xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

บีโอไอ:ทุน ทุนขั้นต่ำ และเงินลงทุน ความเหมือนที่แตกต่าง (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: วันเพ็ญ หรูจิตตวิวัฒน์

สำหรับในตอนที่ 1 นั้น ได้กล่าวถึงทุน และทุนขั้นต่ำแล้ว ตอนที่ 2 นี้จะได้กล่าวถึงเงินลงทุน และความสัมพันธ์ระหว่างทุน ทุนขั้นต่ำ และเงินลงทุน โดยจำแนกเป็นขอบข่ายของเงินลงทุน นิยามของเงินลงทุน ที่มาของเงินลงทุน รูปแบบธุรกิจของผู้ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน คนต่างด้าวที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนได้ และทุนจดทะเบียนของคนต่างด้าวที่ได้รับการส่งเสริมฯ

เงินลงทุนของโครงการขอรับการส่งเสริมฯ

เงื่อนไขพื้นฐานของการยื่นขอรับการส่งเสริมฯ ต่อสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Office of the Board of Investment – BOI) หรือบีโอไอ คือ เงินลงทุนไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท ยกเว้นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เงินลงทุนขั้นต่ำไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 5 แสนบาท

ตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ ป. 6/2546 เรื่อง นโยบายส่งเสริม SMEs (Small and Medium Enterprises) ของประเทศไทย ซึ่งมีเงื่อนไขเรื่องขนาดการลงทุนไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 5 แสนบาท ต้องมีคนไทยถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ของทุนจดทะเบียน มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนไม่เกิน 3 ต่อ 1 แล้วยังเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) และได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน หรือเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม อีกทั้งจะให้การส่งเสริมทั้งในส่วนที่ดำเนินการอยู่เดิม และส่วนที่ลงทุนใหม่เพื่อเพิ่มกำลังผลิต หรือปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต

วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs หมายถึง วิสาหกิจที่มีสินทรัพย์ถาวรสุทธิหรือขนาดการลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) ทั้งส่วนที่ดำเนินการอยู่เดิม (ถ้ามี) และส่วนที่ลงทุนใหม่รวมกันไม่เกิน 200 ล้านบาท

เงินลงทุน โดยทั่วไปประกอบด้วย ค่าก่อสร้างหรือค่าเช่าระยะเวลามากกว่า 3 ปี ค่าเครื่องจักรหรือค่าเช่าระยะยาวมากกว่า 1 ปี ค่าติดตั้ง ค่าทดลองเครื่อง ค่าใช้จ่ายก่อนเปิดดำเนินการ มูลค่าสินทรัพย์อื่น ค่าที่ดิน ค่าวิชาการ และเงินทุนหมุนเวียน

ความหมายของรายการเงินลงทุนไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน มีความสำคัญในการคำนวณจำนวนภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ได้รับการยกเว้นตามสัดส่วนของเงินลงทุน โดยเงื่อนไขกิจการบางประเภทได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลรวมกันไม่เกินร้อยละ 100 ของเงินลงทุนไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ ป. 12/2544 เรื่อง การกำหนดสัดส่วน หลักเกณฑ์ และวิธีการคำนวณการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งจะระบุไว้ในเงื่อนไขประเภทกิจการ ยอดเงินลงทุนไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนจึงส่งผลต่อผลประกอบการของธุรกิจอย่างยิ่ง

ประกาศสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ ป. 1/2545 เรื่อง การกำหนดความหมายรายการเงินลงทุน จึงได้กำหนดนิยามไว้ กล่าวคือ

ค่าก่อสร้าง หมายถึง ค่าก่อสร้างอาคารสำนักงาน โรงงาน สาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมถึงการต่อเติม หรือปรับปรุงด้วยในกรณีก่อสร้างเอง หากเป็นกรณีซื้ออาคาร หรือใช้อาคารที่มีอยู่แล้ว ให้ใช้มูลค่าตามสัญญาซื้อขาย หรือราคาสุทธิตามบัญชีของงวดบัญชีก่อนยื่นคำขอรับการส่งเสริมฯ แล้วแต่กรณี แต่ถ้าเป็นกรณีการเช่าอาคาร หรือโรงงาน จะหมายถึง ค่าเช่าตามสัญญาเช่า โดยที่ระยะเวลาการเช่าต้องมากกว่า 3 ปี

