ผู้จัดการกองทุนเชื่อผลประกอบการไตรมาส 2 หุ้นกลุ่มแบงก์จะออกมาดีตามที่หลายคาดการณ์ แม้จะต้องเผชิญภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เฉลี่ยบลจ.เก็บหุ้นแบงก์เข้าพอร์ตอย่างต่ำ 25% ทำให้เตรียมรอรับผลตอบแทนก้อนงาม ส่วนครึ่งปีหลังยังไม่แน่นอนจากปัญหาเงินเฟ้อ และการปล่อยสินเชื่อที่อาจสู้ครึ่งปีแรกไม่ได้
นาย กรวุฒิ ลีนะบรรจง ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) ยูโอบี(ไทย) จำกัด เปิดเผยการประกาศผลประกอบการของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่จะเริ่มขึ้นในสัปดาห์หน้าว่า บริษัทให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคารอยู่ที่ประมาณร้อยละ 27-28 ของพอร์ตการลงทุน โดยจะเลือกลงทุนในหุ้นธนาคารที่มีขนาดใหญ่เป็นหลัก อาทิเช่น ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกรุงเทพ คล้ายกับบลจ.อื่น
"คาดว่าผลการดำเนินงานของแบงก์ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมาน่าจะเป็นไปตามที่หลายฝ่ายได้คาดการณ์ไว้ เพราะผลประกอบการณ์ไตรมาสสแรกที่ผ่านมาเรียกได้ว่าดีกว่าที่คาดคิดไว้มาก โดยในไตรมาสนี้ไม่น่าจะมีปัญหา หากไม่มีปัจจัยลบที่ไม่สามารถคาดเดาได้เข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะจะทำให้การเติบโตของการปล่อยสินเชื่อของแบงก์ ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมามียอดการเติบโตของสินเชื่ออยู่ที่ประมาณ ร้อยละ7 อีกทั้งผลต่างของอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างดี โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.5%ทำให้แบงก์ใหญ่สามารถดำเนินธุรกิจได้"นายกรวุฒิ กล่าว
ทั้งนี้ หากไม่มีปัจจัยภายนอกมากระทบ บลจ.ยูโอบีเชื่อผลการดำเนินการของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในครั้งนี้คงเป็นไปตามคาดการณ์ แม้ว่าบางครั้งบริษัทได้ประกาศผลการดำเนินในไตรมาสที่ผ่านมาดี แต่ราคาหุ้นก็ใช่ว่าจะดีตามผลประกอบการ เพราะหุ้นแต่ละตัวมีมูลค่าหรือราคาพื้นฐานต่างกัน
นางสาวสหัทยา สรรค์ประสิทธิ์ ผู้จัดการกองทุนอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) วรรณ จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทได้ถือหุ้นในกลุ่มธนาคารไว้ในพอร์ตการลงทุนอยู่ประมาณมากกว่า 20% โดยส่วนใหญ่ที่ถือจะเป็นหุ้นของธนาคารขนาดใหญ่ และในไตรมาส 2 นี้เชื่อว่าผลประกอบการของธนาคารยังออกมาดี ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวแต่ก็ไม่ได้ปรับลดลงมากนัก
ส่วนในครึ่งปีหลังบริษัทคาดว่าผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ยังคงไม่แน่นอนอยู่ เพราะปัญหาเงินเฟ้อที่มีอยู่ในขณะนี้เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญต่อผลการดำเนินงาน อีกทั้งการปล่อยสินเชื่อของธนาคารต่างๆในครึ่งปีแรกถือว่าดีมากแต่ในครึ่งปีหลังบริษัทคาดว่าจะไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็น
สำหรับการลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคารนั้นบริษัทอาจจะมีการเก็บไว้ในพอร์ตการลงทุนในระยะสั้น เพราะผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมาดีในช่วงระยะเวลาสั้นๆ และอาจมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นแต่คงอยู่ได้ไม่นาน อีกทั้งเศรษฐกิจในประเทศยังคงต้องพึ่งนักลงทุนชาวต่างชาติให้เข้ามาลงทุนด้วย
นายประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อยุธยา จำกัด (เอวายเอฟ) กล่าวว่า สำหรับหุ้นธนาคาร บลจ.มีเก็บไว้ในพอร์ตค่อนข้างมาก โดยแล้วแต่ชนิดของกองทุนว่าลงทุนในอะไรบ้าง แต่ส่วนใหญ่แล้วบลจ.ให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ประมาณ 20-25% และลงทุนในกลุ่มแบงก์กสิกรไทย ไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงเทพ และทิสโก้
