xs
xsm
sm
md
lg

บิ๊ก ตลท.แนะแบงก์ชาติผ่อนกฎเหล็ก ผ่าทางตันสินเชื่อชะงัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปกรณ์ แนะ ธปท.คลายกฎแบงก์ปล่อยกู้ แบงเกอร์ ยอมรับ สินเชื่อบ้านชะงัก ธนาคารดูเจาะลึกไปถึงฐานอาชีพคนกู้ ลูกค้าไม่ผ่านการอนุมัติเพิ่ม 20-30% หลังรายได้ประจำหด กำหนดเกณฑ์เงินเดือนขั้นต่ำเพิ่มเป็น 1.2-1.5 หมื่นบาท/เดือน พร้อมดูภาระหนี้ของลูกค้าแต่ละรายเข้มงวดขึ้น โดยลูกค้าต้องมีรายได้เหลือใช้จ่ายแต่ละเดือน 8,000 บาท จากเดิมที่กำหนดไว้แค่ 7,000 บาท พร้อมระบุ กลุ่มลูกค้าที่ซื้อคอนโดฯ ราคา 9 แสนบาท ถึง 1 ล้านบาท ถูกปฏิเสธมากสุด

นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวถึงแนวทางการแก้ปัญหาธนาคารไม่สามารถปล่อยสินเชื่อสู่ระบบได้ โดยแนะให้ผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พิจารณาผ่อนคลายกฎเกณฑ์ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องสถานะของธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากการตั้งกันสำรองมีความแข็งแกร่งสูงกว่ามาตรฐานขั้นต่ำที่ ธปท.กำหนดไว้เกือบเท่าตัว

“ผมอยากให้ ธปท.ทำตัวเป็นพระเอกต่อ เปลี่ยนบทบาทจากการเข้มงวดเป็นการผ่อนคลายในช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์สามารถปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น ไม่ต้องห่วงเรื่องกันสำรองเอ็นพีแอล จนมากเกินไป เพราะธนาคารพาณิชย์ของไทยเคยประสบปัญหาเรื่องนี้มาพอสมควรเมื่อ 10 ปีก่อน คิดว่าเขารู้ปัญหา สามารถดูแลตัวเองได้”

ประธานบอร์ด ตลท.กล่าวเสริมว่า ธนาคารพาณิชย์ไทยยังมีสัดส่วนของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) โดยรวมก็ยังอยู่ในระดับที่ต่ำ ขณะที่ภาระหนี้ของภาครัฐก็อยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ ยังสามารถก่อหนี้สินเพื่อนำมากระตุ้นเศรษฐกิจได้อีก

“ที่ผมเห็นว่าเป็นปัญหาที่สุด คือ ปัญหาสภาพคล่อง ไม่ใช่ขาดแคลน แต่มีสภาพคล่องส่วนเกินอยู่กับธนาคารพาณิชย์ใหญ่ๆ 4-5 แห่ง มากพอสมควร จะพบว่า ธนาคารพาณิชย์เพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ไม่กล้าปล่อยกู้ ธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อมจะเกิดปัญหาสภาพคล่อง ซึ่งจะเป็นปัญหาตามมา”

ประธาน ตลท.ยังเห็นว่า วงเงินงบประมาณกลางปีและการกู้เงินจากต่างประเทศเพื่อนำมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลกำหนดไว้ยังถือว่ามีจำนวนน้อยเกินไป ซึ่งเข้าใจดีว่ารัฐบาลมีข้อจำกัดเรื่องกรอบการดำเนินงาน

ทั้งนี้ รัฐบาลกำหนดวงเงินงบประมาณกลางปีไว้ที่ 1.16 แสนล้านบาท และกรอบวงเงินกู้จากต่างประเทศอีก 7 หมื่นล้านบาท

**สินเชื่อบ้านชะงัก แบงก์แห่ปฏิเสธให้กู้

นายอภิชาติ อรรฆย์ฐากูร ผู้จัดการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายสินเชื่อเคหะ ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้จำนวนลูกค้าที่ไม่ผ่านการอนุมัติสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยยอดปฏิเสธสินเชื่อเพิ่มขึ้นเป็น 20-30% จากเดิมอยู่ที่ 10%

