xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจไตรมาส4โตไม่ถึง4% วิกฤตเงินโลกฉุดยาวถึงปีหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จากเครื่องชี้เศรษฐกิจรายเดือนที่หน่วยงานต่างๆ ได้มีการรายงานล่าสุด ตัวเลขเศรษฐกิจหลายด้านของเดือนกันยายน 2551 สะท้อนว่าผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจในต่างประเทศและเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง ส่งผลให้ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3/2551 มีทิศทางชะลอตัวลงค่อนข้างมาก และมีแนวโน้มที่การชะลอตัวจะยังคงต่อเนื่องในไตรมาสถัดๆ ไป

เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3... ขยายตัวต่ำสุดในรอบกว่า 1 ปี
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไทยในไตรมาสที่ 3/2551 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะประกาศในวันที่ 24 พฤศจิกายน จะมีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 4.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (Year-on-Year) ชะลอลงอย่างมาก จากอัตราการขยายตัวร้อยละ 5.3 ในไตรมาสที่ 2/2551

ขณะเดียวกัน ถ้าหากพิจารณาถึงอัตราการขยายตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (Seasonally Adjusted Q-o-Q) คาดว่าอยู่ที่ร้อยละ 0.2 จากร้อยละ 0.7 ในไตรมาสที่ 2/2551 ซึ่งเป็นการชะลอตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี

สาเหตุที่เศรษฐกิจชะลอตัวลง ที่สำคัญเป็นผลมาจากการชะลอตัวของการลงทุน และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงขึ้น โดยดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 2.46 พันล้านดอลลาร์ฯ เพิ่มขึ้นจากที่ขาดดุล 1.02 พันล้านดอลลาร์ฯ ในไตรมาสที่ 2/2551 และเป็นการขาดดุลในรูปดอลลาร์ฯ สูงสุดในรอบ 13 ไตรมาส (หรือในรอบ 9 ไตรมาส ตามมูลค่าในรูปเงินบาท) ตามการชะลอตัวของการส่งออก และการหดตัวในภาคการท่องเที่ยวจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง

สำหรับการบริโภคของภาคเอกชนอาจยังไม่ดีขึ้นมากนัก เนื่องจากแรงกดดันเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่สูงแม้ว่าจะลดลงจากในไตรมาสที่ 2/2551 จากการดำเนินการ “6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤติเพื่อคนไทยทุกคน” ของรัฐบาล โดยอัตราเงินเฟ้อในไตรมาสที่ 3/2551 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 7.3 ชะลอลงจากร้อยละ 7.5 ในไตรมาสที่ 2/2551 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบประมาณ 10 ปี

ในด้านการผลิต จากเครื่องชี้เศรษฐกิจรายเดือน คาดว่าภาคเกษตรกรรมมีอัตราการขยายตัวชะลอลง โดยเป็นผลจากด้านปริมาณเป็นสำคัญ ขณะที่การผลิตในภาคอุตสาหกรรมก็มีทิศทางชะลอตัว ส่วนภาคการก่อสร้าง โรงแรมและภัตตาคารคาดว่าจะหดตัวลงตามปัจจัยลบทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว

ไตรมาสที่ 4 ต่อเนื่องถึงปี52 … วิกฤติการเงินกระทบเศรษฐกิจชะลอตัว
ความเสี่ยงที่สำคัญสำหรับเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าคือ ปัญหาวิกฤติการเงินในสหรัฐฯ ที่ขยายผลลุกลามกลายเป็นวิกฤติการเงินในระดับโลก สร้างความวิตกกังวลว่าจะทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก โดยวิกฤตการณ์การเงินในครั้งนี้นับได้ว่าเป็นครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 80 ปี นับจากเหตุการณ์เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ทั่วโลก (The Great Depression) ที่เริ่มต้นในปี 1928 ปัญหาดังกล่าว จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการส่งออก ซึ่งอัตราการขยายตัวของการส่งออกในไตรมาสที่ 4/2551 มีแนวโน้มชะลอลง

ส่วนเศรษฐกิจกลุ่มประเทศเกิดใหม่ต่างได้รับผลกระทบจากวิกฤตินี้ และเครื่องชี้เศรษฐกิจเริ่มสะท้อนการชะลอตัวเช่นเดียวกัน โดยในขณะนี้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมส่งออกของไทยเริ่มออกมาระบุว่าคำสั่งซื้อใหม่ที่จะส่งมอบในปีหน้าหายไปถึงร้อยละ 20-30 ความเสี่ยงที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือสถานการณ์ทางการเมือง ส่งผลกระทบอย่างมากต่อความเชื่อมั่นต่อไทยในสายตาของนักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างชาติ โดยมีการยกเลิกแผนการเดินทางของนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจต่างชาติที่จะเข้ามาในไทย แต่สถานการณ์อาจดีขึ้นกว่าช่วงเดือนกันยายน เนื่องจากการชุมนุมจำกัดวงอยู่เพียงในกรุงเทพฯ

สำหรับแนวโน้มการลงทุน สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองและเสถียรภาพของรัฐบาลเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักลงทุนจำนวนไม่น้อย ยังคงชะลอแผนการลงทุนเอาไว้ก่อน จุดสำคัญที่หลายฝ่ายจับตามองคือคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในคดียุบพรรคการเมือง 3 พรรค คือพรรคพลังประชาชน ชาติไทย และมัชฌิมาธิปไตย ซึ่งจะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองอีกครั้งหากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคการเมืองดังกล่าว

