xs
xsm
sm
md
lg

นายธนาคารกลางอาวุโสของโลกรับยังไม่ชัวร์ผลวิกฤตสินเชื่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไฟแนนเชียลไทมส์ - บรรดาเจ้าหน้าที่อาวุโสของธนาคารกลางแห่งสำคัญๆ ของโลก ยอมรับว่า ถึงแม้วิกฤตสินเชื่อได้เกิดขึ้นมานานกว่าหนึ่งปีแล้ว แต่พวกเขายังคงอยู่ในความมืดมน ไม่สามารถคาดเดาให้ชัดๆ ได้ว่า ถึงที่สุดแล้ววิกฤตการเงินครั้งนี้จะส่งกระทบอย่างไรต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม

นอกจากนี้ธนาคารกลางเหล่านี้ก็ยังไม่แน่ใจว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะต้องอ่อนตัวลงเท่าไร จึงจะเพียงพอสำหรับการช่วยให้อัตราเงินเฟ้อลดลง

"ตอนนี้ยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันของเราเป็นอย่างมาก" สแตนลีย์ ฟิชเชอร์ ผู้ว่าการธนาคารกลางของอิสราเอล ซึ่งเคยเป็นรองกรรมการผู้จัดการคนที่หนึ่งของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) กล่าวในการปิดการประชุมหารือกึ่งพักผ่อน (รีทรีต) ประจำปีของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่จัดขึ้น ณ แจ็คสัน โฮล มลรัฐไวโอมิง

คำกล่าวของฟิชเชอร์ออกมาในช่วงเดียวกับที่กระทรวงการคลังของสหรัฐฯ กำลังทำงานหนักเพื่อหาทางออกให้กับแฟนนี เม และเฟรดดี แมค 2 ยักษ์ใหญ่สถาบันสินเชื่อที่อยู่อาศัย ที่ดำเนินงานโดยมุ่งสนองนโยบายของรัฐและตอนนี้กำลังมีปัญหาหนี้เสียอย่างรุนแรง บรรดาคนในวงการการเงินสหรัฐฯต่างคาดว่าจะมีมาตรการใหม่ๆ เพิ่มเติมออกมาภายในสัปดาห์นี้

ฟิชเชอร์ กล่าวต่อหน้าผู้ฟังที่เป็นนายธนาคารกลางจาก 34 ชาติว่า "เรากำลังอยู่ในวิกฤตการเงินครั้งร้ายแรงที่สุดในตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา" แต่ก็ยังเห็นไม่ชัดเจนว่าสถานการณ์จะลุกลามไปถึงเพียงไหน

"เมื่อมองในตัวแปรของภาคเศรษฐกิจแท้จริงแล้ว เราก็ยังไม่เห็นอะไรที่มีปัญหาเป็นพิเศษ" อย่างไรก็ตามเขากล่าวว่า ตอนนี้วิกฤตเข้าสู่ "ยกที่ 2" ซึ่งทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจในภาพรวมและวิกฤตภาคการเงิน สามารถที่จะส่งผ่านปัญหาให้กันและกันได้

นอกจากกับฟิชเชอร์แล้ว บรรดานักการธนาคารกลางต่างก็ร่วมแสดงความคิดเห็นที่ไปในทิศทางเดียวกันนี้ อลัน ไบลเดอร์ ซึ่งเคยเป็นรองประธานธนาคารกลางของสหรัฐฯ กล่าวว่า "มันเป็นเรื่องน่าฉงนยิ่งที่เมื่อหนึ่งปีผ่านไป ยังคงมีหลายปัจจัยยังไม่ได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้น"

พวกเจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายการเงินของประเทศต่างๆ เหล่านี้ ยังไม่มีแน่ใจเศรษฐกิจโลกจะไปทางไหนกันแน่ จะสามารถทนทานต่อแรงเสียดสีของวิกฤตการเงิน ภายหลังจากที่ได้มีการใช้นโยบายเข้าไปแทรกแซงแก้ไขกันในระดับหนึ่งแล้ว หรือว่ายังจะมีปัญหาสาหัสกว่านี้รออยู่ข้างหน้า

