เจพีมอร์แกนฯ คาดเฟดจะหั่น ดบ.อีก 2 ครั้ง จนเหลือ 0% ในปีหน้า เพื่อแก้ไขปัญหาเงินฝืด และเชื่อว่าจะคงเอาไว้ที่ระดับ 0% ตลอดทั้งปี หลังจากดัชนีราคาผู้บริโภค ร่วงลงรุนแรงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่บริษัทเอกชนประกาศปลดพนักงาน ธนาคารพาณิชย์แห่ลดอัตราการปล่อยกู้
วันนี้ ( 20 พ.ย.) สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า บริษัท เจพีมอร์แกน เชสแอนด์โค คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจลดอัตราดอกเบี้ยมาอยู่ที่ระดับ 0% ในช่วง 2 เดือนข้างหน้า เพื่อป้องกันภาวะเงินฝืด
โดยบทวิเคราะห์ของนายไมเคิล เฟโรลี นักเศรษฐศาสตร์เจพีมอร์แกนฯ ระบุว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งละ 0.5% ในการประชุมวันที่ 16 ธ.ค.นี้ และวันที่ 28 ม.ค.ปีหน้า พร้อมเชื่อว่า เฟดจะคงไว้ที่ระดับดังกล่าวอย่างน้อยตลอดปี 2009 เพื่อป้องกันไม่ให้อัตราเงินเฟ้อลดลงอย่างรวดเร็ว หลังบริษัทลดพนักงานและธนาคารลดการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งจะฉุดรั้งการใช้จ่ายผู้บริโภค
"ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (fed fund rate) ของเฟดยืนอยู่ที่ระดับ 1% เราคาดว่าเฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นลงอีก 2 ครั้ง จนเหลือ 0% และจะตรึงอัตราดอกเบี้ยไปจนตลอดทั้งปี เพื่อปกป้องเศรษฐกิจจากภาวะเงินฝืด หลังจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐร่วงลงรุนแรงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่บริษัทเอกชนประกาศปลดพนักงานและธนาคารพาณิชย์หลายแห่งลดอัตราการปล่อยกู้"
นายไมเคิล กล่าวว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจาก 1% มาอยู่ที่ 0% ไม่ได้ทำให้เครื่องมือในการดำเนินงานนโยบายของเฟดหมดไป โดยเฟดควรเริ่มพยายามมากขึ้นด้วยการซื้อหนี้ของแฟนนี่แม เฟรดดี้แมค และบรรษัทสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์รายอื่นๆ ที่อยู่ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลสหรัฐฯ
"สำหรับเฟดแล้ว การตั้งเป้าอัตราดอกเบี้ยที่ 0% ไม่ถือว่าสูญเปล่า เพราะเป็นหนึ่งในแนวทางที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวต่อไปได้ และจะไม่สร้างความเสียหายต่อกลไกด้านนโยบายการเงินของเฟด เมื่อพิจารณาสถานการณ์เศรษฐกิจที่ย่ำแย่ในเวลานี้ สมควรที่เฟดจะเร่งดำเนินการกอบกู้โดยเร็ว"
ทั้งนี้ เฟดคงไม่ใช่ธนาคารกลางแห่งเดียวของโลก ที่ยอมลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกหลายครั้ง เพื่อยับยั้งเศรษฐกิจจากภาวะถดถอย โดยเมื่อเดือนที่แล้วธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ก็ตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยลงสู่ระดับ 0.3% ขณะที่ธนาคารกลางยุโรปส่งสัญญาณว่าพร้อมที่จะลดดอกเบี้ยลงอีก หลังจากที่ประกาศลดไปแล้ว 2 ครั้งในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา
ก่อนหน้านี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนี CPI เดือน ต.ค.ร่วงลง 1%ต่อเดือน ซึ่งเป็นสถิติที่ร่วงลงครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการคำนวณดัชนี CPI ในปี พ.ศ.2490 และหากเมื่อเทียบเป็นรายปี ดัชนีซีพีไอเดือน ต.ค.ปรับตัวขึ้น 3.7%ต่อปี เมื่อเทียบกับเดือน ต.ค.ในปี พ.ศ.2550 และเป็นสถิติรายปีที่เพิ่มขึ้นน้อยที่สุดในรอบ 1 ปี
ส่วนดัชนี CPI พื้นฐานซึ่งไม่รวมหมวดอาหารและพลังงาน ลดลง 0.1% ต่อเดือน และเมื่อเทียบเป็นรายปี ดัชนี CPI พื้นฐานปรับตัวขึ้น 2.2% ต่อปี เมื่อเทียบกับเดือนต.ค.ในปี พ.ศ.2550