xs
xsm
sm
md
lg

ส่งออกม.ค.ติดลบ26.5%แบงก์ชาติผวาจีดีพีดิ่งเหว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ส่งออกเดือน ม.ค.ติดลบ 26.5% สูงสุดตั้งแต่เคยเก็บสถิติส่งออก ตัวเลขแดงเถือกทั้งกระดาน ทั้งตัวสินค้าและตลาด ปลัดฯสั่งประชุมทูตพาณิชย์ 25-26 ก.พ.นี้ ประเมินตัวเลขส่งออกบนสถานการณ์ปัจจุบันอีกครั้ง หลัง IMF ประเมินเศรษฐกิจโลกโตเล็กน้อย การค้าโลกติดลบ พูดไม่ชัดเป้าทั้งปี 0-3% ยังทำได้หรือไม่ผู้ว่าแบงก์ชาติเผยเศรษฐกิจไทยปี 52 ขั้นต่ำมีโอกาสติดลบ เหตุเศรษฐกิจโลกมีการปรับตัวเลขตลอดเวลา ระบุเศรษฐกิจไทยในช่วง 2-3 ปีข้างหน้ายังไม่ฟื้นตัว เล็งปรับจีดีพีและเครื่องชี้เศรษฐกิจปี 52 ใหม่ในวันที่ 25 ก.พ.นี้ ชี้ยังคงลดดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง ขณะที่นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนดูแลให้เกาะกลุ่มภูมิภาค ชี้ไม่ควรนำทุนสำรองมาใช้แทนการกู้เงินนอก เหตุเศรษฐกิจไทยยังผันผวนและห่วงดูแลเงินบาท

นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกสินค้าไทยในเดือนม.ค.2552 มีมูลค่า 10,496 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 26.5% ซึ่งเป็นการส่งออกที่ลดลงเหมือนกับประเทศอื่นๆ ในโลก เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง และการค้าโลกก็ชะลอตัวลง จากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ทั้งนี้ การส่งออกเดือนม.ค.ที่ลดลงดังกล่าว เป็นการลดลงสูงสุดตั้งแต่ไทยเคยมีการเก็บสถิติการส่งออกมา

“การส่งออกที่ลดลง ไม่ใช่แค่ไทยประเทศเดียว แต่หลายๆ ประเทศในโลกก็ส่งออกลดลง ไม่ว่าจะเป็นจีนที่ส่งออกลดลง 17.4% ญี่ปุ่น ลดลง 46.1% สิงคโปร์ ลดลง 37.8% เวียดนาม ลดลง 24.2% และไต้หวัน ลดลง 40% และประเทศเหล่านี้ ยังนำเข้าลดลงด้วย โดยจีนลดลง 43.1% ญี่ปุ่นลดลง 25.5% สิงคโปร์ ลดลง 33.3% เวียดนามลดลง 44.8% ซึ่งหลายๆ ประเทศเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย ทำให้ส่งออกไทยกระทบไปด้วย”นายศิริพลกล่าว

สำหรับการนำเข้าในเดือนม.ค. มีมูลค่า 9,119 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 37.6% ทำให้ในเดือนนี้ไทยเกินดุลการค้า 1,337 ล้านเหรียญสหรัฐ

นายศิริพลกล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกสินค้าไทยในช่วงครึ่งปีแรก จะยังไม่ดี แต่เชื่อว่าครึ่งปีหลังจะกลับมาส่งออกได้ดีขึ้น เพราะแนวโน้มเศรษฐกิจโลก การค้าโลก น่าจะเริ่มกลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่วนเป้าหมายทั้งปีที่ตั้งไว้ว่าจะขยายตัว 0-3% มูลค่า 177,841-183,177 ล้านเหรียญสหรัฐ จะทำได้หรือไม่นั้น จะมีการประเมินผลร่วมกับทูตพาณิชย์ในวันที่ 25-26 ก.พ.นี้ โดยดูสภาพตลาด แนวโน้ม และความน่าจะเป็นอีกครั้ง ถึงจะยืนยันได้

“ตอนประกาศเป้าหมายครั้งแรก IMF คาดการเศรษฐกิจโลกยังขยายตัวได้ดี การส่งออกโลกยังเป็นบวกมาก แต่ตอนนี้คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวเพียง 0.5% การค้าโลกขยายตัวติดลบ 2.8% ทั้งประเทศพัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนา จึงต้องมีการประเมินสถานการณ์ใหม่อีกครั้ง ถึงจะบอกได้ว่าจะทำได้ตามเป้า 0-3% หรือไม่”นายศิริพลกล่าว

นายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กล่าวว่า การส่งออกในเดือนม.ค.เป็นไปตามที่คาดไว้ว่าจะติดลบ ทั้งในแง่ตัวสินค้า และตลาด แต่ก็ยังมีสินค้าหลายๆ รายการที่ยังส่งออกได้ดีขึ้น เช่น ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป เพิ่มขึ้น 13.6% อาหารอื่นๆ เพิ่มขึ้น 7% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสินค้าอาหารยังเป็นจุดแข็งของไทย ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่ส่งออกลดลง ยกเว้น อัญมณี ผลิตภัณฑ์เภสัชและเครื่องมือแพทย์ ที่ส่งออกได้เพิ่มขึ้น 37.4% และ 7% ตามลำดับ

การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร โดยรวมลดลง 25.6% เช่น ข้าว ปริมาณและมูลค่าลดลง 41.9% และ 23.7% ยางพารา ปริมาณและมูลค่าลดลง 21% และ 51.3% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ปริมาณและมูลค่าลดลง 57.4% และ 56.8% น้ำตาล ปริมาณและมูลค่าลดลง 25.8% และ 20.1% อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ปริมาณและมูลค่าลดลง 21.6% และ 13.4% กุ้งแช่แข็งและแปรรูป ปริมาณและมูลค่าลดลง 4.6% และ 0.1% ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ปริมาณและมูลค่าลดลง 26% และ 19.1%

ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม ส่งออกโดยรวมลดลง 34.6% สินค้าที่ส่งออกลดลงมากกว่า 20% เช่น เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์และส่วนประกอบ เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก เฟอร์นิเจอรื และเลนส์ สินค้าที่ส่งออกลดลงระหว่าง 10-20% เช่น สิ่งทอ วัสดุก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์ยาง สิ่งพิมพ์ เครื่องเดินทางและเครื่องหนัง เครื่องใช้เครื่องประดับตกแต่ง นาฬิกาและส่วนประกอบ เครื่องกีฬาและเครื่องเล่นเกมส์ และของเล่น สินค้าอื่นๆ ลดลง 34.6% เช่น น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ น้ำมันดิบและเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ลดลง 49%,21.2%,37.6% และ 20.5% ตามลำดับ

สำหรับตลาดส่งออก ลดลงต่อเนื่องจากปลายปี 2551 ทั้งตลาดหลักและตลาดใหม่ โดยตลาดหลักลดลง 28.2% ได้แก่ อาเซียน สหภาพยุโรป สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ลดลง 34.8%,28.4%,27.7% และ 18.8% ตามลำดับ ตลาดใหม่ ลดลง 24.7% เช่น ไต้หวัน ลดลง 53% ลาตินอเมริกา ลดลง 41.2% จีน ลดลง 40.1% อินโดจีน ลดลง 38% ฮ่องกง ลดลง 31.6% อินเดีย ลดลง 29.8% เกาหลีใต้ ลดลง 25.9% ยุโรปตะวันออก ลดลง 25.3% แอฟริกา ลดลง 25.1% ออสเตรเลีย ลดลง 13.5% และแคนาดา ลดลง 15.3%

นายราเชนทร์กล่าวว่า กรมฯ จะยังคงเดินหน้าผลักดันการส่งออกสินค้าไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการบุกเจาะตลาดใหม่ เพราะเป็นตลาดที่มีโอกาสสำหรับการส่งออกสินค้าไทย โดยในเดือนม.ค.นี้ สัดส่วนการส่งออกไปตลาดใหม่ได้เพิ่มขึ้นมาเป็น 50.5% ตลาดหลัก 49.5% ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ในการลดการพึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดหลัก และหันมาบุกเจาะตลาดใหม่ให้เพิ่มมากขึ้น

“ขณะนี้กำลังจัดทำแผนบุกเจาะตลาดใหม่ 14 ประเทศ ได้แก่ จีน อาเซียน CLMV อินเดีย บังคลาเทศ และปากีสถาน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ แอฟริกา รัสเซีย CIS ยุโรปตะวันออก สหภาพยุโรป ตะวันออกกลาง สหรัฐฯ ลาตินอเมริกาและอเมริกาใต้ ทั้งนี้ กรมฯ มีโครงการที่จะบุกเจาะตลาดใหม่รวมทั้งสิ้น 692 รายการ และได้ดำเนินการไปแล้วประมาณ 38%”นายราเชนทร์กล่าว

