xs
xsm
sm
md
lg

ตามคาดรัฐเมินอุ้มยานยนต์เอกชนชี้ก.พ.ยอดขายวูบ40%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- ตามคาด ครม.เศรษฐกิจ ไม่พิจารณาข้อเสนอลดภาษีสรรพสามิตอุ้มอุตสาหกรรมยานยนต์ หวั่นสร้างหนี้สินเพิ่มขึ้น “มาร์ค”สั่งหน่วยงานราชการปรับแผนซื้อรถยนต์ให้เร็วขึ้น พร้อมมอบแบงก์ชาติ คลัง ประเมินระบบการปล่อยสินเชื่อ เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ ด้านเอกชนชี้เดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ยอดขายวูบแล้ว 40% เหตุคนชะลอการซื้อ รอมาตรการรัฐ หวังซื้อรถราคาถูก จับตาค่ายรถหาทางลดต้นทุน ทั้งลดโฆษณา และปลดคนงาน
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เห็นตรงกันว่า การพิจารณาให้ความช่วยเหลืออุตสาหกรรมยานยนต์ในมาตรการระยะสั้น กรณีลดหย่อนภาษีสรรพสามิตรถยนต์และการให้รัฐบาลค้ำประกันการดาวน์ ไม่ใช่วิธีการที่เหมาะสม เพราะผลการศึกษาพบว่า กรณีลดภาษีสรรพสามิต 3% กับรถยนต์ทุกประเภทนั้นจะลดราคารถได้ประมาณ 1.5 หมื่นบาทต่อคัน แต่ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจึงไม่น่าจะช่วยให้กระตุ้นยอดขายเพิ่มขึ้นได้ตามที่เอกชนเสนอมาจริง และจะเป็นการส่งเสริมรถยนต์ราคาแพงไปด้วย ประกอบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีภาษีสรรพสามิตอยู่ จะร้องเข้ามาขอลดภาษีสรรพสามิตด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาได้
ดังนั้น จึงได้มอบหมายให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงการคลัง ดูสภาพการปล่อยสินเชื่อปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร มีความเหมาะสมมากน้อยแค่ไหน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาตรงจุด พร้อมกับ ขอให้สำนักงบประมาณกับหน่วยงานต่างๆ ไปสำรวจดูความต้องการของรถภาคราชการว่าสามารถปรับแผนตรงนี้ให้มีการสั่งซื้อเร็วขึ้นได้หรือไม่ แต่ต้องเป็นสิ่งที่ราชการต้องการจริงๆ เพื่อช่วยสร้างยอดขายให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์อีกทางหนึ่ง
“รัฐบาลกำลังดูว่ากำลังซื้อมันติดขัดตรงไหน คงไม่กระตุ้นคนที่ไม่มีกำลังซื้อแล้วให้ซื้อเพื่อเป็นหนี้ แต่ถ้ามีกำลังซื้อแล้ว แต่ระบบสินเชื่อไม่ทำงาน ก็ต้องมาดูกัน”นายอภิสิทธิ์กล่าว
นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นกำลังซื้ออุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ด้วยการลดภาษีสรรพสามิต 3% นั้น ที่ประชุมเห็นว่าไม่สมควรดำเนินการในปัจจุบัน เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลชี้ชัดว่าจะสามารถเพิ่มยอดขายได้จริง ส่วนมาตรการการประกันความเสี่ยงเงินดาวน์และข้อมูลเครดิตผู้ค้ำประกัน ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสถาบันการเงินของรัฐพิจารณาผ่อนเงื่อนไขให้สินเชื่อในการซื้อยานยนต์ ซึ่งมอบหมายให้กระทรวงการคลังหารือกับภาคเอกชนในรายละเอียดต่อไป
อย่างไรก็ตาม มาตรการช่วยแก้ไขปัญหาแรงงานและการปรับปรุงผลิตภาพโครงการรถเมล์ 4,000 คันนั้น ได้เห็นชอบแนวทางดังกล่าว ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนร่างทีโออาร์แล้ว
ขณะที่โครงการยกระดับบุคคลากรไทยและการเรียน/อบรมเพิ่มเติม เบื้องต้นให้พิจารณาดำเนินการภายใต้งบประมาณส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้รับการอนุมัติไปแล้ว ได้แก่ งบโครงการเพิ่มผลผลิตหรือ productivity ของกระทรวงอุตสาหกรรม และงบโครงการเพิ่มศักยภาพผู้ว่างงานเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมในชุมชนมูลค่า 6,900 ล้านบาทของกระทรวงแรงงาน
