xs
xsm
sm
md
lg

แฉเบื้องหลังรัฐบาลเอาใจกลุ่มทุน ยื้อคุมมลพิษมาบตาพุดฆ่าชาวบ้านตายผ่อนส่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพแสดงอาการเจ็บป่วยจากมลพิษของชาวมาบตาพุดในแคมเปญรณรงค์ของกรีนพีช (ภาพจากกรีนพีช)
ASTVผู้จัดการรายวัน - เปิดเบื้องหลังรัฐบาลเอาใจนักลงทุนขาใหญ่ยื้อประกาศเขตควบคุมมลพิษมาบตาพุดจนชาวบ้านตายผ่อนส่งจากโรคมะเร็งและโรคทางเดินหายใจ แฉปตท. ผู้ลงทุนรายใหญ่หนึ่งในตัวการสำคัญก่อมลพิษ ขณะที่ผู้บริหาร ปตท. โอ่ทุ่มเม็ดเงินหลายหมื่นล้านลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม

ภายหลังศาลปกครอง มีคำพิพากษาให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ประกาศให้พื้นที่มาบตาพุดและบ้านฉางเป็นเขตควบคุมมลพิษเนื่องจากมีหลักฐานแสดงให้เห็นถึงปัญหามลพิษก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม และมีแนวโน้มว่ามลพิษในพื้นที่ดังกล่าวจะสร้างปัญหาอันตรายร้ายแรงยิ่งขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านในพื้นที่ได้ร้องเรียนให้แก้ไข จนกระทั่งต้องฟ้องร้องต่อศาลปกครองและศาลพิพากษาคดีในที่สุดนั้น

นางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม ซึ่งศึกษาติดตามสถานการณ์มลพิษในเขตอีสเทิร์นซีบอร์ดมาโดยตลอด เปิดเผยว่า ตามสภาพความเป็นจริงของปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นในมาบตาพุดไม่ควรจะมีการลงทุนหรือขยายเพิ่มอีกแล้ว
 
แต่ในช่วงปี 2548 –2550 กลับมีโครงการต่างๆ ยื่นขออนุมัติรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เพื่อประกอบการยื่นขออนุมัติลงทุน มากถึง 35 โครงการ ซึ่งเป็นการลงทุนตามแผนปิโตรเคมี เฟส 3 ระหว่างปี 2548 – 2553 มีมูลค่ารวมประมาณ 200,000 – 300,000 ล้านบาท โดยเครือปตท.เป็นผู้ลงทุนหลัก ทั้งการลงทุนโดยตรงและร่วมทุนกับรายอื่น

ขณะเดียวกัน รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติโครงการ เช่น กนอ. และบีโอไอ ก็ดึงดันอนุมัติและให้การส่งเสริมทั้งๆ ที่ขัดกับหลักธรรมาธิบาลสิ่งแวดล้อมอย่างยิ่ง และตั้งแต่ต้นปี 2550 เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมรู้ว่าสถานการณ์มลพิษรุนแรงถึงขั้นต้องควบคุมแล้ว และชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ให้พิจารณาประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ แต่กลับไม่ได้รับการตอบสนองจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

นางสาวเพ็ญโฉม กล่าวต่อว่า ช่วงเวลานั้น นายโฆษิต เป็นรองนายกรัฐมนตรีดูแลด้านเศรษฐกิจ และรัฐมนตรีอุตสาหกรรม แล้วยังสวมหมวกเป็นประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติด้วย ซึ่งเป็นบทบาทที่ขัดกัน มีปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน เขาเลือกแนวทางเน้นส่งเสริมการลงทุนมากกว่าจะควบคุม เพราะหากเข้ามาควบคุมมลพิษก็จะกระทบต่อการเข้ามาลงทุนด้วย

และในช่วงนั้นเองโครงการต่างๆ ที่ยื่นขออนุมัติอีไอเอต่างทยอยได้รับอนุมัติจนเกือบหมด ทั้งที่ชาวบ้านเคลื่อนไหวคัดค้านอย่างหนัก แต่นายโฆษิต ก็ยื้อและซื้อเวลาโดยให้เหตุผลว่าจะทำแผนแก้ไขมลพิษในพื้นที่ระยอง ระยะเวลา 5 ปี (2550-2554) งบประมาณรวมกว่า 2,000 ล้านบาท

“สถานการณ์มลพิษในมาบตาพุดอยู่ในขั้นเลวร้าย ไม่ใช่แค่ประกาศควบคุม ลด ละ ขจัด เท่านั้น แต่ถึงขั้นที่จะต้องฟื้นฟูโดยเร็วด้วย ถ้าหากการลงทุนมีธรรมาภิบาลด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วยเหมือนดังคำโฆษณา ไม่จำเป็นต้องรอให้ศาลพิพากษา” นางสาวเพ็ญโฉม กล่าว

ก่อนหน้านี้ ในช่วงเดือนก.พ. 2550 ชาวระยองเคลื่อนไหวให้รัฐบาลแก้ไขปัญหามลพิษโดยเร่งด่วน นายโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กระทรวงอุตสาหกรรม ขณะนั้น เคยหารือกับนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ถึงการย้ายโครงการปิโตรเคมี เฟส 3 จากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ไปยังพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ แต่ทาง ปตท. สรุปว่าคงเป็นไปได้ยาก เพราะปตท.ต้องปรับแผนการลงทุนใหม่ เนื่องจากรายละเอียดต่างๆ ได้กำหนดไว้หมดแล้ว

