xs
xsm
sm
md
lg

สศค.ปรับจีดีพี ปี 52 เหลือ 1% ใช้จ่าย/ส่งออกเดี้ยง-กรณ์รับสภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ปรับลดประมาณการจีดีพีปีหน้า เหลือ 1% จากเดิมที่คาดไว้ในระดับ 4-5% ซึ่งเป็นการชะลอตัวต่อเนื่องจากปี 51 ที่คาดว่า จะเติบโตเพียง 3% ลดลงจากปีก่อนที่เติบโต 4.9% ชี้ ปัจจัยการใช้จ่ายภาคเอกชนไม่ฟื้น และปริมาณการส่งออกลดลง

สำนักงานเศราฐกิจการคลัง (สศค.) โดย นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการ ระบุว่า ในปีหน้าการใช้จ่ายภาคเอกชนยังไม่มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน โดยการบริโภคภาคเอกชนน่าจะขยายตัวชะลอลงจากปี 2551 เนื่องจากรายได้ของภาคครัวเรือนมีแนวโน้มลดลงตามรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวลดลงมากตามราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก บวกกับความไม่แน่นอนในเรื่องการจ้างงาน

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ประคับประคองไม่ให้การบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวลงไปมาก คือ การที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะลดลงมากตามราคาน้ำมันและราคาโภคภัณฑ์ต่างๆ ในตลาดโลก ด้านการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวลดลงจากปีนี้ เนื่องจากนักลงทุนยังชะลอการตัดสินใจลงทุนเพื่อรอดูสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและทิศทางเศรษฐกิจไทย นอกจากนั้น ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการคาดว่าจะขยายตัวน้อยลงจากปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวเร็วและรุนแรง ด้านปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการคาดว่าจะชะลอลงเช่นกัน ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม

ทั้งนี้ การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนและประคับประคองให้อุปสงค์ภายในประเทศไม่ชะลอตัวลงอย่างรุนแรงมาก โดยคาดว่า การบริโภคภาครัฐและการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวจากฐานที่ต่ำในปีนี้

“การเร่งการใช้จ่ายของภาครัฐให้เป็นรูปธรรมโดยเฉพาะในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก และการเสริมสภาพคล่องผ่านการให้สินเชื่อแก่ภาคธุรกิจอย่างเพียงพอ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวได้ในกรณีสูงที่ 2.0%”

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศจะปรับตัวดีขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะชะลอตัวลง เนื่องจากแนวโน้มราคาน้ำมันดิบที่คาดว่าจะปรับลดลงมาก แต่ในด้านเสถียรภาพภายนอกประเทศ มีความเสี่ยงจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่คาดว่าจะขาดดุล เนื่องจากการขาดดุลการค้า โดยคาดว่ามูลค่าส่งออกและการนำเข้าจะหดตัว ประกอบกับดุลบริการที่คาดว่าจะขาดดุลต่อเนื่องจากปัญหาด้านการท่องเที่ยว

นายสมชัย กล่าวว่า ทั้งปีเศรษฐกิจยังขยายตัวได้ร้อยละ 3 ลดลงจากปี 2550 ที่ขยายตัวได้ 4.9% ส่วนเศรษฐกิจปี 2552 คาดว่า จะเติบโตเพียง 1% เนื่องจากการใช้จ่ายภาคเอกชนยังไม่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างชัดเจน รายได้ของภาคครัวเรือนมีแนวโน้มลดลงตามราคาสินค้าเกษตรที่ลดลง ประกอบกับความไม่แน่นอนในเรื่องการจ้างงาน นักลงทุนยังชะลอการตัดสินใจลงทุนเพื่อรอดูสถานการณ์ รวมทั้งปริมาณการส่งออกสินค้าลดลงมาอยู่ที่ 0.6% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวอย่างรุนแรง

โดยเศรษฐกิจเดือนพฤศจิกายน 2551 พบว่า เศรษฐกิจชะลอตัวลดลงอย่างมากจากการส่งออกขยายตัวติดลบ 18% ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไตรมาส 4 ปีนี้ จะขยายตัวติดลบ 2-3%

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค สศค.กล่าวว่า ในปีหน้าทั่วโลกจะหันมาใช้นโยบายค่าเงินอ่อน เพื่อบริหารเศรษฐกิจ หลังจากมีการลดดอกเบี้ยไปอย่างเต็มที่แล้ว ซึ่งไทยต้องดูแลค่าเงินไม่ให้อ่อนหรือแข็งกว่าคู่ค้า ส่วนทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คาดว่า อยู่ในช่วงขาลง ซึ่งมองว่าในปีหน้าธนาคารแห่งประเทศไทย จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 0.5-1% จากปัจจุบัน 2.75% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

*** “กรณ์” บอกร้ายแรงสุดในรอบหลายสิบปี

จากกรณีดังกล่าว นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เปิดเผยว่า การรายงานการประเมินภาวะเศรษฐกิจไตรมาสที่ 4 ในปี 2551 ของ สศค.พบว่า การขยายตัวติดลบ ขณะที่ปี 2552 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 0-2% นั้น ถือเป็นภาวะที่ร้ายแรงสุดในรอบหลายสิบปี ดังนั้น จึงรัฐบาลจึงต้องออกมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจ
กำลังโหลดความคิดเห็น