“ที่ประชุมมีแนวคิดเบื้องต้นที่จะให้มีการศึกษาแนวทางการจัดหายานพาหนะใหม่ทดแทนของเดิมที่หมดอายุการใช้งานของหน่วยงานราชการเพื่อเป็นการกระตุ้นการซื้ออีกมาตรการหนึ่ง ส่วนของมาตรการระยะกลางและระยะยาวขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาในรายละเอียดและเสนอครม.เศรษฐกิจพิจารณาในโอกาสต่อไป”นายชาญชัยกล่าว
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุม ครม.เศรษฐกิจวันนี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอมาตรการแก้ปัญหาผลกระทบในอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อให้รัฐบาลช่วยเหลือ 3 แนวทาง คือ มาตรการเร่งด่วนเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนโดยการขอปรับลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ลงอีก 3% มาตรการฝึกอบรมพนักงานและแรงงาน และ มาตรการส่งเสริมศักยภาพผู้ผลิตยานยนต์ ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจและนายกรัฐมนตรี ไม่เห็นด้วยตามข้อเสนอให้ลดภาษีสรรพสามิตเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชน โดยมองว่าข้อมูลที่เสนอมายังไม่เพียงพอ จึงได้มอบหมายให้ภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปจัดทำข้อมูลในภาคสินเชื่อของอุตสาหกรรม ความชัดเจนเกี่ยวกับข้อมูลที่จะช่วยจูงใจให้ประชาชนตัดสินใจซื้อรถยนต์ได้จริง เช่น ลดการวางเงินดาวน์
“หลายฝ่ายในที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ มีความเห็นว่าการที่รัฐบาลจะสนับสนุนภาคเอกชนโดยใช้มาตรการภาษีจะมีความเสี่ยงที่จะสร้างภาระหนี้สินให้กับประชาชนเพิ่มมากขึ้น กระทบต่อประมาณการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล และประชาชนมีกำลังซื้อหรือผ่อนชำระได้มากน้อยแค่ไหน สุดท้ายจะกระทบต่อวินัยการเงินการคลังและเป็นภาระต่อรัฐบาลได้อีก”นายพุทธิพงษ์กล่าว
นายวัลลภ เตียศิริ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวว่า ขณะนี้ทราบตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการว่ายอดขายอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศเดือนก.พ.ลดลงสูงถึง 40% จากยอดม.ค.ที่ยอดขายในประเทศลดลงเฉลี่ย 30% เนื่องจากเดือนก.พ.มีข่าวว่าจะลดภาษีสรรพสามิตที่จะมีผลต่อราคาขายให้ลดลงทำให้ผู้ซื้อมีการชะลอซื้อรถออกไป ดังนั้นคาดว่าในเดือนมี.ค.ยอดขายน่าจะกระเตื้องขึ้น
สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ประกอบกับค่าเงินเยนที่แข็งค่าซึ่งค่ายรถยนต์ส่วนใหญ่ของไทยเป็นญี่ปุ่นถึง 80% จึงมีแนวโน้มว่าผู้ประกอบการคงจะมีการลดราคาขายรถยนต์ในประเทศไม่ง่ายนักเพราะอาจขาดทุนดังนั้นคาดว่าผู้ประกอบการจะใช้วิธีการลดแผนส่งเสริมการขาย เช่น ตัดลดงบโฆษณา เป็นต้น เนื่องจากหากแรงซื้อในประเทศไม่ดีขึ้นแผนส่งเสริมการขายบางอย่างอาจไม่จำเป็น และท้ายสุดแผนที่จะลดต้นทุนอาจหนีไม่พ้นการปลดพนักงาน

