xs
xsm
sm
md
lg

“กอร์ปศักดิ์” โต้ “โอฬาร” ยัน ศก.ปีนี้ไม่ติดลบ 4% หวั่นงบอัดฉีดโดนเตะถ่วงในสภา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“กอร์ปศักดิ์” มั่นใจ “จีดีพี” ปีนี้ ไม่ติดลบหนัก 4% ตามที่ นายโอฬาร อดีตรองนายกฯ “รัฐบาลชุดก่อน” ออกมาประโคมข่าว พร้อมแสดงความเป็นห่วง ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ เพิ่มเติมปี 52 ไม่ได้รับความร่วมมือจาก ส.ส.ในสภา ทำให้เม็ดเงินกระตุ้น ศก.ในเดือน เม.ย.นี้ ล่าช้าออกไปอีก ย้ำเรื่องเวลา ทุกนาทีมีค่า เป็นประเด็นสำคัญของรัฐบาล ในการเร่งเดินหน้าแผนแก้ปัญหา ศก.มั่นใจหากราบรื่น “จีดีพี” เป็นบวกแน่

นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เชื่อว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2552 คงจะไม่ติดลบถึง 4% ตามที่ นายโอฬาร ไชยประวัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี คาดการณ์ โดย นายกอร์ปศักดิ์ แสดงความมั่นใจว่า ปีนี้เศรษฐกิจไทยจะเติบโตเป็นบวกได้ แต่ขึ้นอยู่กับว่าสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลกจะต้องนิ่ง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากระทบกับเศรษฐกิจไทยได้อีก ส่วนเศรษฐกิจในปี 2553 ยอมรับว่า ยังคาดเดาได้ยาก

รัฐบาลขอใช้เวลาราว 3 เดือน ในการประเมินสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลก เพื่อจะพิจารณาว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป และจำเป็นต้องมีมาตรการอื่นๆ เพิ่มเติมหรือไม่ แต่สิ่งสำคัญในขณะนี้ คือ สภาผู้แทนราษฎร ควรให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2552 เพื่อให้มีเม็ดเงินมาใช้ได้ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้เร็วขึ้นจาก 1 เมษายน 2552

“ผมใช้คำพูดที่ว่า เวลาเป็นศัตรูกับการทำงานของรัฐบาล ทุกเวลา ทุกชั่วโมง เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องการให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เสียงตอบรับพร้อมรับฟัง แต่วันนี้จะให้ปรับทันทีคงไม่ได้ เราต้องนิ่งในการทำงาน”

นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวอีกว่า รัฐบาลมีความเป็นห่วงปัญหาด้านแรงงาน โดยได้ออกมาตรการหลายด้านมา เพื่อดูแลและลดผลกระทบจากการเลิกจ้าง เนื่องจากล่าสุดพบว่าตัวเลขคนตกงานเพิ่มขึ้นทุกเดือน เฉลี่ยเดือนละ 1 หมื่นคน ดังนั้น รัฐบาลจะต้องใช้เงินงบประมาณเพื่อรองรับไม่ให้คนตกงานมากขึ้น ซึ่งมาตรการที่รัฐบาลใช้ก็เพื่อสร้างดีมานด์ให้เกิดการจับจ่ายและเป็นวิธีการแก้ปัญหาจากระดับล่างขึ้นบน

สำหรับข้อเสนอที่ให้ใช้นโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้นนั้น รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อาจขอหารือกับกระทรวงการคลังก่อน แต่เห็นว่า การนำมาตรการภาษีมาใช้จะต้องมีความรอบคอบและระมัดระวัง เพราะมีผลกระทบหลายด้าน เช่น การเสนอให้ลดภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งจะกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลจำนวนมาก และหากเศรษฐกิจโลกไม่นิ่ง การลดภาษีก็อาจจะยิ่งสร้างความเสียหายมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น