ส.อ.ท.มองส่งออกQ1ติดลบ20%

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาพรวมการส่งออกม.ค.ติดลบมากกว่า 26% นั้นเนื่องจากคำสั่งซื้อลดลงไปมากจากวิกฤติเศรษฐกิจของคู่ค้าหลักๆ ทั้งสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น ดังนั้นคาดว่าไตรมาสแรกการส่งออกของไทยภาพรวมน่าจะยังคงติดลบ 20% แม้ว่าขณะนี้คำสั่งซื้อ(ออร์เดอร์)จะกลับมาบ้างแล้วแต่ยังค่อนข้างน้อยโดยคาดว่าไตรมาส 2-3 ออร์เดอร์จากต่างประเทศจะกลับมามากขึ้นเพราะหลายอุตสาหกรรมพบว่ามีสต็อกเก่าที่ปรับลดลง

“ช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมาออร์เดอร์หายไปเลย ประกอบกับช่วงเดือนม.ค.-ก.พ.52ถือว่ามีวันหยุดหลายวัน คาดว่าในช่วงไตรมาส2และ3 ภาคส่งออกน่าจะปรับตัวดีขึ้น เพราะสต็อกเก่าจากต่างประเทศก็น่าปรับลดน้อยลงดังนั้นเชื่อว่าต่างประเทศน่าจะหันมาสั่งออร์เดอร์จากไทย”นายสันติกล่าว

มองโลกแง่ดีศก.ทั้งปีมีโอกาสลุ้นโต1-2%

อย่างไรก็ตามแม้ภาคส่งออกของไทยจะติดลบในเดือนม.ค.ค่อนข้างมากแต่ก็ยังเชื่อมั่นว่าการเติบโตของเศรษฐกิจไทยโดยรวมปีนี้มีโอกาสจะเติบโตได้ในระดับ 1-2% เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกไปเริ่มมีผลระดับหนึ่งประกอบกับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศน่าเริ่มกลับมาช่วงไตรมาส 2 -3 และที่สำคัญไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนหรืออาเซียนซัมมิทปลายก.พ.นี้จะมีส่วนในการกระตุ้นการลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น

“การจัดทำกรอบงบประมาณปี 2553 ขาดดุล 3.9 แสนล้านบาทนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องเพื่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนให้เงินหมุนเวียนทั้งระบบซึ่งแนวทางขาดดุลงบประมาณก็สอดคล้องกับการแก้วิกฤติเศรษฐกิจของรัฐบาลญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาหรือแม้แต่จีน”นายสันติกล่าว

ห่วงมีธุรกิจนอกระบบตั้งโต๊ะรับซื้อลดเช็ค

อย่างไรก็ตามกรณีมาตรการกระตุ้นแรงซื้อของผู้มีรายได้ต่ำที่จ่ายเงิน 2,000 บาทเป็นเช็คเงินสดนั้นถือเป็นนโยบายที่ดีแต่ก็ยังมีข้อกังวลที่รัฐบาลจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดคืออาจมีการตั้งโต๊ะรับซื้อเช็ค ซึ่งเป็นการทำธุรกิจนอกระบบ เพื่อให้ได้กำไรจากส่วนต่าง โดยจะซื้อต่ำกว่าที่ระบุไว้ในเช็ค รวมถึงการนำเช็คไปซื้อสินค้าตาม ร้านค้า หากซื้อแล้วต้องทอนเงิน เชื่อว่าอาจมีการทอนเงินไม่เต็มจำนวน โดยอ้างว่าต้องสำรองเงินสดไปก่อนก็เป็นไปได้หากไม่มีการดูแลที่ใกล้ชิด

“ณรงค์ชัย”ชี้เหตุส่งออกติดลบ

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยในงานปาฐกถา “ฝ่าวิกฤตการค้า กับการเยียวยาของภาครัฐ” ว่า การส่งออกสินค้าไทยปี 2552 มีแนวโน้มขยายตัวติดลบ ซึ่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลทำออกมา ไม่สามารถเยียวยาได้ทั้งหมด เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกรุนแรงและกระทบต่อประเทศคู่ค้าหลักของไทย ทำให้ไทยเสียรายได้ในส่วนนี้ไป โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ ที่ได้รับความเสียหายจากวิกฤตเศรษฐกิจ รองลงมา คือ สหภาพยุโรป และเอเชีย