นายอภิชาติ กล่าวว่า ในช่วงนี้มีคอนโดมิเนียมเริ่มทยอยสร้างเสร็จแล้ว และเปิดรับโอนจากลูกค้าที่ผ่อนดาวน์เมื่อ 2 ปีก่อน แต่เมื่อลูกค้ามีปัญหารายได้ประจำลดลง ทำให้คุณภาพของลูกค้าต่ำลงด้วย ยอดที่ไม่ผ่านการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น

“เมื่อนายจ้างประสบภาวะเศรษฐกิจ ลูกจ้างก็ได้รับผลกระทบ จากเดิมที่เคยคิดว่าผ่อนไหว ตอนนี้ธนาคารไปเช็กเครดิตบูโร กลายเป็นว่าภาระหนี้ของลูกค้ามีมากขึ้น จึงปล่อยกู้ไม่ได้” นายอภิชาติ กล่าว

นอกจากนี้ ผลจากการที่ธนาคารได้ปรับเพิ่มรายได้ขั้นต่ำของลูกค้าที่ขอกู้บ้านเป็นเดือนละไม่ต่ำกว่า 1.2 หมื่นบาท จากเดิมเดือนละ 1 หมื่นบาท และพิจารณาภาระหนี้ของลูกค้าแต่ละรายเข้มงวดขึ้น โดยลูกค้าต้องมีรายได้เหลือใช้จ่ายแต่ละเดือน 8,000 บาท จากเดิมที่กำหนดไว้แค่ 7,000 บาท พร้อมระบุว่า กลุ่มลูกค้าที่ซื้อคอนโด-มิเนียมในราคา 9 แสนบาท ถึง 1 ล้านบาท จะถูกปฏิเสธมากสุด

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ยอดปฏิเสธสินเชื่อที่อยู่อาศัยของกสิกรไทยลดลงมาเหลือ 60% จากเดิม 70% เนื่องจากลูกค้าได้รับผลกระทบ เรื่องรายได้ และธนาคารเพิ่มความ เข้มงวดในการตรวจสอบลูกค้า โดยเจาะลึกไปยังอาชีพของผู้กู้ โดยกำหนดให้อุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงกำไรน้อยลง ได้แก่ อุตสาหกรรมพลังงาน ก่อสร้าง และโรงแรม

นอกจากนี้ ธนาคารยังขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการโครงการอสังหาริมทรัพย์ ให้ปรับสัดส่วนการผ่อนดาวน์จากเดิมเพิ่มอีก 5-10% เพื่อป้องกันความเสี่ยง และยังเป็นการกรองคุณภาพลูกค้าอีกขั้นหนึ่ง ขณะที่รายได้ขั้นต่ำก็ปรับจาก 1 หมื่นบาท เป็น 1.5 หมื่นบาทด้วย

สำหรับเป้าหมายสินเชื่อบ้านนั้น ในปีนี้กสิกรไทยได้ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 2.8 หมื่นล้านบาท จากปีก่อนปล่อยสินเชื่อได้ 3.8 หมื่นล้านบาท

นายรุ่งเรือง สุขเกิดกิจพิบูลย์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ยอดการอนุมัติสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารยังอยู่ระดับปกติ 80% แต่ก็ยอมรับว่า การพิจารณาลูกค้าเข้มงวดมาก ขึ้น แต่ยังตั้งเป้าสินเชื่อไว้ 5.3- 5.5 หมื่นล้านบาท

**ธอส.ฟุ้งปี 51 สินเชื่อใหม่พุ่ง 8.2 หมื่นล.

นายขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยถึงยอดการปล่อยสินเชื่อใหม่ในปี 2551 อยู่ที่ระดับ 81,804 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการณ์ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 80,000 ล้านบาท พร้อมคาดการณ์ตัวเลขกำไรสุทธิจากการดำเนินงานปี 2551 เมื่อเทียบกับปี 2550 ลดลง 10.25% อยู่ที่ 3,306 ล้านบาท

สำหรับผลการดำเนินงาน สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2552 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ธนาคารมียอดสินเชื่อคงค้างทั้งสิ้น 617,305 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.24% ส่วนยอดเงินฝากรวมอยู่ที่ 515,149 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.16% โดยเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จำนวน 62,919 ล้านบาท คิดเป็น 10.56% ของยอดสินเชื่อรวม ขณะที่ทรัพย์สินรอการขายหรือ NPA คงเหลือสุทธิตามงบการเงินจำนวน 9,813 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น