปรับปรุงกระบวนการผลิตโรงแยกก๊าซหน่วยที่ 2 และ 3), โครงการก่อสร้างโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกโพลีเอทิลีนฯ ของบริษัทปตท.เคมิคอล จำกัด ซึ่งทั้ง 4 โครงการ ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

นอกจากนี้ ยังมีรายงานจากการประชุมอนุกรรมการชุดศึกษาความสัมพันธ์ด้านสุขภาพอนามัยกับปริมาณสารมลพิษอากาศ ในระยอง เมื่อเดือนก.พ. 50 รายงานผลการตรวจสุขภาพพนักงาน ลูกจ้างของโรงงาน อุตสาหกรรมในเขตมาบตาพุด จำนวน 31 แห่ง เช่น โรงงานโอเลฟินส์ ในเครือปตท. มีพนักงานเข้ารับการตรวจ 631 ราย เป็นกลุ่มเสี่ยง 427 ราย พบว่า กลุ่มเสี่ยงมีสมรรถภาพปอดผิดปกติ 38 ราย สมรรถนะการได้ยินผิดปกติ 65 ราย พบความผิดปกติของเม็ดเลือดขาวบางชนิด เช่น Neutrophil และ Lymphocyte อยู่ในเกณฑ์ที่ผิดปกติ

***ส.ส.ระยองวอนนายกฯอย่าอุทธรณ์

เมื่อเวลา 14.45 น.ที่รัฐสภา นายสาธิต ปิตุเตชะ พร้อมด้วยนายวิชัย ล้ำสุทธิ นายธารา ปิตุเดชะและนายบัญญัติ เจตนจันทร์ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงกรณีศาลปกครอง มีคำสั่ง ประกาศให้ เทศบาลเมือง มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ ว่า หลังจากศาลมีคำสั่งดังกล่าว พวกเราในฐานะส.ส.ในพื้นที่ มีข้อเรียกร้อง 4 ข้อ ประกอบด้วย

1. เรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้มแห่งชาติ ไม่ควรอุธรณ์คดีนี้ต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อให้มีผลเป็นไปตามตามคำสั่งของศาลปกครองจ.ระยอง

2. เรียกร้องให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้ามาเป็นแม่งาน ในการทำแผนเพื่อควบคุมมลพิษ ในพื้นที่ทั้งหมด ให้อยู่ตามหลักเกณฑ์ ที่เหมาะสม แม้ว่าโรงงานต่างๆ จะปล่อยมลพิษตามที่กฏหมายกำหนด แต่ เพราะความหนาแน่นของโรงงานที่มีจำนวนมาก จึงทำให้ภาวะมลพิษจึงมีจำนานมากตามไปด้วย และเกินกว่าที่จะรับได้ ทั้งนี้เราเห็นด้วยกับการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ต้อง ไม่เดินอยู่บนความเดือดร้อนของชาวบ้าน

3. แผนปฏิบัติการของรัฐบาล ต้องมีภาคประชาชน คนในพื้นที่ เข้ามามีส่วนร่วมโดยตรง และ 4 . ขอให้รัฐบาลทบทวนบทบาทขององค์การนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ว่ามี ศักยภาพในการควบคุมมลพิษ ได้แค่ไหน เพราะที่ผ่านมา ทราบว่า ทางนิคมฯ ไม่เพียงแต่ไม่แก้ปัญหามลพิษ ยังทราบทราบมาว่า นิคมฯมีปัญหาทั้ง ในแง่ของบุคคลากร และโครงสร้างการทำงาน จึงอยากให้นายกฯ มาดูในเรื่องนี้ด้วย

และ 5. ขอเรียกร้องให้รัฐบาลตรวจสอบการจดทะเบียน โรงงานต่างๆ ที่อยู่ในมาบตาพุด ว่า มีการจดทะเบียน ในเขตพื้นที่ท้องถิ่นหรือไม่ เพราะทราบมาว่า โรงงานเกือบทั้งหมด จดทะเบียนที่ กทม.และทำการเสียภาษีท้องที่ให้กับ กทม.แทนที่จะเสียภาษีให้กับจังหวัดที่โรงงานตั้งอยู่

***ปชช.วอนอย่าอุทธรณ์

นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก แกนนำชาวบ้าน ต.มาบตาพุดและใกล้เคียง กล่าวว่า อยากฝากไปยังคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่ไม่ใช่ชุดเก่า เป็นคณะกรรมการชุดใหม่ ที่เพิ่งได้รับเลือกเข้ามา ว่าไม่ควรจะอุทธรณ์ต่ออีก หลังศาลปกครองระยองพิพากษาให้เขตเทศบาลมาบตาพุด รวมพื้นที่อีก 4 ตำบลใน อ.เมือง-บ้านฉาง เป็นพื้นที่ควบคุมมลพิษ เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านเดือดร้อนอย่างหนัก และเตรียมนำเรื่องเสนอต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อให้ช่วยประสานไปทางคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม เพื่อไม่ให้อุทธรณ์ ซึ่งหากไม่มีการอุทธรณ์ ตนเองก็จะมีการประชุมร่วมกับชาวบ้านทั้งหมดที่ได้รับผลกระทบ เพื่อหาข้อสรุปว่าจะหามาตรการที่ดีในการติดตามประเมินผลการทำงานในการควบคุมมลพิษต่อไป

**คพ.ยันยึดตามระเบียบ

นายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สวล.) อยู่ระหว่างสรุปรายงานคำพิพากษาของศาลปกครองระยอง เสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติภายในเดือนนี้ เพราะอำนาจในการตัดสินใจการยื่นอุทธรณ์ต้องมาจากมติที่ประชุมเท่านั้น ทั้งนี้ ยอมรับว่าตามระเบียบราชการ จะต้องมีการยื่นอุทธรณ์ในทุกคดี เพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์ของรัฐ
กำลังโหลดความคิดเห็น