“การส่งออกปีนี้ค่อนข้างติดลบแน่ แต่ก็เป็นปัญหาของทุกประเทศ ไม่ใช่ไทยเพียงประเทศเดียว และคงหลีกเลี่ยงผลกระทบได้ยาก เพราะแม้ไทยจะหันไปส่งออกตลาดอื่น หรือตลาดทางอ้อมนั้น ตลาดเหล่านี้ก็เป็นฐานการผลิตให้กับตลาดหลัก เท่ากับไทยจะเสียหาย 2 ใน 3 ของรายได้ส่งออก” นายณรงค์ชัยกล่าว

นายณรงค์ชัยกล่าวว่า แม้ทุกประเทศจะรอคอยความหวังจากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ แต่ยังต้องติดตามการออกกฎหมายบายอเมริกัน (Buy American) เพราะหากสหรัฐฯ ใช้กฎหมายดังกล่าว โดยรณรงค์ให้คนอเมริกันใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศ จะยิ่งกลายเป็นปรากฎการณ์กีดกันทางการค้า ที่ประเทศทั่วโลกต่างจะออกมาตรการในลักษณะเช่นเดียวกันนี้ออกมา เพื่อตอบโต้สหรัฐฯ และอาจส่งผลต่อการพลิกฟื้นทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะพลิกฟื้นในปี 2553 ให้ช้าลง

“รัฐบาลจำเป็นต้องออกมาตรการช่วยเหลือภาคการส่งออก ซึ่งมองว่ารัฐบาลควรผลักดันสถาบันการเงินนำเงินส่วนเกินในระบบที่มี 1.4 ล้านล้านบาท มาใช้ 10% เพื่อช่วยเหลือในเรื่องสภาพคล่อง ซึ่งจะเพียงพอไม่ต้องหางบประมาณมาเพิ่มเติม เพียงแต่ปัญหาขณะนี้ คือ ทุกคนกลัวการออกสินเชื่อกันไปหมด” นายณรงค์ชัย กล่าว

แบงก์ชาติทุบจีดีพีมีโอกาสติดลบ

เมื่อวานนี้ (19ก.พ.) ในเวลา 14.15 น. สมาคมนิสิตเก่า สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดงานสัมมนาเรื่อง “วิกฤตเศรษฐกิจโลกกับทางออกของคนไทย” โดยนางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย”ว่า ขณะนี้ข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งทุกอย่างสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งสิ้น ทำให้การคาดการณ์เศรษฐกิจยังไม่นิ่ง แม้ธปท.ได้ประเมินไว้ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 52 จะขยายตัวประมาณ 0-2% ซึ่งค่ากลางประมาณ 1% ก็ยังไม่มีความมั่นใจได้ และกรณีขั้นต่ำมีโอกาสเศรษฐกิจไทยจะติดลบได้ เพราะขณะนี้สิ่งที่เกิดขึ้นในโลกมีการปรับตัวเลขตลอดเวลา

“เศรษฐกิจไทยไม่เคยเจอมาก่อนที่ข้อมูลเปลี่ยนแปลงรวดเร็วขนาดนี้ จึงไม่มีใครกล้าฟันธงได้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้เมื่อใด ซึ่งในช่วง 2-3 ปีข้างหน้ายังคงมีความไม่แน่นอนสูง โดยธปท.มองว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวไม่เร็วนัก เพราะผลพวงที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจค่อนข้างเยอะ แต่ไม่ถึงขั้นวิกฤตปี 40 ที่ใช้เวลาฟื้นตัวถึง 43 เดือน แต่ก็คงใช้เวลาฟื้นตัวมากกว่า 16 เดือน ในช่วงวิกฤตสินเชื่อและสถาบันการเงิน(Saving and Loan) ในปี 23-24 อย่างไรก็ตามขณะนี้บ้านเราทุกอย่างยังดีกว่าเยอะ แม้ปัญหามากพอสมควร แต่ยังยิ้มสู้ต่อไปได้จากการที่ได้คุยกับหลายหน่วยงาน ถือเป็นเรื่องที่ดี”