ค่าเครื่องจักร หมายถึง ค่าเครื่องจักร รวมค่าติดตั้ง ค่าทดลองเครื่อง ค่าวิชาการที่รวมอยู่ในต้นทุนเครื่องจักร เช่น ค่าวิศวกร ค่าออกแบบ แต่รวมถึงค่าเครื่องคอมพิวเตอร์ และโปรแกรมในกิจการซอฟต์แวร์ และกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่ใช้มูลค่าตามสัญญาเช่าซื้อ หรือเช่าแบบลิสซิ่ง ในกรณีการเช่าซื้อ หรือเช่าแบบลิสซิ่ง สำหรับการเช่าเครื่องจักร ให้ใช้มูลค่าตามสัญญาเช่า ทั้งนี้ สัญญาเช่าต้องมากกว่า 1 ปี แต่ให้ใช้ราคาทุนตามบัญชี กรณีจำนองเครื่องจักร อย่างไรก็ตาม การขอรับการส่งเสริมฯ เพื่อโยกย้ายสถานประกอบการ ไม่อนุญาตให้นำค่าเครื่องจักรมารวมคำนวณด้วย

ค่าใช้จ่ายก่อนเปิดดำเนินการ หมายรวมถึง ค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งบริษัทใหม่ ได้แก่ ค่าเดินทาง ค่าทนายความ ค่าธรรมเนียม และค่าหนังสือบริคณห์สนธิ

มูลค่าสินทรัพย์อื่น หมายรวมถึง ค่าอุปกรณ์สำนักงานและยานพาหนะ เฉพาะกรณีขอรับการส่งเสริมฯ ในนามบริษัทที่จัดตั้งใหม่ และขอรับการส่งเสริมฯ เพื่อโยกย้ายสถานประกอบการเท่านั้น ดังนั้นวิสาหกิจจัดตั้งใหม่เท่านั้นที่เงินลงทุนจะครอบคลุมถึงสินทรัพย์อื่นด้วย

นอกจากนั้นสินทรัพย์อื่นยังครอบคลุมถึงค่าสัมปทาน ค่าประทานบัตร และสินทรัพย์ที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติที่จ่ายให้รัฐ

ที่มาของเงินลงทุน

ที่มาของเงินลงทุนในโครงการที่ขอรับการส่งเสริมฯ อาจมาจากเงินค่าหุ้นที่เรียกชำระ เงินจากกำไรสะสม เงินกู้ภายในประเทศ เงินกู้จากต่างประเทศ สินเชื่อจากผู้จำหน่ายสินค้าในประเทศ และสินเชื่อจากผู้จำหน่ายสินค้าต่างประเทศ เป็นต้น ทุนจดทะเบียนของบริษัทจึงเป็นแหล่งเงินทุนแหล่งหนึ่งของกิจการที่ขอรับการส่งเสริมฯ

รูปแบบธุรกิจของผู้ที่ได้รับการส่งเสริมฯ

ผู้ที่ได้รับการส่งเสริมฯ ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 ต้องเป็นบริษัท มูลนิธิ หรือสหกรณ์ ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ฉะนั้น กิจการที่จะขอรับการส่งเสริมฯ ต้องไม่เป็นกิจการของบุคคลธรรมดา หรือห้างหุ้นส่วน แต่ต้องเป็นบริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด มูลนิธิ หรือสหกรณ์ ที่จดทะเบียนจัดตั้งตามที่ระบุไว้ภายใต้กฎหมายนั้นๆ ซึ่งเป็นกฎหมายไทย นิติบุคคลที่จดทะเบียนในต่างประเทศ หรือสำนักงานสาขาของนิติบุคคลในต่างประเทศ (ได้แก่ สำนักงานผู้แทน และสำนักงานภูมิภาค) จึงไม่สามารถขอรับการส่งเสริมฯ ได้

คนต่างด้าวที่ขอรับการส่งเสริมฯ ได้

คนต่างด้าวในที่นี้หมายความถึง คนต่างด้าวตามนิยาม “คนต่างด้าว” มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ครอบคลุมทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทย นิติบุคคลซึ่งไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย นิติบุคคลซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทยมีหุ้นอันเป็นทุนหรือลงทุนมีมูลค่าตั้งแต่กึ่งหนึ่งของนิติบุคคลนั้นถือโดยบุคคลหรือนิติบุคคลข้างต้น ห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่จดทะเบียนซึ่งหุ้นส่วนผู้จัดการหรือผู้จัดการเป็นบุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทย หรือนิติบุคคลซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทยมีหุ้นอันเป็นทุนหรือลงทุนมีมูลค่าตั้งแต่กึ่งหนึ่งของนิติบุคคลนั้นถือโดยบุคคลหรือนิติบุคคลที่กล่าวข้างต้น

