xs
xsm
sm
md
lg

คลังถลุงงบกลางปีอีกแสน ล.ขาดดุล 3.5 แลกจีดีพีเพิ่ม 1.5%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“สุชาติ” หน้ามืด เล็งถลุงงบกลางปีอีก 1 แสนล้าน หวังกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้จีดีพีเพิ่มอีก 1.5% เผย สัดส่วนการขาดดุลงบประมาณเพิ่มเป็น 3.5% อ้างช่วยเกิดการสร้างงานสร้างรายได้ให้ประชาชนฐานราก พร้อมลงนามต่ออายุมาตรการช่วยเหลือธุรกิจอสังหาฯ อีก 1 ปี เข้า ครม.สัปดาห์หน้า

นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.คลัง เปิดเผยว่า จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตั้งงบประมาณกลางปี 2552 เพิ่มอีก 1 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้สัดส่วนการขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นเป็น 3.5% ของอัตราผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จากเดิมที่ขาดดุลอยู่ 2.495 แสนล้านบาท หรือ 2.5% ของจีดีพี ซึ่งการขาดดุลเพิ่มเติมจะเพียงพอที่จะดูแลคนที่มีรายได้น้อย ทำให้เกิดการจ้างงาน มีงานทำ มีรายได้เพิ่ม และดูแลเรื่องรายจ่ายของคนที่มีรายได้น้อย รวมทั้งจะช่วยให้จีดีพีในปี 2552 ขยายตัวเพิ่มขึ้นได้อีก 1-1.5%

สำหรับเหตุผลที่ตั้งงบขาดดุลเพิ่มจำนวนมาก เพราะสัดส่วนภาครัฐมีเพียง 25% ของจีดีพี ขณะที่ภาคเอกชนอยู่ที่ 75% เมื่อสัดส่วนของภาคเอกชนลดลง ทำให้ภาครัฐต้องเพิ่มเงินอัดฉีดเข้าไปในระบบจำนวนมาก ซึ่งจะต้องหาวิธีการทำให้เงินงบประมาณที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการจ้างงานจำนวนมาก ทำให้เงินกระจายไปสู่ชนบทโดยเร็ว เพราะจะช่วยให้เกิดการหมุนเวียนของเงิน สร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้เพิ่มขึ้นได้ถึง 3 เท่า

นายสุชาติ กล่าวว่า ได้ปรึกษาหารือเรื่องการตั้งงบกลางปีกับ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีคลังเงา ซึ่งก็เห็นด้วยและได้เสนอแนะแนวทางให้นำมาใช้

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มงบประมาณยังอยู่ในกรอบวินัยทางการคลัง โดยสัดส่วนหนี้สาธารณะไม่เกิน 50% ของจีดีพี ส่วนสัดส่วนการขาดดุลงบประมาณเกิน 2.5% ของจีดีพี จะทำให้ขาดวินัยการเงินการคลังหรือไม่จะต้องหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง

“หากมีคนตกงานจำนวนมาก เราก็ต้องดูกรอบความคิดเดิมที่เป็นอุปสรรค ก็ต้องนำมาพิจารณา เพราะเศรษฐกิจไม่ดี รัฐบาลต้องเพิ่มรายจ่าย ซึ่งหากเกินกรอบวินัยในด้านต่างๆ ก็จะต้องขอเป็นกรณีพิเศษ เพราะถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉินจริงๆ และมีความจำเป็นต้องตั้งงบกลางปีเพิ่มขึ้นอีก 1 แสนล้านบาท”

ทั้งนี้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2552 (ต.ค.51-ก.ย.52) มีวงเงิน 1.835 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.5% จากปีงบประมาณ 2551 โดยเป็นงบประมาณขาดดุล 2.495 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 2.5% ของจีดีพี โดยรัฐบาลต้องกู้เงินและออกพันธบัตรเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ปรับโครงสร้างหนี้รัฐบาล และลงทุนโครงการขนาดใหญ่ รัฐบาลจัดทำแผนขาดดุลงบประมาณ ก็เพื่อใช้เงินภาครัฐมากระตุ้นเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

นายสุชาติ กล่าวด้วยว่า คลังได้ลงนามเห็นชอบให้ขยายเวลามาตรการทางภาษีกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ ครม.มีมติเห็นชอบ 4 มี.ค.2551 เช่น การลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จาก 3% เหลือ 0.1% การลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองเหลือ 0.01% ซึ่งช่วย ที่จะสิ้นสุดในต้นปีหน้าออกไปอีก 1 ปี โดยคาดว่าจะเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติในสัปดาห์หน้า

นายโอฬาร ไชยประวัติ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มีความเป็นห่วงเรื่องการว่างงาน และเศรษฐกิจการเงิน เพราะหากจีดีพีลดลงทุก 1% จะทำให้มีคนว่างงานเพิ่มขึ้น 4 แสนคน ดังนั้น รัฐบาลจะต้องพยายามกระตุ้นให้จีดีพีปี 2552 ขยายตัวได้ 4%

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่จำเป็นต้องออกมาตรการเพิ่มเติม เนื่องจาก 6 มาตรการ ที่รัฐบาลออกไป ซึ่งมีทั้งมาตรการตลาดทุน มาตรการด้านสภาพคล่อง การส่งเสริมให้มีรายได้เพิ่มจากการส่งออกและการท่องเที่ยว เพียงพอที่จะดูแลในทุกๆ ด้าน ทั้งรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ ความร่วมมือกับต่างประเทศ เช่น การตั้งกองทุนร่วมกับประเทศอาเซียน+3 ที่จะมีข้อสรุปในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน+3 วันที่ 15 ธ.ค.2551 ที่ จ.เชียงใหม่

สำหรับการตั้งงบกลางปีเพิ่มมีความจำเป็น โดยจะนำไปใช้ในโครงการที่ไม่ต้องเปิดประมูล เพื่อให้เงินลงไปถึงประชาชนได้เร็ว เพราะการการเบิกจ่ายงบประมาณที่ผ่านมามีความล่าช้า และการขาดดุลเงินสดปีที่ผ่านมาต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้มาก โดยตั้งเป้าขาดดุลเงินสด 3 แสนล้านบาท แต่ขาดดุลเงินสดได้จริงเพียง 8 หมื่นล้านบาท ขณะที่การส่งออกก็ชะลอตัว ทำให้รัฐบาลต้องเร่งการใช้จ่ายภายในประเทศเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัว

“การพิจารณาเพิ่มงบประมาณกลางปีอีก 1 แสนล้านบาทมีสัดส่วนไม่มากนักในปีงบประมาณ 52 ที่มีอยู่จำนวน 1.8 ล้านล้านบาท แต่จะช่วยให้อัดฉีดงบประมาณลงไปได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น” นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลัง กล่าวเสริมและว่า จะวางแนวทางเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณของส่วนราชการและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีการติดตามประเมินผลทุก 7 วัน ซึ่งหากส่วนราชการใดมีประวัติการเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้าต่อเนื่องกัน 3 ปี จะมีผลต่อการขออนุมัติงบประมาณในอนาคตด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น