ทั้งนี้ ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ประกาศตัวเลขส่งออกไทยติดลบ 26.47%ซึ่งถือว่าติดลบในสัดส่วนที่เยอะ ซึ่งการส่งออกไปเริ่มลดช้ากว่าประเทศอื่นในภูมิภาค แต่เป็นไปตามทิศทางเดียวกับภูมิภาค ทำให้ธปท.จะนำข้อมูลทั้งด้านบวกที่เกิดจากราคาน้ำมันและเงินเฟ้อที่ลดต่อเนื่อง รวมถึงด้านลบมาประเมินใหม่ ดังนั้น คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)จะพิจารณาตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ในวันที่ 25 ก.พ.นี้ และจะปรับประมาณการณ์อย่างเป็นทางการวันที่ 22 เม.ย.นี้ในรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อฉบับเดือนเม.ย.52

เล็งลดดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง

ขณะที่การดำเนินนโยบายการเงินต่อไปยังสามารถผ่อนคลายได้อีกด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้อีก รวมถึงนโยบายการคลังด้วย ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่าธนาคารพาณิชย์หันมาฝากเงินกับธปท. ถือเป็นการหาดอกผลด้านนี้แทนการปล่อยกู้ แม้ต่อไปความต้องการสินเชื่ออาจน้อยลง เพราะภาวะเศรษฐกิจซบเซา ทำให้การลงทุนใหม่อาจเกิดขึ้นได้ยาก ประกอบกับ หลังจากช่วงกลางปี 51 เงินเฟ้อสูง ทำให้ต้นทุนแพงขึ้นส่งผลให้ภาคธุรกิจยังต้องการเงินทุนหมุนเวียนในบริษัทมากขึ้น ซึ่งภาพเหล่านี้อาจไม่เห็นนัก เพราะเงินเฟ้อลดลงมากแล้ว อย่างไรก็ตาม ธปท.เชื่อว่าสุดท้ายหากเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติ ธนาคารพาณิชย์ในระบบจะสามารถปล่อยกู้ได้ทุกเมื่อ

ยอมรับหนี้เสียมีแนวโน้มสูง

สำหรับหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ในเดือนม.ค.สูงขึ้นและแนวโน้มมีเพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่าธนาคารพาณิชย์จะระมัดระวังเรื่องนี้เป็นอย่างดี ขณะที่การขยายตัวสินเชื่อทั้งปี 51 อยู่ที่ระดับ 11.4% แต่ล่าสุดในเดือนม.ค.52 สินเชื่อขยายตัวลดลงเหลือ 9% ซึ่งสัญญาณในทิศทางเดียวกันกับเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับ เนื่องจากธนาคารพาณิชย์กังวลความเสี่ยงลูกค้า จึงเกร็งไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าสุดท้ายแล้วแม้ธปท.ขอความร่วมมือได้ แต่ไม่เกิดผล จึงควรแก้ปัญหาด้านชำระหนี้ด้วยการค้ำประกันอย่างที่รัฐบาลดำเนินการดีกว่า จึงเชื่อว่ามาตรการนี้จะช่วยให้เม็ดเงินเข้าสู่กลุ่มธุรกิจขนาดย่อมและกลาง(เอสเอ็มอี)ถึง 60,000-100,000 ล้านบาท

ชี้ไม่ควรใช้ทุนสำรองแทนกู้เงินนอก

ส่วนกรณีที่เสนอให้นำทุนสำรองระหว่างประเทศมาช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจแทนการกู้เงินตราจากต่างประเทศนั้น ผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า แม้เรื่องนี้จะมีการพูดคุยกันเยอะว่าในช่วงภาวะเศรษฐกิจดีควรนำเงินส่วนนี้มาบริหารจัดการให้เกิดดอกผลเยอะ แต่ในขณะนี้เมื่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างผันผวน ซึ่งสามารถนำเงินส่วนนี้ไปดูแลค่าเงินได้ ซึ่งเป็นการสร้างความอุ่นใจในแง่จิตวิทยาได้ และที่ผ่านมาในหลายประเทศที่ดำเนินการเช่นนี้อย่างดูไบ สิงคโปร์ และจีน ซึ่งเจ็บตัวพอสมควร ทำให้เห็นประสบการณ์ที่ไม่ดีดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น