xs
xsm
sm
md
lg

ครม.มาร์ค ใจป้ำ อัด 7 มาตรการภาษีชุดใหญ่ พ่วงงบ 1.16 แสน ล.น้ำ-ไฟฟรี เคาะโป้งเดียวจบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ครม.มาร์ค ผ่านงบกลางปี 1.16 แสน ล.น้ำ 30 หน่วย ไฟ 90 หน่วย ใช้ฟรีอีก 6 เดือน พร้อมอัดมาตรการภาษีชุดใหญ่ เคาะรวดเดียว 7 มาตรการ ทั้งขยายฐานคำนวณภาษี บุคคลธรรมดา เพิ่มเป็น 1 ล้านบาท ลดหย่อนภาษีซื้อบ้าน 3 แสน พ่วงดอกเบี้ย 1 แสน โดยยอมสูญรายได้ 4 หมื่น ล.

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (20 มกราคม 2552) มีมติอนุมัติการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายกลางปี 2552 วงเงิน 1.16 แสนล้านบาท พร้อมทั้งมาตรการภาษีชุดใหญ่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งภาคธุรกิจท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ และช่วยเหลือภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) การขยายโครงการแทรกแซงราคาพืชผลเกษตร ข้าว ข้าวโพด มัน และยางพารา รวมไปถึงขยายเวลามาตรการลดรายจ่ายให้กับประชาชน ทั้งค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า และรถเมล์ ฟรีต่อไปอีก 6 เดือน

“การขยายเวลามาตรการแบ่งเบาภาระค่าน้ำและค่าไฟ มีการปรับหลักเกณฑ์บ้าง เช่น เรื่องของน้ำ สามารถใช้ฟรีได้เหลือ 30 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน จากเดิม 50 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน โดยขยายไปยังผู้ใช้น้ำประปาท้องถิ่นด้วย ขณะที่ค่าไฟฟ้า ได้ปรับเป็นให้ใช้ฟรีไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือน จากเดิมให้ผู้ไช้ไฟฟ้าไม่เกิน 80 หน่วยต่อเดือนใช้ฟรี และคิดครึ่งราคาสำหรับผู้ที่ใช้ตั้งแต่ 80 ยูนิต ไปถึง 150 ยูนิตต่อเดือน

สำหรับมาตรการช่วยเหลือ SME อาทิ การขยายวงเงินลดหย่อนภาษี มาตรการทั้งด้านอสังหา และมาตรการสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ พร้อมทั้งให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ไปพิจารณาบรรจุอัตราว่างทั้งสิ้น 2.4 หมื่นอัตรา โดยให้แต่ละกระทรวงกลับไปพิจารณาความจำเป็นในการเพิ่มกำลังคนเพื่อนำเสนอ ครม.ต่อไป

นายกรัฐมนตรี ยังมอบหมายให้ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี ไปหาแนวทางเตรียมการป้องกันมาตรการป้องกันภัยแล้ง และให้ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ รับผิดชอบปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตร นอกจากนี้ ยังได้อนุมัติการจัดสรรงบประมาณกลางปี 2552 เพื่อเสนอสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 28 ม.ค.นี้ ส่วนด้านการท่องเที่ยว ให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า อุทยาน และราคาค่าธรรมเนียมการจอดเครื่องบิน โดยมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬารับ ผิดชอบเรื่องนี้

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีมติเห็นชอบผ่านมาตรการทางภาษี 7 มาตรการ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเบื้องต้น คาดว่า หากรัฐบาลใช้มาตรการภาษีครบทั้ง 7 มาตรการ อาจส่งผลให้รัฐบาลต้องสูญเสียรายได้ในปีนี้ เป็นวงเงินสูงถึง 4 หมื่นล้านบาท โดยจะมีผลย้อนหลังตั้งแต่เดือนกราคม 2552 นี้

***เปิดรายละเอียด 7 มาตรการ คาดสูญรายได้ 4 หมื่น ล.

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดแถลงรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการภาษีกระตุ้นเศรษฐกิจทั้ง 7 มาตรการ ที่ได้รับการอนุมัติในวันนี้ โดยคาดว่า จะทำให้ภาครัฐต้องเข้ามารับภาระแทนประชาชนประมาณ 4 หมื่นล้านบาท โดยจะเกี่ยวข้องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) วิสาหกิจชุมชน การท่องเที่ยว ธุรกิจเงินร่วมลงทุน การปรับโครงสร้างหนี้ และการโอนกิจการบางส่วน

ทั้งนี้ ยอมรับว่า มาตรการภาษี เพื่อลดรายจ่ายทางภาษี สนับสนุนการใช้จ่ายในภาคอุตสาหกรรมเป้าหมาย และส่งเสริมการปรับโครงสร้าง จะทำให้รัฐบาลสูญเสยรายได้กว่า 40,000 ล้านบาท แยกเป็นภาคอสังหาริมทรัพย์ 36,500 ล้านบาท ภาคธุรกิจ SME 1,400 ล้านบาท วิสาหกิจชุมชน 200 ล้านบาท และภาคการท่องเที่ยว 1,800 ล้านบาท โดยยังไม่รวมภาษีทีเกี่ยวข้องกับเงินร่วมลงทุน และการปรับโครงสร้างหนี้

มาตการภาษีธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จะยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้จ่ายเงินค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน และโอนภายในปี 2552 วงเงินไม่เกิน 3 แสนบาท คงสิทธิดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อหักลดหย่อนภาษีเงินได้ไม่เกิน 1 แสนบาท และการต่ออายุการลดค่าธรรมเนียมการโอน ภาษีธุรกิจเฉพาะ และภาษีหัก ณ ที่จ่าย จากเดิม 3.3% ลงเหลือ 0.11% ถึง มี.ค.2553

ทั้งนี้ เพื่อเร่งให้มีการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยในปี 2552 ลดผลกระทบโดยตรงต่อผู้ซื้อบ้านหลังแรกและผู้ประกอบการ ข่วยให้เกิดการใช้สภาพคล่องส่วนเกินของสถาบันการเงิน ลดผลกระทบต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องในวงกว้าง โดยคาดว่าจะมีผู้โอนที่อยู่อาศัยใหม่ 1 แสนแห่ง โดยรัฐบาลสูญเสียรายได้จากการลดค่าธรรมเนียมการโอน และภาษีภาคอสังหาริมทรัพย์ 30,000 ล้านบาท ภาษีรายได้บุคคลธรรมดา 6,500 ล้านบาท แต่จะมีภาษีนิติบุคคลเพิ่มขึ้น

มาตรการภาษีผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จะขยายวงเงินได้พึงประเมินขั้นต่ำที่ต้องมาคำนวณภาษีในอัตรา 0.5% จากเดิม 60,000 ล้านบาท เพิ่มเป็น 1 ล้านบาท ช่วยลดผลกระทบจากภาระค่าครองชีพ เพิ่มรายได้ให้ประชาชน สนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และยังเป็นการขยายวงเงินยกเว้นภาษี จากเดิม 300 บาทต่อปี เป็นที่เกินกว่า 5,000 บาทต่อปี โดยมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ประโยชน์ 9.7 แสนราย

มาตรการภาษีสำหรับวิสาหกิจชุมชน เป็นการเพิ่มเพดานวงเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษี จาก 1.2 ล้านบาท เป็น 1.8 ล้านบาท สำหรับเงินได้ในปี 2552-2553 ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้แก่ประชาชน และสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน ที่ได้ประโยชน์ 58,000 แห่งทั่วประเทศ

มาตรการภาษีด้านการท่องเที่ยว โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถนำค่าใช้จ่ายในการจัดอบรมสัมมนาในประเทศ (ค่าห้องพัก และค่าห้องสัมมนา) มาหักภาษีได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง สำหรับรายจ่ายในรอบปีบัญชี 52 ทั้งนี้ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ รวมถึงธุรกิจโรงแรม ร้านค้า ร้านอาหาร โดยคาดว่ารัฐบาลสูญเสียรายได้ 1,800 ล้านบาท

มาตรการภาษีสำหรับธุรกิจเงินร่วมลงทุน เป็นการขยายเวลาการขึ้นทะเบียนนิติบุคคลร่วมลงทุน (Venture Capital) ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2554 และยกเลิกเงื่อนไขที่กำหนดให้ธุรกิจเงินร่วมลงทุนต้องนำเงินไปลงทุนใน SME ไม่น้อยกว่า 20% ของทุนจดทะเบียนในปีแรก และยกเว้นภาษีเงินได้แก่ผลประโยชน์จากการโอนหุ้นของ SME ทั้งนี้ เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนระยะยาวของ SME และพัฒนาตลาดทุนไทย หาก SME เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

มาตรการภาษีที่เกี่ยวข้องกับการปรับโครงสร้างหนี้ โดยเว้นภาษีสำหรับเงินได้แก่ลูกหนี้ที่ได้รับจากการปลดหนี้ของสถาบันการเงิน และเจ้าหนี้อื่นๆ ให้เจ้าหนี้สามารถจำหน่ายหนี้สูญจากการปลดหนี้ดังกล่าว โดยไม่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ปกติ ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับเงินได้ที่ได้จากการโอนสินทรัพย์ การขายสินค้า และการกระทำจากการปรับโครงสร้างหนี้ การโอนสินทรัพย์ที่ลูกหนี้นำมาจำนองเป็นประกันหนี้ของสถาบันการเงินให้แก่ผู้อื่น โดยลูกหนี้ต้องนำเงินไปชำระแก่เจ้าหนี้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการเร่งรัดการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ

มาตรการภาษีที่เกี่ยวข้องจากการโอนกิจการบางส่วน โดยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ อากรแสตมป์ และค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมกรมที่ดิน ที่เกิดจากการโอนกิจการบางส่วน แก่ผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทมหาชน หรือ บริษัทจำกัด โดยการโอนต้องแล้วเสร็จภายใน 31 ธันวาคม 2552 ทั้งนี้ เพื่อเร่งรัดการปรับโครงสร้างองค์กรให้มีการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถแข่งขันได้ และลดภาระค่าใช้จ่าย
กำลังโหลดความคิดเห็น