“กรณ์” รุดถก “โสภณ” แก้ปัญหาการบินไทย เตรียมตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง สางต้นตอปัญหาขาดสภาพคล่องหนัก ยันไม่ใช่การสอบสวน พร้อมจี้ให้ส่งแผนฟื้นฟูภายในเดือนนี้ ก่อนการตัดสินใจช่วยเหลือ “ออมสิน” แบ่งรับแบ่งสู้ หากต้องปล่อยกู้ 2 หมื่นล้าน ต้องพิจารณาความเสี่ยงอย่างรอบคอบ หวั่นกระทบโครงการจำนำข้าว
นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงความคืบหน้าในการแก้ปัญหาสภาพคล่อง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยระบุว่า ตนเองได้มีการหารือกับนายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ถึงแผนฟื้นฟูการบินไทย ซึ่งทราบว่า จะมีการเสนอแผนฟื้นฟูและแผนบริหารจัดการธุรกิจภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 นี้ เพื่อให้กระทรวงการคลังพิจารณา และเร่งจัดหาแหล่งเงินทุนที่จะเข้ามาฟื้นฟูกิจการการบินไทย
นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคม ยังได้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อหาข้อเท็จจริงที่มาของปัญหาในการบินไทย เพื่อดูว่าต้นตอของปัญหาที่แท้จริงมาจากอะไร ทั้งเรื่องการจัดซื้อเครื่องบินใหม่ในภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ความเสียหายจากการจัดซื้อน้ำมันล่วงหน้า ความเสียหายจากการบริหารจัดการ และผลกระทบในการประกาศปิดสนามบินของ นายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ ผู้อำนวยการท่าอาการศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.)
นายกรณ์ กล่าวยืนยันว่า การตั้งคณะกรรมการไม่ใช่การสอบสวน แต่ต้องการหาต้นตอของปัญหา เพื่อเร่งสะสาง ซึ่งยอมรับว่าสภาวะของธุรกิจการบินอยู่ในช่วงฝืดเคือง เนื่องจากประชาชนเดินทางลดลง ผู้โดยสารน้อยลง จากปัญหาการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจโลก ดังนั้น การบินไทยจะต้องเตรียมรับมือและเร่งฟื้นฟูปรับปรุง เพื่อแก้ไขการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
นายกรณ์ กล่าวอีกว่า กระทรวงการคลังเตรียมเสนอช่องทางการกู้เงิน 200,000 ล้านบาท ในการปรับปรุงและพัฒนารัฐวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันพรุ่งนี้ (3 ก.พ.) ส่วนจะนำไปช่วยเหลือการบินไทยหรือไม่ ตนเองจะขอดูแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยก่อนจึงจะตัดสินใจ
ด้าน นายเลอศักดิ์ จุลเทศ ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารยังไม่ได้รับการติดต่อให้ปล่อยกู้ 20,000 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับการบินไทย ซึ่งหากได้รับการติดต่อเข้ามา ก็คงจะต้องพิจารณาตามหลักเกณฑ์ปกติของการพิจารณาปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าที่จะต้องให้ความสำคัญในด้านความเสี่ยงอย่างรอบคอบ
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ธนาคารออมสินยังมีภาระที่จะต้องปล่อยกู้ในโครงการรับจำนำข้าวถึง 4 หมื่นล้านบาท โดยปัจจุบันเบิกจ่ายไปแล้ว 2 หมื่นล้านบาท ยังเหลืออีกประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ที่กำลังจะมีการเบิกจ่ายในเร็วๆ นี้ หากต้องปล่อยเงินกู้ให้กับการบินไทยสูงถึง 2 หมื่นล้านบาท ก็อาจจะกระทบกับวงเงินกู้ในโครงการดังกล่าว และกิจกรรมอื่นๆ ด้วย