xs
xsm
sm
md
lg

กรณ์เบรกลดภาษีรถยนต์ เอกชนสวนไม่รู้ข้อมูลจริง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เดือด! รมว.คลังเบรกกระทรวงอุตสาหกรรมกรณีขอลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์เหลือ 3% ระบุค่ายรถยนต์บางแห่งต่างชาติถือหุ้น 100% รัฐบาลไม่ควรอุ้ม "ชาญชัย" ตะแบงเสนอ ครม.เศรษฐกิจพุธหน้า มามุกเดิมอ้างถ้าไม่ช่วย แรงงานภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ต้องตกงานหลายหมื่นคน นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์โต้ "กรณ์" ยังไม่รู้ข้อมูลลึก ลดภาษีช่วยเพิ่มมูลค่าธุรกิจ คนไทยได้ประโยชน์จากการซื้อรถราคาถูก ดันยอดขายพุ่ง 5 หมื่นคัน!

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังยังไม่ได้มีการหารือรายละเอียดเกี่ยวกับการลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ 3% สำหรับช่วยเหลือผู้ประกอบการนำเข้ารถยนต์ตามข้อเสนอของภาคเอกชน โดยส่วนตัวตั้งข้อสังเกตว่า บริษัทรถยนต์บางรายมีชาวต่างชาติเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด ดังนั้นการให้ความช่วยเหลือจึงต้องพิจารณาให้มีความเหมาะสม เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน และประเทศชาติอย่างแท้จริง

"รัฐบาลเป็นห่วงเรื่องการแก้ปัญหาการถูกเลิกจ้างเป็นหลัก รวมถึงให้ความสำคัญในการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้สามารถช่วยตัวเองได้ ซึ่งเห็นว่ามีหลายวิธีที่รัฐจะให้ความช่วยเหลือ เช่น การใช้งบประมาณในการดูแล และแก้ไขปัญหาการจ้างงานโดยตรง เพราะมองว่าจะได้ผลมากกว่าวิธีอื่น แต่สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการรถยนต์คงต้องพิจารณาว่า จะมีมาตรการช่วยเหลืออย่างไรจึงจะเหมาะสม" นายกรณ์กล่าว

ขณะที่นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รมว.อุตสาหกรรม ยืนยันที่จะเสนอมาตรการช่วยเหลืออุตสาหกรรมรถยนต์ต่อที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจพิจารณาในวันพุธที่ 4 มี.ค.นี้ มาตรการดังกล่าว ประกอบด้วย การขอลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ 3% การหักลดหย่อนภาษีให้ผู้ซื้อรถยนต์ได้ 5 หมื่นบาท ของบประมาณ 1,400 ล้านบาท สำหรับจ่ายช่วยเหลือเงินสมทบให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมรถยนต์ ที่นำแรงงานเข้าโครงการฝึกอบรมและพัฒนาฝีมือแรงงานจำนวน 4,800 บาท/คน/เดือน เป็นเวลา 8 เดือน โดยมีเงื่อนไข ห้ามผู้ประกอบการปลดพนักงานออกจากบริษัท ขณะเดียวกันผู้ประกอบการจะลดราคารถยนต์ลงมาประมาณคันละ 3-5 หมื่นบาท

นายชาญชัยอ้างว่า การเสนอมาตรการครั้งนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อการจ้างงานในอุตสาหกรรมรถยนต์ ที่มีแรงงานประมาณ 1 แสนคน แบ่งเป็นแรงงานในอุตสาหกรรมรถยนต์โดยตรงประมาณ 4 หมื่นคน และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องอีกประมาณ 6-8 หมื่นคน

