xs
xsm
sm
md
lg

“ยานยนต์-อิเลกทรอนิกส์” โคม่า “เอาต์ซอร์ส” 2 แสน เสี่ยงลอยแพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โรงงานอิเลกทรอนิกส์-ยานยนต์ จ่อคิวเลิกจ้าง สหภาพฯ เตือนไตรมาส 1 ปีหน้า สถานการณ์รุนแรงขึ้น ออเดอร์เริ่มหมดลง และยังไม่มีคำสั่งใหม่เข้ามา เอาต์ซอร์ส 2 แสนคน เสี่ยงถูกลอยแพ พร้อมระบุ รายได้หลักมาจาก “โอที” หวั่นเงินเดือนหลัก ไม่พอยาไส้เลี้ยงครอบครัว เพราะแรงงานส่วนใหญ่มีหนี้สิน ทั้งผ่อนบ้าน-ผ่อนรถ หวั่นผลกระทบลุกลาม ฝากรัฐบาลใหม่เข้าดูแลโดยเร่งด่วน

วันนี้ (13 ธันวาคม 2551) นางอัมพร นิติศิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวถึงสถานการณ์เลิกจ้างงานในขณะนี้ พบว่า สถานประกอบการหลายแห่งได้พยายามปรับตัว ซึ่งเห็นได้จากในหลายแห่งที่มีการเลิกจ้าง ก็จะมีการบอกกล่าวล่วงหน้า และจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมาย เพราะตอนนี้ผู้ประกอบการไปไม่ไหวแล้วจริงๆ แต่คิดว่าอนาคตอาจจะกลับมาดำเนินธุรกิจอีก

นางอัมพร ระบุว่า บางบริษัทเคยมีออเดอร์ 7-8 แสนหน่วย ก็เหลือแค่หลักพัน แต่พวกเขาก็พยายามปรับตัวไปหาตลาดใหม่ๆ ทั้งในลาว กัมพูชา บางบริษัทมีการวางระบบที่ดี ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การมีสหภาพแรงงาน ถือว่าไม่ใช่เรื่องที่เลวร้าย เพราะกลไกของสหภาพแรงงาน อาจช่วยในการเจรจากับพนักงาน และเป็นเครดิตในการกู้เงินจากสถาบันการเงินได้อีกด้วย

นางอัมพร กล่าวว่า ตนเองได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่รวบรวมข้อมูลสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบเป็น 3 ระดับ คือ เลิกจ้าง มีแนวโน้มเลิกจ้าง และโรงงานได้รับผลกระทบ จนทำให้สภาพการจ้างเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยจะนำเข้ามูลเหล่านี้ไปใช้วางแผนในการแก้ไขปัญหาให้ทันกับสถานการณ์

นางอัมพร กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการตรวจสอบล่าสุด พบว่า โรงงานอิเลกทรอนิกส์กำลังประสบปัญหามากที่สุด และได้รับรายงานล่าสุดว่า สัปดาห์หน้าโรงงานในย่าน จ.ปทุมธานี จะเลิกจ้างลูกจ้างอีกหลายพันคน ซึ่งขณะนี้ เจ้าหน้าที่ของกระทรวงได้เข้าไปติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยส่วนใหญ่จ่ายค่าชดเชยต่างๆ ตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม คาดว่า อย่างไรเสียอุตสาหกรรมด้านอิเลกทรอนิกส์ ยังคงต้องมีอยู่โดยเห็นได้จากนายจ้างเอง ยังยอมจ่ายเงินตามกฎหมาย ซึ่งแตกต่างจากวิกฤตตอนปี 2540 ซึ่งขณะนั้นตั้งตัวกันไม่ทัน