เวลานั้น นายจิตรพงศ์ กว้างสุขสถิตย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติในเครือ ปตท. ระบุว่า ปตท.มีแผนลงทุนปรับปรุงการผลิตของโรงแยกก๊าซธรรมชาติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดการปล่อยมลพิษ คาดว่าต้องใช้เงินลงทุน 10,000 ล้านบาท ไม่รวมโครงการปิโตรเคมี มูลค่าการลงทุนประมาณ 50,000 –60,000 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการแอลเอ็นจีเทอร์มินอล โครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติ แห่งที่ 6

ตามแผนการขยายอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดโดยเฉพาะปิโตรเคมี เฟส 3 ระหว่างปี 2548 – 2553 นั้น จากการเก็บข้อมูลของกลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม ระบุถึงโครงการต่างๆ ที่ยื่นขออนุมัติรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ทั้งที่อยู่ระหว่างการพิจารณาและได้รับอนุมัติ นับแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบัน จำนวน 35 โครงการ

สำหรับโครงการของเครือ ปตท. จำนวน 4 โครงการ คือ โรงแยกก๊าซฯ หน่วยที่ 6, โครงการโพลีโพรพิลีน, โครงการโรงแยกก๊าซอีเทน (การปรับปรุงกระบวนการผลิตโรงแยกก๊าซหน่วยที่ 2 และ 3), โครงการก่อสร้างโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกโพลีเอทิลีนฯ ของบริษัทปตท.เคมิคอล จำกัด ซึ่งทั้ง 4 โครงการ ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

นอกจากนี้ ยังมีรายงานจากการประชุมอนุกรรมการชุดศึกษาความสัมพันธ์ด้านสุขภาพอนามัยกับปริมาณสารมลพิษอากาศ ในระยอง เมื่อเดือนก.พ. 50 รายงานผลการตรวจสุขภาพพนักงาน ลูกจ้างของโรงงาน อุตสาหกรรมในเขตมาบตาพุด จำนวน 31 แห่ง เช่น โรงงานโอเลฟินส์ ในเครือปตท. มีพนักงานเข้ารับการตรวจ 631 ราย เป็นกลุ่มเสี่ยง 427 ราย พบว่า กลุ่มเสี่ยงมีสมรรถภาพปอดผิดปกติ 38 ราย สมรรถนะการได้ยินผิดปกติ 65 ราย พบความผิดปกติของเม็ดเลือดขาวบางชนิด เช่น Neutrophil และ Lymphocyte อยู่ในเกณฑ์ที่ผิดปกติ

นายปรัชญา ภิญญาวัธน์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การประกาศให้มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ ปตท.ไม่มีความกังวล เชื่อว่าไม่ส่งผลกระทบต่อโครงการลงทุนปิโตรเคมีของปตท.ที่ดำเนินการแล้วและอยู่ระหว่างก่อสร้าง เนื่องจากโครงการเหล่านี้ได้รับการอนุมัติแผนผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) แล้วทั้งสิ้น ยกเว้นโครงการวางท่อฯเส้นที่ 4 จากระยอง-สระบุรี ซึ่งอยู่ระหว่างการขออนุมัติอีไอเอ แต่โครงการเชื่อว่าไม่เข้าข่าย เนื่องจากไม่ปล่อยมลพิษแต่อย่างไร ส่วนโรงแยกก๊าซฯ7 ได้เลื่อนออกไปก่อน

ที่ผ่านมาในช่วง 2 ปีนี้ กรมควบคุมมลพิษ ได้มีความเข้มงวดในเรื่องสิ่งแวดล้อมมาก ทำให้โครงการใหม่ที่จะลงทุนได้ จะต้องมีการลดมลพิษให้ได้ 100% จึงจะลงทุนได้ 80% รวมทั้งต้องมีการทำประชาพิจารณ์ด้วย ซึ่งเกณฑ์มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมของไทยเป็นไปตามหลักสากล ทำให้การอนุมัติให้อีไอเอเข้มงวดมากขึ้น

“โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของปตท.ไม่ว่าจะเป็นโรงแยกก๊าซฯ 6 โครงการเอทิลีนแครกเกอร์ 1 ล้านตัน และโครงการต่อเนื่องกำลังทยอยแล้วเสร็จในปลายปีนี้และกลางปีหน้า ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากการประกาศดังกล่าว แต่ทั้งนี้ก็คงต้องดูความชัดเจนรายละเอียดประกาศอีกครั้งว่าจะมีหลักเกณฑ์ข้อบังคับใหม่เข้ามาเพิ่มเติมหรือไม่ และหากมีจะส่งผลต่อโครงการเดิมที่มีอยู่แล้วหรือไม่”

นายปรัชญา กล่าวต่อไปว่า กลุ่มปตท.มีการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมในช่วงที่ผ่านมาหลายหมื่นล้านบาท หากมีโครงการลงทุนใหม่ในมาบตาพุด คงต้องศึกษาความคุ้มทุน หากพบว่าทำแล้วไม่คุ้มก็คงต้องลงทุนในพื้นที่ใหม่หรือลงทุนในต่างประเทศแทน อีกทั้งพื้นที่มาบตาพุดค่อนข้างเต็ม รองรับการลงทุนใหม่ได้ไม่มาก
กำลังโหลดความคิดเห็น