xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจพ่นพิษซ้ำเติมรากหญ้า สินเชื่อบุคคลQ3ยอดค้างพุ่ง7พันล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธปท.เผยไตรมาส 3 สินเชื่อบุคคลยอดค้างเพิ่มขึ้น 7.36 พันล้านบาท แต่หนี้กลับลดลง 39 ล้านบาท โดยนอนแบงก์เท่านั้นที่มีหนี้เพิ่มขึ้นกลับทางกับระบบ ส่วนธุรกิจบัตรเครดิตมียอดคงค้างสินเชื่อเพิ่มขึ้น 2.29 พันล้านบาท ทำให้หนี้เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น 40 ล้านบาท ซึ่งแบงก์พาณิชย์เพิ่มขึ้นมากสุดในระบบ 130 ล้านบาท ขณะที่ปริมาณการใช้จ่ายโดยรวมลดลง 950 ล้านบาท ซึ่งเป็นการลดลงของการใช้จ่ายทั้งในประเทศ-ต่างประเทศ รวมถึงเบิกเงินสดล่วงหน้า

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แจ้งว่า สายนโยบายสถาบันการเงินของธปท.ได้ประกาศตัวเลขสินเชื่อบุคคลภายใต้การกำกับดูแลของธปท.ล่าสุดในเดือนกันยายนหรือไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ พบว่า สถาบันการเงินในระบบมียอดสินเชื่อคงค้างทั้งสิ้น 2.29 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.36 พันล้านบาท จากไตรมาสก่อน หรือคิดเป็น 3.33% ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ประกอบการทั้งธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์(นอนแบงก์) มียอดสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้น 5.19 พันล้านบาท และ 2.48 พันล้านบาท ตามลำดับ แต่สาขาธนาคารต่างชาติกลับลดลง 312 ล้านบาท

ส่วนหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) มียอดอยู่ที่ 9.32 พันล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อน 39 ล้านบาท ลดลง 0.42% โดยธนาคารพาณิชย์ไทยมีหนี้ลดลง 102 ล้านบาท สาขาธนาคารต่างชาติลดลง 83 ล้านบาท และดูแลหนี้ไม่ให้เพิ่มขึ้น ขณะที่นอนแบงก์เท่านั้นที่กลับมีหนี้เพิ่มขึ้น 146 ล้านบาท ทั้งนี้ ภายใต้ปริมาณบัญชีที่มีอยู่ในระบบทั้งสิ้น 11.37 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้น 1.75 แสนบัญชี

นอกจากนี้สายนโยบายสถาบันการเงินยังได้รายงานภาพรวมของธุรกิจบัตรเครดิตของไตรมาสที่ 3 ของปีนี้เช่นกัน โดยยอดสินเชื่อคงค้างมีจำนวน 1.81 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 2.29 พันล้านบาท คิดเป็น 1.28% โดยนอนแบงก์เพิ่มขึ้นมากสุดในระบบ 1.58 พันล้านบาท รองลงมาธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้น 967 ล้านบาท และสาขาธนาคารต่างชาติลดลง 258 ล้านบาท ขณะที่หนี้เอ็นพีแอลมีอยู่ 5.54 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 40 ล้านบาท คิดเป็น 0.73% โดยสาขาธนาคารต่างชาติลดลง 69 ล้านบาท นอนแบงก์ลดลง 21 ล้านบาท แต่ธนาคารพาณิชย์กลับเพิ่มขึ้น 130 ล้านบาท จากไตรมาสก่อน

ทั้งนี้ ในไตรมาสนี้ในระบบมีปริมาณบัตรเครดิตทั้งสิ้น 12.68 ล้านใบ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 3.23 แสนใบ คิดเป็น 2.61%

ส่วนปริมาณการใช้จ่ายโดยรวมมีทั้งสิ้น 7.44 หมื่นล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อนแค่ 950 ล้านบาท คิดเป็น 1.26% ซึ่งธนาคารพาณิชย์ลดลง 1.10 พันล้านบาท และนอนแบงก์ลดลง 85 ล้านบาท ส่วนสาขาธนาคารต่างชาติยังคงมีปริมาณการใช้จ่ายโดยรวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 202 ล้านบาท โดยหากพิจารณาตามปริมาณการใช้จ่ายประเภทต่างๆ พบว่า ปริมาณการใช้จ่ายในประเทศไตรมาสนี้ที่มีอยู่ 5.52 หมื่นล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อน 778 ล้านบาท การเบิกเงินสดล่วงหน้า 1.62 หมื่นล้านบาท ลดลง 144 ล้านบาท และปริมาณการใช้จ่ายในต่างประเทศมีอยู่ 2.93 พันล้านบาท ลดลง 29 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า แม้ยอดคงค้างสินเชื่อบุคคลจะเพิ่มขึ้น แต่หนี้กลับลดลง แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความระมัดระวังมากขึ้นในการดูแลธุรกิจและไม่ให้หนี้เพิ่มขึ้นในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ขณะที่ธุรกิจบัตรเครดิตมีปริมาณการใช้จ่ายลดลงทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการเบิกเงินสดล่วงหน้า ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ทำให้ประชาชนระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น แต่หนี้ก็เพิ่มขึ้นตามยอดสินเชื่อบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น ซึ่งต้องเรื่องที่ต้องจับตาดูต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น