นางอัมพร ยังกล่าวถึงการเรียกร้องโบนัสของพนักงานในช่วงสิ้นปี ว่า ขณะนี้ยังไม่รุนแรง และพบว่า มีเพียงแค่ 2 แห่ง ที่ยื่นข้อเรียกร้อง คือ บริษัทประกอบรถยนต์ฟอร์ดที่ จ.ระยอง และบริษัทยานภัณฑ์ ซึ่งเรื่องการจ่ายโบนัสเป็นเรื่องข้อตกลงสภาพการจ้างที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงร่วมกัน ซึ่งเมื่อถึงสิ้นปีจะจ่ายโบนัสมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับการเจรจาตกลงกันเอง

**กลุ่มยานยนต์ 2 แสนคน จ่อลอยแพ

นายยงยุทธ เม่นตะเภา ประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า แรงงานในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบ มีจำนวนประมาณ 5 แสนคน แต่สิ่งที่กำลังเป็นห่วง คือ แรงงานเหมาค่าแรงที่มีอยู่กว่า 2 แสนคน ซึ่งขณะนี้เริ่มทยอยถูกเลิกจ้างไปแล้ว

โดยในส่วนของโรงงานประกอบรถยนต์โตโยต้า มีพนักงาน 15,000 คน เป็นลูกจางเหมาค่าแรงกว่า 8 พันคน ตอนนี้เลิกจ้างไปแล้ว 200 คน เช่นเดียวกับลูกจ้างเหมาค่าแรงของโรงงานจีเอ็ม เลิกจ้างไปแล้ว 200 คน ล่าสุด ทราบว่า โรงงานของอีซูซุ ซึ่งมีลูกจ้าง 3-4 พันคน ก็ได้ลดเวลาการทำงานจากที่เคยเข้า 2 กะ เหลือเพียงกะเดียว ซึ่งต้องตั้งคำถามว่า หากเลิกจ้างแล้ว คนงานเหล่านี้ไปอยู่ที่ไหน แถมยังมีการเปิดรับให้ลาออกโดยสมัครใจด้วย

นายยงยุทธ ระบุว่า ช่วงไตรมาสแรกปี 2552 ในเดือนมีนาคม และเมษายน สถานการณ์เลิกจ้างจะยิ่งรุนแรงขึ้น เพราะออเดอร์เริ่มหมดลง และยังไม่มีคำสั่งใหม่เข้ามา ลูกจ้างส่วนใหญ่ของโรงงานประกอบรถยนต์มีเงินเดือนเพียง 7-8 พันบาท แต่ที่ได้ 2 หมื่นบาท เพราะทำงานล่วงเวลา หากไม่มีงานล่วงเวลาแล้ว คนงานคงต้องลำบากกันมากขึ้น เพราะต่างกู้หนี้ยืมสิน ผ่อนบ้านผ่อนรถกันไว้แล้ว พวกเขาจะไปหาเงินมาจากไหนกัน

นายยงยุทธ กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2542 กิจการด้านประกอบรถยนต์เติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการลดค่าเงินบาท ซึ่งผู้ประกอบการต่างมีกำไรสะสม และขยายโรงงานกันใหญ่โต และตลอด 9 เดือนแรกของปีนี้ ก็ยังมีกำไรอยู่ เพียงแต่ช่วงนี้เท่านั้นที่เกิดปัญหาซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจในสหรัฐฯ ทำให้คำสั่งซื้อจากตะวันออกกลาง ยุโรป ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ลดลง ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงยังควรจ่ายโบนัสให้พนักงานเหมือนเดิม

“ผมเชื่อว่า ลูกจ้างเอาต์ซอร์สจะถูกเลิกจ้างกันเกือบหมดในกิจการประกอบรถยนต์ ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงแรงงานความติดตามสถานการณ์ให้ใกล้ชิดกว่านี้ ควรตั้งคณะกรรมการระดับชาติร่วมระหว่างสหภาพแรงงานและราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหา เพราะตอนนี้มีหลายบริษัทที่ฉวยโอกาสเลิกจ้างระหว่างที่ลูกจ้างยื่นข้อเรียกร้อง” นายยงยุทธ กล่าวสรุปทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น