โดยเชื่อว่าผลการดำเนินงานของหุ้นกลุ่มธนาคารยังดีอยู่ เพราะในแง่ของส่วนแบ่งของการเจริญเติบโตของสินเชื่อค่อนข้างดี แต่อาจจะมีในเรื่องของหนี้สูญเกิดขึ้นมาได้ อีกทั้งราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นนี้ อาจมีผลต่อกำไรจากการปล่อยสินเชื่อ เพราะหากการปล่อยสินเชื่อดีจะส่งผลให้กลไกตลาดปรับตัวดีตามสินเชื่อไปด้วย และในเรื่องของการปรับเพิ่มราคาค่าธรรมเนียมต่างๆที่เกิดขึ้น แทบจะไม่มีความเสี่ยงในการดำเนินการ
อย่างไรก็ตาม การชี้แจงผลการดำเนินงานถือเป็นตัวช่วยอีกระดับหนึ่ง แต่จะดีตรงที่ว่าสามารถช่วยเพิ่มแรงจูงใจให้กับนักลงทุนได้ อีกทั้งยังช่วยสะท้อนภาพรวมเศรษฐกิจภายในประเทศได้ ทำให้ภาคธุรกิจสามารถประคับประคองกิจการไปได้
นักวิเคราะห์รายหนึ่ง กล่าวว่า ในครึ่งปีแรกของปี 2551 ผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ที่ศึกษาอยู่จำนวน 6แห่ง คาดการณ์ว่าจะมีกำไรสุทธิ 46,019 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 246% เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 2550 ที่มีกำไรสุทธิ 13,309 ล้านบาท โดยคาดว่ากำไรสุทธิในไตรมาส 2/51 ของกลุ่มธนาคารจะมีกำไรประมาณ 20,763 ล้านบาท จากขาดทุนสุทธิ 3,870 ล้านบาทในไตรมาส 2/50 จึงส่งผลทำให้ครึ่งปีแรกนี้กลุ่มแบงก์มีกำไรเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
โดยกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ศึกษาจำนวน 6 ธนาคารนั้น ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ(BBL) ธนาคารกสิกรไทย(KBANK) ธนาคารกรุงไทย(KTB) ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB) ธนาคารนครหลวงไทย(SCIB)และธนาคารทหารไทย(TMB) และคาดการณ์ว่า SCB มีแนวโน้มรายงานกำไรสุทธิสูงที่สุดในครึ่งปีแรก น้อยที่สุดคือSCIB แต่เป็นธนาคารที่มีการเติบโตเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 343% เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรกของปีก่อน ขณะที่ TMB พลิกมีกำไรจากขาดทุนในครึ่งแรกของปี 2550 เป็นการเติบโตเพิ่มขึ้นทุกธนาคารจากประมาณการรายได้ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น สำรองหนี้ลดลง และคาดการสินเชื่อของ BBL ขยายตัวสูงสุด ขณะที่ทั้งกลุ่มขยายตัวประมาณ 6%จากสิ้นปี 2550
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคารจะเพิ่มขึ้น แต่ปัจจัยทั้งเรื่องการเมือง อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากเป็นการกดดันการขยายตัวของเศรษฐกิจรวมถึงแนวโน้มการขยายสินเชื่อให้ชะลอตัว ยังกดดันบรรยากาศการลงทุนอีกด้วยแต่ยังคงให้น้ำหนัการลงทุนกลุ่มธนาคารเท่าตลาด และแนะนำทยอยซื้อลงทุนธนาคารขนาดใหญ่ทั้ง BBL ราคาเป้าหมาย 150 บาท KBANK ราคาเป้าหมาย 93 บาทและSCB ราคาเป้าหมาย 98 บาท
"ผลการดำเนินงานของกลุ่มแบงก์ในครึ่งปีหลัง มีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับในครึ่งปีแรก เนื่องจากค่าใช้จ่ายสำรองหนี้และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอาจเพิ่มขึ้นขณะที่ NPL ที่อาจเพิ่มขึ้นตามความเสี่ยงเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นนอกจากนั้น พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝากและพ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงินจะมีผลบังคับใช้ในครึ่งปีหลังนี้ แม้ว่าจะยังไม่ทำให้มีการเคลื่อนย้ายเงินฝากในระหว่างปีแรก แต่อาจจะมีมากขึ้นในปีที่ 2 หรือประมาณกลางปี 2552 เป็นต้นไป"