เศรษฐกิจแย่! คลังรับรายได้ภาษี "น้ำมัน-เบียร์-รถยนต์" หดวูบ พบตัวเลขใช้จ่าย "รัฐบาลชาย" เกินตัว ปล้นเงินคงคลัง 1.38 แสนล้าน ละเลงโครงการประชานิยม โดยไม่เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นหด-กำลังซื้อหาย
วันนี้ (16 ธันวาคม 2551) นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสด 2 เดือนแรกปีงบประมาณ 2552 โดยระบุว่า รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 202,616 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 13.2 โดยมีสาเหตุหลักมาจากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตที่สำคัญลดลง อาทิ น้ำมัน เบียร์ และรถยนต์
นอกจากนี้ ยังเป็นผลจากการเลื่อนนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ อย่างไรก็ดี การนำส่งรายได้ของส่วนราชการอื่นเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่สำคัญ ได้แก่ ค่าภาคหลวงปิโตรเลียม
ส่วนรายจ่ายรัฐบาล เบิกจ่ายจำนวน 258,918 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 8.3 แบ่งเป็นรายจ่ายปีปัจจุบัน 234,495 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 12.8 ของวงเงินงบประมาณ 1.835 ล้านล้านบาท และรายจ่ายปีก่อน 24,423 ล้านบาท
ขณะที่ดุลการคลังรัฐบาลตามกระแสเงินสด จากรายได้นำส่งคลังและการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาล ส่งผลให้ดุลเงินงบประมาณขาดดุล 56,302 ล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุลจำนวน 107,447 ล้านบาท โดยมีสาเหตุหลักจากการไถ่ถอนตั๋วเงินคลังสุทธิจำนวน 66,000 ล้านบาท การถอนคืนภาษีมูลค่าเพิ่มของกรมสรรพากรเพื่อโอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรวม 15,775 ล้านบาท ทำให้ดุลเงินสดของรัฐบาลขาดดุล 163,749 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลชดเชยการขาดดุลดังกล่าวโดยการออกพันธบัตร 25,000 ล้านบาท และใช้เงินคงคลัง 138,749 ล้านบาท
นายสมชัย กล่าวอีกว่า ในเดือนพฤศจิกายน 2551 ที่ผ่านมา รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลัง 108,886 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือน เดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 7.1 ซึ่งเป็นผลจากการจัดเก็บภาษีที่จัดเก็บจากการบริโภค และการนำเข้าชะลอตัวลง ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม อากรขาเข้า และภาษีสรรพสามิต รวมทั้งการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจที่ลดลง
ขณะที่รัฐบาลมีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้น 165,201 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 30.1 เนื่องจากมีเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณหลังจากที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2551 โดยมีการเบิกจ่ายที่สำคัญ ได้แก่ รายจ่ายเงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการ รายจ่ายให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำหรับโครงการรับชำระหนี้กองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และรายจ่ายสำหรับโครงการพัฒนาศักยภาพหมู่บ้านและชุมชนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แบ่งเป็นรายจ่ายประจำจำนวน 131,280 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.9 และรายจ่ายลงทุนจำนวน 18,023 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.3
ทั้งนี้ จากรายได้นำส่งคลังและการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของรัฐบาลดังกล่าวส่งผลให้ดุลเงินงบประมาณในเดือนพฤศจิกายน 2551 ขาดดุล 56,315 ล้านบาท เมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณซึ่งขาดดุล 48,019 ล้านบาท โดยมีสาเหตุหลักจากการไถ่ถอนตั๋วเงินคลังสุทธิ 20,000 ล้านบาท และการถอนคืนรายได้จากการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำหนดแผนฯ งวดที่ 6 จำนวน 10,670 ล้านบาท ส่งผลให้รัฐบาลขาดดุลเงินสด 104,334 ล้านบาท และรัฐบาลได้ชดเชยการขาดดุลด้วยการออกพันธบัตรจำนวน 15,000 บาท