xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์เล็งปรับดอกเบี้ยตาม กนง.แย้ม “ออมทรัพย์” มีสิทธิ์ลดตาม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บิ๊กแบงก์กรุงไทย ชี้ กนง.ลงดอกเบี้ยเกินคาด ชี้ สภาพคล่องระบบยังเอื้อลดดอกเบี้ยแบงก์ได้อีก และมีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยออมทรัพย์ลงได้ หากอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 3 เดือนลงมาใกล้เคียงเกินไป พร้อมตั้งเป้าเงินฝากปีนี้โตใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 7-7.5 หมื่นล้านบาท ด้าน “ไทยพาณิชย์” เผย อยู่ระหว่างการพิจารณาคาดรู้ผลชัดเจนใน 1-2 วันนี้ ระบุ แม้ทิศทางดอกเบี้ยจะเป็นขาลงตามดอกเบี้ยนโยบาย แต่ต้องพิจารณาถึงสภาพคล่อง-แนวโน้มการปล่อยสินเชื่อประกอบด้วย

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB เปิดเผยว่า การที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.75% นั้น ถือเป็นการปรับลดลงมากกว่าที่ตลาดได้คาดการณ์ไว้ ซึ่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ ธปท.นั้นเป็นการชี้นำตลาด ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ธนาคารพาณิชย์จะนำมาใช้ประกอบการพิจารณาเกี่ยวกับนโยบายอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแต่ละแห่ง

อย่างไรก็ตาม การที่ธนาคารพาณิชย์จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยหรือไม่นั้น จะต้องมีการพิจารณาเกี่ยวกับสภาพคล่องและสภาพการแข่งขันของแต่ละธนาคารด้วยว่าเป็นอย่างไร ซึ่งในปัจจุบันสภาพคล่องของระบบธนาคารมีอยู่ที่ 4-5 แสนล้านบาท ซึ่งยังเป็นระดับที่จะสามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้อีก

ในส่วนของธนาคารกรุงไทยจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเท่าไรนั้น จะต้องมีการพิจารณากันอีกครั้ง ส่วนสภาพคล่องของธนาคารยังมีอีกมาก และอยู่ในวิสัยที่สามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกได้ ส่วนจะลดลง 0.75% เท่ากับ ธปท.หรือไม่ มองว่า ทุกอย่างมีโอกาสที่จะเป็นไปได้ทั้งหมด แต่ตอนนี้ยังตอบอะไรไม่ได้ต้องดูตลาดก่อน

ส่วนกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ขอความร่วมมือธนาคารพาณิชย์ให้ปรับลดส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (สเปรด) ลงอีกนั้น มองว่า ขณะนี้แต่ละธนาคารก็มีต้นทุนทางการเงินที่สูงพอสมควรโดยในส่วนของธนาคารกรุงไทย เองก็จะพยายามให้สเปรดอยู่ในระดับพออยู่ได้ โดยปัจจุบันธนาคารมีต้นทางภาษี 0.5% ต้นทุนการบริหารจัดการ 2% ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวขณะนี้ได้ส่งผลให้ต้นทุนทางด้านความเสี่ยงของธนาคารเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งสเปรดของธนาคารตอนนี้อยู่ที่ 2-3%

“การลงดอกเบี้ยโดยปกติก็คงจะลงทั้ง 2 ขา คือ ทั้งเงินฝากและเงินกู้ เพื่อที่จะรักษาระดับของสเปรดให้อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันหรือน้อยกว่ากันเล็กน้อย ส่วนของออมทรัพย์จะลงหรือไม่ก็คงต้องดูหากเงินฝาก 3 เดือนขยับมาใกล้ก็คงขยับ ตอนนี้ทุกอย่างเป็นไปได้หมด”

**KTB คาดเงินฝากปีนี้โต 7-7.5 หมื่น ล.**

นายอนุชิต อนุชิตานุกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส ผู้บริหารสายงาน สายงานบริหาร ผลิตภัณฑ์และการตลาด ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ปีนี้มั่นใจว่า เงินฝากจะมีการเติบโตใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 7-7.5 หมื่นล้านบาท ถึงแม้ว่าแนวโน้มทิศทางดอกเบี้ยจะเป็นขาลง ตามทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่เนื่องจากในภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่ซบเซาน่าจะเริ่มเห็นเม็ดเงินลงทุนที่เคยนำออกไปลงทุนยังต่างประเทศในช่วงก่อนหน้านี้ไหลกลับเข้าประเทศ โดยคาดการณ์เม็ดเงินดังกล่าวน่าจะอยู่ที่ประมาณ 2-3 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ ตั้งเป้ารายได้จากการใช้จ่ายผ่านบัตร ATM ปีนี้ที่ 2.8 พันล้านบาท ขณะที่ค่าฟีคาดว่าจะขยายตัว 30% ทั้งนี้ ตั้งเป้าบัตร ATM ใหม่ปีนี้ที่ 6 ล้านใบ และบัตร Debit ที่ 2.5 ล้านใบ โดยบัตร Debit มีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น ส่วนตู้ ATM ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนเครื่องอีก 1 พันเครื่อง ขณะที่การทำธุรกรรมผ่าน ATM ปีนี้คาดจะเพิ่มขึ้น 1-1.5 ล้านรายการ จากปัจจุบันที่ 36 ล้านรายการ