เอกชนอ้างคนซื้อรถได้ประโยชน์

นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ (TAIA) และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิก เอนจิเนียริง แอนด์ แมนูแฟคเจอริง จำกัด เปิดเผย “ASTV ผู้จัดการายวัน”ว่า ตามความเห็นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่บอกเหตุผลว่ารัฐบาลไม่มีนโยบายที่จะช่วยลดภาษีสรรพสามิตลดยนต์ 3% ซึ่งหลายฝ่ายก็คงเข้าใจและมองอย่างนั้น แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่แค่บริษัทรถยนต์ฝ่ายเดียวได้ประโยชน์ และผู้ประกอบการขอเพียงชั่วคราว 1 ปีเท่านั้น เพื่อเป็นการกระตุ้นยอดขายในสภาวะตกต่ำเช่นนี้

“สิ่งที่เราขอลดภาษีลง 3% ไม่ได้เข้ากระเป๋าบริษัทรถเลย แต่เป็นผู้บริโภคชาวไทยที่ได้เต็มๆ เพราะเราจะปรับราคาลดลงตามจำนวนภาษีอยู่แล้ว ซึ่งผู้ประกอบการคาดว่ามาตรการนี้ จะช่วยกระตุ้นยอดขายเพิ่มได้ประมาณ 5 หมื่นคัน และจะทำให้เกิดมูลค่าทางธุรกิจตามมา ไม่ว่าจะเป็นการผลิต และผู้ประกอบการชิ้นส่วนเอสเอ็มอี ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท การที่ท่านรัฐมนตรีให้ความเห็นมา เชื่อว่าคงยังไม่ได้เห็นรายละเอียดที่เสนอไป ซึ่งทางผู้ประกอบการพร้อมจะเข้าไปอธิบาย ให้เข้าใจถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้น"

นายศุภรัตน์กล่าวว่า เป้าหมายของผู้ประกอบคือ 1.ต้องการให้เกิดกำลังซื้อ 2.เมื่อขายรถได้จะทำให้ไลน์การผลิตเดินได้เพิ่มขึ้น และสุดท้าย 3.ทำให้พนักงานมีงานทำมากขึ้น ทั้งหมดล้วนส่งผลต่ออุตสาหกรรมรถยนต์โดยรวม ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งซื้อจากผู้ประกอบการชิ้นส่วน และความต้องการแรงงานต่อไป ไม่ใช่ได้ประโยชน์แต่เพียงบริษัทรถยนต์ฝ่ายเดียว

“หากรัฐบาลไม่ลดภาษีให้ ผู้ประกอบการก็คงไม่ว่าอะไร เพราะปัจจุบันยอดขายที่ตกลงมาก ทำให้บริษัทรถยนต์ต้องพากันจัดแคมเปญส่งเสริมการขาย ซึ่งให้มากกว่าจำนวนที่ภาษีสรรพสามิตลดลง 3% ด้วยซ้ำ เพียงแต่เรื่องนี้เป็นจิตวิทยา พอผู้บริโภครู้จะมีการลดภาษีรอซื้อรถเลย เหมือนกับช่วงลดภาษีสรรพสามิตให้กับรถยนต์ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20”

นายอดิศักดิ์ โรหิตะศุน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และรองประธานกรรมการบริหารอาวุโส บริษัท เอเชี่ยนฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด สำนักงานใหญ่ของฮอนด้าประจำภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย เปิดเผย “ASTV ผู้จัดการรายวัน” ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแสดงคงยังไม่มีโอกาสได้เห็นข้อมูลที่ผู้ประกอบการเสนอไป เพราะมีเหตุผลมากกว่าเพียงแค่การเป็นบริษัทข้ามชาติเท่านั้น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมยานยนต์ ขณะนี้กำลังการผลิตได้ลดลงไป 24-25% แน่นอนหากไม่มีสิ่งมากระตุ้นตลาด หรือทำให้กำลังการผลิตกลับมา ย่อมส่งผลกระทบต่อภาพรวมทั้งอุตสาหกรรมฯ ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ ซึ่งล้วนมีคนไทยเป็นผู้ถือหุ้น หรือเป็นเจ้าของ ส่งผลต่อการจ้างแรงงาน และกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวม
กำลังโหลดความคิดเห็น