คนต่างด้าวตามนิยามดังกล่าวที่สามารถขอรับการส่งเสริมฯ ได้จึงเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งในประเทศไทย ประเภทบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัดเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ขณะที่ยื่นขอรับการส่งเสริมฯ ผู้ขอรับการส่งเสริมฯ จะเป็นบุคคลธรรมดาสัญชาติไทย หรือต่างชาติก็ได้ และเมื่อได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมฯ แล้ว จึงไปจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัดที่กระทรวงพาณิชย์ในภายหลัง โดยบัตรส่งเสริมฯ จะออกให้แก่บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัดเท่านั้น

กรณียื่นขอรับการส่งเสริมฯ ในนามบุคคลธรรมดา ซึ่งอาจเป็นคนไทย หรือคนต่างชาติ ผู้ยื่นขอรับการส่งเสริมฯ จะเป็นผู้มีอำนาจในการรับบัตรส่งเสริมฯ เมื่อได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมฯ แล้ว โดยที่ผู้ยื่นขอรับการส่งเสริมฯ อาจไม่ได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ กรรมการ ผู้ถือหุ้น หรือไม่มีตำแหน่งอื่นใดในบริษัทที่จัดตั้งตามที่ระบุในบัตรส่งเสริมฯ เลยก็ได้

ทุนจดทะเบียนของคนต่างด้าวที่ได้รับการส่งเสริมฯ

คนต่างด้าวเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย ทุน หมายถึง ทุนจดทะเบียนของบริษัทจำกัด หรือทุนชำระแล้วของบริษัทมหาชนจำกัด สำหรับทุนขั้นต่ำเป็นทุนจดทะเบียน กรณีเป็นบริษัทจำกัดหมายถึงทุนจดทะเบียน กรณีเป็นบริษัทมหาชนจำกัดหมายถึง ทุนที่ชำระแล้ว ทุนและทุนขั้นต่ำในความหมายนี้จึงเหมือนกัน

ขณะที่เงินลงทุนในกิจการที่ได้รับการส่งเสริมฯ อาจมาจาก 3 แหล่งหลัก คือ

1. เงินค่าหุ้นที่จะเรียกชำระ

2. กำไรสะสม

3. เงินกู้หรือสินเชื่อผู้จำหน่ายสินค้า

ทุนจดทะเบียนจะมีจำนวนเท่าไรก็ได้ (ถ้ากิจการประเภทที่ให้การส่งเสริมฯ นั้น ไม่มีข้อบังคับในเรื่องของทุนจดทะเบียนเป็นการเฉพาะ) ตราบเท่าที่เงินลงทุนไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน (หมายถึง เงินลงทุนหักค่าที่ดิน ค่าวิชาการ และทุนหมุนเวียน) ไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาทในกิจการทั่วไป และไม่น้อยกว่า 5 แสนบาทสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

คนต่างด้าวที่ได้รับการส่งเสริมฯ ก็ให้ปฏิบัติตามระเบียบหลักเกณฑ์ของบีโอไอ ที่กิจการระบุไว้ในคำขอรับการส่งเสริมฯ ซึ่งได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมฯ นั้น เมื่อได้รับบัตรส่งเสริมฯ แล้ว หากประเภทกิจการที่จะประกอบการนั้นเข้าข่ายเป็นกิจการตามบัญชีสอง หรือบัญชีสาม ท้ายพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ก็ให้ยื่นขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวที่กระทรวงพาณิชย์ต่อไป

ทุน ทุนขั้นต่ำ และเงินลงทุน จึงเป็นเครื่องมือเบื้องต้นที่สำคัญในการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธุรกิจที่เข้าข่ายคนต่างด้าวยิ่งต้องเข้าใจ และถือปฏิบัติให้สอดคล้องตามกฎหมาย กรณีเป็นกิจการที่ได้รับการส่งเสริมฯ ก็ให้ปฏิบัติตามระเบียบ หลักเกณฑ์ และนโยบายส่งเสริมฯ ของบีโอไอเป็นหลัก รวมทั้งกฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวเป็นลำดับรอง แต่หากเป็นคนต่างด้าวที่ไม่ได้รับการส่งเสริมฯ ก็ให้ถือปฏิบัติตามกฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวเป็นสำคัญ

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8161 หรือที่ head@boi.go.th
กำลังโหลดความคิดเห็น