xs
xsm
sm
md
lg

ยอดNPLรายธุรกิจลด1.5หมื่นล้าน ภาคอุตฯครองแชมป์หนี้เน่ามากสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธปท.เผยยอดเอ็นพีแอลสุทธิรายธุรกิจไตรมาส 3 ลดลง 1.58 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ของปีนี้ โดยภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนเอ็นพีแอลสูง และเกิดลูกหนี้รายใหม่-ลูกหนี้รีเอ็นทรีเพิ่มขึ้นมากสุดในระบบ ขณะที่ธุรกิจอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลและธุรกิจพาณิชย์ก็เริ่มมีเอ็นพีแอลเพิ่มมากขึ้น

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งว่า สายนโยบายสถาบันการเงินของธปท.ได้ประกาศยอดหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่ยังไม่ได้หักเงินสำรองแยกตามประเภทธุรกิจล่าสุด ณ สิ้นเดือนก.ย.หรือไตรมาส 3 ของปีนี้ พบว่า ภาคธุรกิจมียอดคงค้างเอ็นพีแอลทั้งสิ้น 4.36 แสนล้านบาท คิดเป็น 6.05%ของสินเชื่อรวม ทำให้ยอดเอ็นพีแอลสุทธิแล้วลดลง 1.58 หมื่นล้านบาท หรือลดลง 3.49%สินเชื่อรวม เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

โดยภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนหนี้มากที่สุดในระบบถึง 39.37%ต่อยอดเอ็นพีแอล จากปัจจุบันที่มียอดคงค้างทั้งสิ้น 1.72 แสนล้านบาท รองลงมาเป็นธุรกิจพาณิชย์ 14.35% จากยอดคงค้าง 6.25 หมื่นล้านบาท และอันดับสามธุรกิจอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล 13.69% ยอดคงค้าง 5.97 หมื่นล้านบาท และอันดับสี่ธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ 12.34% ยอดคงค้าง 5.38 หมื่นล้านบาทในไตรมาสนี้

ทั้งนี้ ในไตรมาส 3 สาเหตุให้ยอดเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นทั้งสิ้น 7.17 หมื่นล้านบาท ซึ่งเกิดจากลูกหนี้รายใหม่ 4.23 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นส่วนของธนาคารพาณิชย์ไทย 4.03 หมื่นล้านบาท สาขาธนาคารต่างชาติ 1.76 พันล้านบาท และบริษัทเงินทุนอีก 260 ล้านบาท ส่วนลูกหนี้รายเก่าที่ปรับโครงสร้างหนี้แล้วกลับมาเป็นเอ็นพีแอลใหม่ (รีเอ็นทรี) มูลค่า 1.25 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีเฉพาะในส่วนของธนาคารพาณิชย์ไทยเท่านั้น และเป็นหนี้จากเหตุผลอื่นๆ อีก 1.69 หมื่นล้านบาท แยกเป็นธนาคารพาณิชย์ไทย 1.61 หมื่นล้านบาท และอีก 768 ล้านบาทเป็นหนี้ของสาขาธนาคารต่างชาติ

โดยหากพิจารณาเป็นรายธุรกิจจะพบว่า ลูกหนี้รายใหม่เกิดจากภาคอุตสาหกรรมมากที่สุดถึง 1.78 หมื่นล้านบาท การอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล 9.67 พันล้านบาท การพาณิชย์ 4.40 พันล้านบาท ธุรกิจบริการ 2.95 พันล้านบาท ธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ 2.91 พันล้านบาท สาธารณูปโภค 1.97 พันล้านบาท ก่อสร้าง 1.32 พันล้านบาท เกษตร ประมง และป่าไม้ 680 ล้านบาท ธนาคารและธุรกิจการเงิน 498 ล้านบาท และเหมืองแร่และย่อยหิน 102 ล้านบาท ตามลำดับ

ขณะที่ลูกหนี้ในกลุ่มรีเอ็นทรี พบว่าอันดับหนึ่งเกิดจากธุรกิจอุตสาหกรรม 3.77 พันล้านบาท อันดับสองอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล 2.38 พันล้านบาท อันดับสามพาณิชย์ 1.74 พันล้านบาท บริการ 1.57 พันล้านบาท ธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ 1.40 พันล้านบาท การเกษตร ประมง และป่าไม้ 594 ล้านบาท การก่อสร้าง 504 ล้านบาท การสาธารณูปโภค 359 ล้านบาท การเหมืองแร่และย่อยหิน 200 ล้านบาท รวมถึงการธนาคารและธุรกิจการเงิน 12 ล้านบาท

ส่วนยอดเอ็นพีแอลลดลงทั้งสิ้น 8.75 หมื่นล้านบาท ในไตรมาสนี้ ซึ่งสาเหตุแยกเป็นเข้ากระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ 2.67 หมื่นล้านบาท และเหตุผลอื่นอีก 6.08 หมื่นล้านบาท ซึ่งเมื่อพิจารณาเฉพาะการปรับโครงสร้างหนี้ พบว่า แม้ธุรกิจอุตสาหกรรมจะครองแชมป์ทั้งสัดส่วนหนี้ต่อเอ็นพีแอล ภาคธุรกิจที่เกิดลูกหนี้รายใหม่และลูกหนี้ประเภทรีเอ็นทรีมากที่สุดในระบบ แต่ก็มียอดเอ็นพีแอลลดลงมากสุดในระบบเช่นกัน คือ 1.60 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ การธนาคารและธุรกิจการเงินลดลง 2.87 พันล้านบาท การพาณิชย์ 2.28 พันล้านบาท การอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล 1.90 พันล้านบาท ธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ 1.49 พันล้านบาท การบริการ 1.08 พันล้านบาท เหมืองแร่และย่อยหิน 269 ล้านบาท เกษตร ประมง และป่าไม้ 294 ล้านบาท ก่อสร้าง 279 ล้านบาท สาธารณูปโภค 179 ล้านบาท และภาคธุรกิจอื่นๆ อีก 4 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น