**SCB ยันไม่เป็นผู้นำลดดอกเบี้ย**

นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายงานผลิตภัณฑ์เงินฝากและการลงทุน ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB เปิดเผยว่า จากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.75% เหลือ 2% นั้น ในส่วนของธนาคารไทยพาณิชย์เองคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1-2 วัน จึงจะรู้ผลชัดเจนว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงตามอย่างไร เนื่องจากต้องพิจารณาในเรื่องของสภาพคล่องและแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อประกอบกัน โดยการพิจารณานั้นธนาคารไม่ได้มีแผนที่จะเป็นผู้นำในการปรับลดแต่จะดูที่สภาพแวดล้อมโดยรวมมากกว่า

“การลดดอกเบี้ยของ กนง.ก็เป็นการชี้นำนโยบายอัตราดอกเบี้ย ซึ่งแบงก์ก็คงจะต้องตามไปกับแนวโน้มทั้งภาวะตลาดด้วย ส่วนการจะปรับลงแค่ด้านของเงินกู้อย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะมันเป็นเรื่องของความแข็งแกร่ง ซึ่งหมายถึงการที่แบงก์จะต้องมีการกำไรด้วย และผู้ฝากเงินก็ต้องอยากฝากกับแบงก์ที่แข็งแกร่ง แต่ในช่วงอัตราดอกเบี้ยลงแบบนี้ทางเราก็ต้องเข้าไปดูแลลูกค้าด้วย”

ส่วนทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงต่อจากนี้ ก็น่าจะยังมีการปรับตัวลดลงต่อแต่คงไม่ลงแรงมากนัก เนื่องจากต้องรอดูถึงการตอบสนองของระบบเศรษฐกิจจากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงว่าจะมีการตอบสนองเร็วหรือช้าอย่างไร และควรจะลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกแค่ไหน เพราะถ้าใช้ยาแรงมากหรือใช้ในขนาดที่ไม่เหมาะสมก็อาจจะทำให้เกิดผลข้างเคียงซึ่งอาจเป็นผลลบได้ ทั้งนี้ คาดว่า การลดอัตราดอกเบี้ยนั้นจะเห็นทั้งหมดภายในครึ่งปีแรกนี้

อย่างไรก็ตาม ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของไทยจะลงไปอยู่ที่ 0% ตามแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกาหรือไม่นั้น มองว่า ยังไม่เห็นถึงความจำเป็นที่จะให้อัตราดอกเบี้ยของไทยลงไปอยู่ในระดับดังกล่าว เพราะไทยไม่ได้มีปัญหาในเรื่องของความเชื่อมั่นต่อระบบสถาบันการเงิน อีกทั้งไม่ได้มีปัญหาเกี่ยวกับราคาสินทรัพย์ที่ถูกปรับราคาลง ซึ่งสถาบันการเงินของไทยถือได้ว่ามีแข็งแกร่งค่อนข้างมาก

“แบงก์พาณิชย์จะมีการปรับลดลงในอัตราไหนนั้นยังคงต้องพิจารณาต่อไป เพราะในขณะนี้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือนของแบงก์ต่างๆ นั้นอยู่ในอัตราเพียงกว่า 1% เท่านั้น ส่วนนโยบายในด้านเงินฝากนั้นคงต้องมีการขยายกันต่อไป แต่ในส่วนของลูกค้าจะมีปัญหาเรื่องของดอกเบี้ยที่ยังมีแนวโน้มจะลดลง เช่น ขณะนี้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือนของธนาคารไทยพาณิยช์ให้อยู่ที่ 1.4% หากมีการลดดอกเบี้ยลงอีก 0.75% ก็จะทำให้ดอกเบี้ยหล่นไปเกือบเท่ากับดอกเบี้ยออมทรัพย์ ทำให้ดอกเบี้ยออมทรัพย์อาจต้องขยับตามก็เป็นไปได้ แต่ก็ต้องรอติดตามดูต่อไปก่อน”
กำลังโหลดความคิดเห็น