ทางด้านนายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ (TAIA) และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิก เอนจิเนียริง แอนด์ แมนูแฟคเจอริง จำกัด เปิดเผยกับ “ ASTV ผู้จัดการรายวัน” ว่าการที่คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจตีกลับ ข้อเสนอให้ความช่วยเหลืออุตสาหกรรมยานยนต์ ตามที่ 4 องค์กรหลักเสนอไป โดยเฉพาะการลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ลง 3% ในส่วนของผู้ประกอบการคงไม่สามารถทำอะไรได้ ซึ่งก็ดีจะได้มีความชัดเจนกับตลาด ผู้บริโภคที่ชะลอการซื้อเพื่อรอดูมาตรการลดภาษีก็จะได้ตัดสินใจเสียที
“อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้ประกอบการเสนอไปไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ซึ่งในต่างประเทศอย่างเวียดนาม อินเดีย หรือเกาหลีใต้ รัฐบาลเขาก็ได้มีการลดภาษีสรรพสามิตให้ชั่วคราวเป็นเวลา 1 ปี เพื่อให้เกิดสภาพคล่องและกระตุ้นตลาดมากขึ้นเช่นเดียวกับไทยที่ไม่สามารถพึ่งส่งออกได้ต้องอาศัยตลาดในประเทศมาช่วยพยุงอุตสาหกรรมรถยนต์ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ 4 สมาคมหลักยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลช่วยเหลือ”
ส่วนการที่รัฐบาลไม่ได้ให้ความช่วยเหลือ เพราะมองว่าอุตสาหกรรมยานยนต์มีเงิน ฉะนั้นต้องสามารถช่วยตัวเองได้ ไม่จำเป็นต้องเข้าไปช่วยหรือดูแลเป็นพิเศษ แบบนี้เป็นการมองเพียงตัวบริษัทรถเท่านั้น แต่ไม่ได้มองภาพรวมทั้งระบบ เนื่องจากในความเป็นจริงอุตสาหกรรมยานยนต์มีซัพพลายเชนเป็นจำนวนมาก การที่ตลาดรถยนต์ตกลงกำลังการผลิตลดลง ย่อมส่งผลกระทบต่อธุรกิจเกี่ยวเนื่องมากมาย ไม่ว่าจะเป็นผู้ชิ้นส่วนทั้งขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก
“แต่เมื่อรัฐบาลยังเห็นว่าไม่จำเป็น ถือว่าผู้ประกอบการได้ทำดีที่สุดแล้ว และจะพยายามช่วยเหลือตัวเองอย่างเต็มความสามารถ อย่างไรก็ตามหากดูสถานการณ์ปัจจุบัน จากเดิมที่เราประเมินตลาดรถยนต์ตลอดทั้งปีนี้อยู่ที่ประมาณ 5.2-5.3 แสนคัน ตอนนี้ได้มีการพูดกันบ้างแล้วว่า อาจจะลดลงมาเหลือ 4.88 แสนคัน จากปีที่ผ่านมาทำได้ 6.2 แสนคัน ซึ่งถือว่าต่ำสุดในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา”
นายศุภรัตน์กล่าวว่า ทั้งนี้จะเห็นยอดขายรถยนต์ในเดือนมกราคมลดลงเกือบ 30% และในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แม้จะยังรวบรวมตัวเลขไม่เสร็จ แต่ที่แน่ๆ ปิกอัพตกลงไม่ต่ำกว่า 40% เพราะตลาดนี้จะมีปัญหาเรื่องการปล่อยสินเชื่อเป็นอย่างมาก ส่วนตลาดรถยนต์นั่งยังไม่ชัดเจน ซึ่งก็คงจะตกลงต่อเนื่องเช่นกัน จากเดือนมกราคมลดลงเกือบ 10%
การที่รัฐบาลจะกลับไปพิจารณาดูเรื่องการปล่อยสินเชื่อ แม้ดูแล้วจะต้องใช้เวลาเพราะเกี่ยวเนื่องกับกฎหมายการเงิน ซึ่งต้องไปแก้ไขกฎหมายหรือหาช่องทางช่วยเหลือ ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีในระดับหนึ่ง ส่วนกรณีการช่วยเหลือแรงงาน ที่รัฐบาลมีมาตรการอยู่แล้วในวงเงิน 6.9 พันล้านบาท จึงไม่จำเป็นต้องเข้ามาช่วยเหลือแรงในงานอุตสากรรมยานยนต์เป็นพิเศษนั้น เรื่องนี้ก็คงต้องเป็นไปตามนั้น แต่จะครอบคลุมหรือไม่คงต้องดูต่อไป
“แต่หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ และไม่มีมาตรการอะไรออกมากระตุ้นตลาดรถยนต์ ภายในไตรมาสแรกของปีนี้น่าเห็นแรงงาน ในอุตสาหกรรมยานยนต์ว่างงานถึงกว่า 4 หมื่นคน และขณะนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีก็เริ่มปลดคนงานบ้างแล้ว เพราะปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์ ได้มีการปรับลดกำลังการผลิตลง 25-30%”นายศุกภรัตน์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น