พวกเขาต่างคาดการณ์กันว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวภายในปีหน้า แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ยังไม่สามารถที่จะตัดความเสี่ยงที่ว่าวิกฤตการเงินบวกกับผลกระทบของวิกฤตราคาน้ำมัน จะฉุดให้เศรษฐกิจโดยรวมพังพาบลงไปด้วยกัน

นอกจากนี้พวกเขาก็ยังเห็นแตกต่างกันในเรื่องแรงกดดันของเสี่ยงที่กำลังเพิ่มขึ้น ฝ่ายธนาคารกลางสหรัฐฯ เห็นว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจยุโรปเป็นเครื่องบ่งชี้ที่ว่าวิกฤตสินเชื่อตึงตัวกำลังลุกลามไปในประเทศอุตสาหกรรมทั้งหลาย

ในขณะที่ธนาคารกลางยุโรป บอกว่า ปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจของยูโรโซนชะลอตัวลง คือการที่ราคาน้ำมันแพงขึ้นและค่าเงินยูโรก็แข็งขึ้นอย่างมากต่อเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ไม่ได้เป็นเพราะสภาพสินเชื่อที่ตึงตัวเหือดหายไปแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม บรรดานายธนาคารกลางทุกคนยอมรับว่าพวกเขาต้องการให้เศรษฐกิจอ่อนตัวลงเพื่อกดให้อัตราเงินเฟ้อลดลง แต่ปัญหาก็คือเศรษฐกิจต้องอ่อนตัวลงเท่าใดถึงจะทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลง และอัตราเงินเฟ้อจะลดลงเท่าใด

การที่ราคาสินค้าแพงขึ้นอย่างมากเป็นปัญหาที่ธนาคารกลางทุกประเทศกังวล แม้ว่าราคาน้ำมันขณะนี้ทำท่ามีแนวโน้มร่วงลงอย่างต่อเนื่อง และพวกเขาต่างก็เห็นว่าเบน เบอร์นันกี ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ กล้าหาญที่พูดเรื่องนี้ขึ้นมาในสุนทรพจน์ของเขาในวันศุกร์ที่ผ่านมา

ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐฯ ลดอัตราดอกเบี้ยรวมถึง 3.25% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในขณะที่ธนาคารกลางอังกฤษลดอัตราดอกเบี้ยไป 0.75% และธนาคารกลางยุโรปขึ้นอัตราดอกเบี้ยไป 0.25%

ปัจจัยที่ทำให้ธนาคารกลางเหล่านี้มีทิศทางที่ต่างกัน ก็เพราะว่าสหรัฐฯ นั้นเป็นศูนย์กลางของวิกฤตการเงินของโลก รวมทั้งเป็นแหล่งกำเนิดของปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ด้วย ดังนั้นจึงไม่มีความเสี่ยงเรื่องค่าแรงและราคาสินค้าพุ่งขึ้นมากนัก เพราะเศรษฐกิจนั้นอ่อนตัวลงมากแล้ว กระนั้นก็ตาม นายธนาคารกลางส่วนใหญ่ก็เชื่อว่า กระทั่งเมื่อพิจารณากันถึงเรื่องนี้ บรรดาธนาคารกลางใหญ่ๆ ทั้งหลายก็มีความแตกต่างกันในเชิงยุทธศาสตร์อยู่ดี ในเรื่องของวิธีที่จะต่อสู้กับปัญหา

นายธนาคารกลางบางแห่ง กล่าวว่า นโยบายของเฟดนั้นมีโอกาสที่เพิ่มอัตราเงินเฟ้อขึ้น ในขณะที่ธนาคารกลางอื่นๆ กังวลว่าธนาคารกลางยูโรโซนอาจกำลังทำให้อัตราดอกเบี้ยนั้นอยู่ในระดับสูงเกินไปและนานเกินไปจนประคองเศรษฐกิจที่กำลงชะลอตัวไม่ทัน

ทางด้าน ยามาตะ ยามากูชิ อดีตผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นออกมาเตือนว่า ในช่วงที่มี "ความผันผวนสูงเป็นพิเศษ" มักจะเกิดความผิดพลาดเชิงนโยบายได้ง่ายๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น