โฆษกคลัง คาด จัดเก็บรายได้รัฐบาลปีงบประมาณ 2552 ได้ไม่ถึงเป้า 1.59 ล้านล้านบาท เผย ไตรมาสแรก รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 272,837 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 52,334 ล้านบาท คิดเป็น 16.1% ระบุ สาเหตุหลักมาจากการจัดเก็บภาษีน้ำมัน ภาษีมูลค่าเพิ่ม และการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ ต่ำกว่าเป้าหมาย พร้อมยอมรับ การจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้า และการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้ประชาชน กลับเป็นการส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจไทย ลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชน-เพิ่มอำนาจการซื้อ
วันนี้ (08 มกราคม 2552) นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง คาด การจัดเก็บรายได้รัฐบาลปีงบประมาณ 2552 จะต่ำกว่าประมาณการที่ตั้งไว้ 1.585 ล้านล้านบาท แต่อยู่ในระดับที่ไม่กระทบความยั่งยืนทางการคลัง เนื่องจากผลการจัดเก็บรายได้ช่วงไตรมาสแรกต่ำกว่าประมาณการถึง 52,334 ล้านบาท หรือ 16.1% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการ “6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤติเพื่อคนไทยทุกคน” ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศมีแนวโน้มชะลอตัวลง
ทั้งนี้ ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลประจำเดือนธันวาคม 2551 อยู่ที่ 76,249 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 22,836 ล้านบาท หรือ 23.0% ส่งผลให้ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2552 (ตุลาคม-ธันวาคม 2551) จัดเก็บได้ 272,837 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 52,334 ล้านบาท
แต่การเก็บรายได้ได้ต่ำกว่าเป้าหมายและการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับภาคเอกชนจำนวนมาก กลับช่วยลดผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ เนื่องจากอำนาจซื้อประชาชนไม่ลดลงมากจากการเก็บภาษีและเอกชนมีสภาพคล่องหมุนเวียนเพิ่มขึ้นจากการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่สูงกว่าเป้าหมาย
“นอกจากการจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมจัดเก็บในสังกัดกระทรวงการคลังที่ต่ำกว่าประมาณการ 17,261 ล้านบาทแล้ว การคืนภาษีของกรมสรรพากรยังสูงกว่าประมาณการ 9,270 ล้านบาท”
สำหรับภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีน้ำมัน โดยภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 5,140 ล้านบาท เป็นผลจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากทั้งการนำเข้าสินค้าและการบริโภคภายในประเทศต่ำกว่าประมาณการ ส่วนภาษีน้ำมันจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 4,759 ล้านบาท จากผลการลดภาษีน้ำมันดีเซล และแก๊สโซฮอล์จาก 6 มาตรการ 6 เดือนฯ ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะหมดลงในสิ้นเดือน ม.ค.นี้
ขณะที่ช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2552 (ตุลาคม-ธันวาคม 2551) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 272,837 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 52,334 ล้านบาท หรือ 16.1% สาเหตุหลักมาจากการจัดเก็บภาษีน้ำมัน ภาษีมูลค่าเพิ่ม และการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจที่ต่ำกว่าเป้าหมาย นอกจากนี้ การคืนภาษีของกรมสรรพากรที่สูงกว่าประมาณการถึง 16,961 ล้านบาท หรือ 36.4% จึงส่งผลให้รายได้สุทธิของรัฐบาลต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้
ผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานสรุปได้ดังนี้กรมสรรพากรจัดเก็บได้รวม 226,928 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 7,155 ล้านบาท คิดเป็น 3.1% ภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมและภาษีเงินได้นิติบุคคลยังเก็บได้สูงกว่าประมาณการ
กรมสรรพสามิต จัดเก็บได้รวม 55,400 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 17,567 ล้านบาท หรือ 24.1% สาเหตุสำคัญมาจากการจัดเก็บภาษีน้ำมันที่ต่ำกว่าประมาณการถึง 13,861 ล้านบาทจากผลกระทบจากการลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลและแก๊สโซฮอล์ และภาษีรถยนต์ที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 2,753 ล้านบาท ตามการชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจ
กรมศุลกากรจัดเก็บได้รวม 24,177 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1,723 ล้านบาท คิดเป็น 6.7% เนื่องจากอากรขาเข้าจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 1,717 ล้านบาท หรือ 6.8% เป็นผลจากการชะลอตัวของมูลค่าการนำเข้าสินค้าเป็นสำคัญ
รัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้ 11,924 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 10,506 ล้านบาท หรือ 46.8% จากการที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ขอเลื่อนการนำส่งรายได้ออกไป รวมทั้ง บมจ.ทีโอที ยังไม่สามารถนำส่งรายได้ค่าธรรมเนียมการสื่อสารตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
หน่วยงานอื่นนำส่งรายได้รวม 22,835 ล้านบาท สูงกว่าประมาณ 1,240 ล้านบาท หรือ 5.7% ขณะที่การคืนภาษีของกรมสรรพากร 63,607 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 16,961 ล้านบาท หรือ 36.4% สาเหตุสำคัญมาจากการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่สูงกว่าประมาณการ