นายกฯ ยอมรับ ศก.ไทยปีนี้ หนักกว่าที่คาดไว้ "โอฬาร" ชี้ ศก.ปี 52 เลวร้ายที่สุด คาดติดลบ 4% ว่างงานพุ่ง 1.5 ล้านคน พร้อมจี้ รัฐบาล ต้องตอบโจทย์การใช้เงิน 2 พัน ควรซื้อสินค้ากลุ่มใดบ้าง
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์” ถึงปัญหาเศรษฐกิจที่ถดถอย โดยยอมรับว่า ประเทศไทยคงต้องประสบกับปัญหาที่ค่อนข้างหนักหนาสาหัส เพราะเศรษฐกิจโลกได้หดตัวอย่างรุนแรง ส่งผลให้การส่งออก ที่มีการรายงานในช่วงเดือนมกราคม 2552 ติดลบร้อยละ 26-27 ถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนี้ใกล้เคียงหรือต่ำกว่าอีกหลายๆ ประเทศเผชิญอยู่ ดังนั้น รัฐบาลคงต้องทำงานหนักยิ่งขึ้น แต่ก็ยังตั้งเป้าหมายที่จะรักษากำลังซื้อ เพื่อหยุดยั้งภาวะการหดตัวของเศรษฐกิจให้ได้ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 2 คงต้องหดตัวลดลงอีก ส่วนไตรมาส 3 และ 4 จะพยายามฟื้นกลับคืนมาสู่เสถียรภาพ โดยรัฐบาลจะพยายามทำทุกวิธีทาง เพื่อให้เศรษฐกิจตลอดทั้งปีอยู่ในแดนบวกให้ได้
นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลยังได้ขยายโควตาการรับจำนำข้าวโพดและมันสำปะหลัง ส่วนปัญหาหนี้สินเกษตรกรนั้น ก็จะมีการโอนหนี้ดังกล่าวเข้ามาสู่กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรด้วย
นายโอฬาร ไชยประวัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังงานปาฐกถาพิเศษ “ฝ่าวิกฤติ 2552 หาทางออกให้กับเศรษฐกิจไทย” ว่าหากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ติดลบร้อยละ 4 ประเทศไทย จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจที่เลวร้าย เพราะจะทำให้คนตกงานถึง 1,500,000 คน ซึ่งเชื่อว่าประเทศไทยน่าจะไปถึงจุดนั้น
นายโอฬาร ระบุว่า ภาคการส่งออกปีนี้น่าจะอยู่ระหว่างติดลบร้อยละ15 - 26 ภาคการท่องเที่ยวลดลงร้อยละ 20 ซึ่งเมื่อดูตัวเลขในเดือน ม.ค.ที่ออกมา หลายประเทศได้รับผลกระทบเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น
อดีตรองนายกรัฐมนตรี แนะให้รัฐบาลควรวางเป้าหมายการให้ความช่วยเหลือที่ชัดเจน และตรงจุดผู้ที่ได้รับผลกระทบจริงๆ ซึ่งประกอบด้วย เจ้าของกิจการและคนงาน ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและยานยนต์ เพราะขณะนี้ไม่มีคำสั่งซื้อเข้ามา และธุรกิจท่องเที่ยว ควรหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้ทุเลา เพราะกำลังส่งผลต่อเนื่องไปยังปัญหาการตกงาน
สำหรับมาตรการของรัฐบาลที่ออกมา อาทิ การให้เงิน 2,000 บาท ให้กับผู้มีเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท แม้ไม่ได้ช่วยเหลือคนตกงานที่มีผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ แต่การให้เงินก็ควรตอบโจทย์การช่วยเหลือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบด้วย ซึ่งรัฐบาลควรบอกว่าจะต้องนำไปซื้อสินค้าประเภทไหน เช่น ควรนำไปซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือนำไปท่องเที่ยว เช่าที่พัก โรงแรม เป็นต้น เพราะปัญหาเศรษฐกิจในตอนนี้เป็นปัญหาใหญ่ และมีผลกระทบในหลายจุด การโยนเงินเข้าไปอย่างเดียวโดยไม่ดูเป้าหมาย และรายละเอียด ใช้เงินอย่างไม่มีประสิทธิภาพ เงินเท่าไหร่ก็คงไม่พอ และเมื่อเงินหมด มาตรการอื่นๆ ที่ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจริงๆ ก็ไม่สามารถทำได้
นอกจากนี้ ต้องสร้างกำลังซื้อในประเทศเพื่อทดแทนตลาดต่างประเทศที่ขาดหายไป ซึ่งกิจการใดที่มีเงินพอแล้ว ก็ควรลดราคาเพื่อช่วยกระตุ้นการซื้อ กระตุ้นเศรษฐกิจ ดีกว่าขายสินค้าในราคาเต็ม แต่ขายไม่ได้เพราะราคาสูงไม่มีคนซื้อ รวมทั้งรัฐบาลควรมีมาตรการระยะกลาง พัฒนาสินค้าเกษตร เพื่อใช้เป็นอาหารและพลังงานทดแทน และควรพัฒนาเป็นรายจังหวัด
ส่วนความร่วมมือในภูมิภาคเอเชีย จะต้องมีทั้งด้านการเงินและการค้า การไม่ใช้นโยบายกีดกันทางการค้า ซึ่งคงมีการหารือกันในที่ประชุมอาเซียนซัมมิท รวมถึงการระดมทุนเข้ากองทุนในภูมิภาคเอเชียช่วยเหลือประเทศที่ประสบปัญหาหนักจากวิกฤตเศรษฐกิจ