นอกจากนี้ เมื่อเกิดวิกฤติการเงินอันส่งผลให้สภาพคล่องในระบบการเงินโลกตึงตัว รวมทั้งมีผลต่อผลประกอบการของธุรกิจ โดยการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินมีความยากลำบากขึ้น สภาพเศรษฐกิจและตลาดการเงินที่ไม่เอื้ออำนวยนี้จะเป็นอุปสรรคอีกประการหนึ่งต่อแนวโน้มการลงทุนในระยะข้างหน้า

อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่อาจส่งผลดีต่อการบริโภคของภาคเอกชนคือ การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก แม้ว่ากลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันเพื่อการส่งออก หรือ โอเปค จะประกาศลดกำลังการผลิตลง 1.5 ล้านบาร์เรล/วันแล้วก็ตาม โดยราคาน้ำมันดิบในช่วงนี้ลดลงเกือบร้อยละ 60 จากช่วงสูงสุดเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าโอเปคอาจจะพิจารณาลดการผลิตลงอีก ส่วนราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉลี่ยลดลงมากว่าร้อยละ 40 จากช่วงสูงสุดเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ คาดว่าถ้าราคาน้ำมันยังคงทรงตัวในระดับใกล้เคียงกับปัจจุบัน อัตราเงินเฟ้อในไตรมาสสุดท้ายน่าจะต่ำลงมาได้มาก โดยอาจมีค่าเฉลี่ยลงไปอยู่ที่ร้อยละ 3.0 ในไตรมาสที่ 4/2551 จากร้อยละ 7.3 ในไตรมาสที่ 3/2551

ในด้านการใช้จ่ายของรัฐบาล คาดว่ารัฐบาลคงจะพยายามเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ โดยวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2552 อยู่ที่ 1,835,000 ล้านบาท เป็นการจัดทำงบประมาณขาดดุลมูลค่า 249,500 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.4 ของจีดีพี นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีแนวทางที่จะจัดทำงบประมาณกลางปีเพิ่มเติมอีกจำนวน 100,000 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการจ้างงาน ซึ่งงบประมาณที่เพิ่มเข้ามานี้จะทำให้การขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.4 ของจีดีพี (และจะเป็นอัตราการขาดดุลสูงสุดในรอบ 6 ปี นับจากปี 2545 ที่มีการจัดทำงบประมาณขาดดุลร้อยละ 3.6 ของจีดีพี) แต่ยังไม่น่าจะกระทบต่อเสถียรภาพการคลังตามกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ต้องการรักษาระดับหนี้สาธารณะไว้ไม่เกินร้อยละ 50 ของจีดีพี และรักษาระดับภาระหนี้ของรัฐบาลต่อวงเงินงบประมาณรายจ่ายไว้ไม่เกินร้อยละ 15

ทั้งนี้ คาดว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4/2551 มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวมากขึ้น โดยอาจขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 4 ส่งผลให้อัตราการขยายตัวเฉลี่ยของทั้งปี 2551 อาจอยู่ระหว่างร้อยละ 4.7-5.0 เป็นระดับที่ใกล้เคียงกับร้อยละ 4.8 ในปี 2550 ขณะที่การชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยอาจจะยิ่งชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2552

โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3/2551 จะมีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 4.3 ชะลอลงอย่างมากจากร้อยละ 5.3 ในไตรมาสที่ 2/2551 โดยสาเหตุสำคัญเนื่องจากการชะลอตัวของการลงทุน การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการชะลอตัวของการส่งออกและการหดตัวของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ขณะที่การบริโภคอาจยังไม่ดีขึ้นมากนัก เนื่องจากแรงกดดันราคาสินค้ายังคงเป็นระดับที่สูง โดยกิจกรรมในภาคการผลิตส่วนใหญ่อ่อนแรงลง ทั้งภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ส่วนภาคการก่อสร้าง และการท่องเที่ยวและภัตตาคารอาจหดตัวลง

ทั้งนี้ หลายฝ่ายจึงคาดหวังต่อบทบาทของภาครัฐในการดำเนินนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลเองก็มีแนวทางเร่งรัดการเบิกจ่าย รวมทั้งผลักดันโครงการลงทุนในเมกะโปรเจกต์ นอกจากนี้ยังมีแนวทางจัดทำงบกลางปีสำหรับปีงบประมาณ 2552 เพิ่มเติมอีก 100,000 ล้านบาท ซึ่งถ้าสามารถดำเนินการให้เม็ดเงินลงสู่เศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง จะมีส่วนช่วยให้จีดีพีเติบโตเพิ่มขึ้นและช่วยบรรเทาปัญหาการว่างงานได้ ขณะเดียวกันอัตราเงินเฟ้อที่อ่อนตัวลงจะเปิดทางให้ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายได้มากขึ้นเพื่อประสานกับนโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐบาลมีแผนการใช้จ่ายวงเงินเป็นมูลค่าสูงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ผลที่จะมีต่อเศรษฐกิจอย่างแท้จริงนั้น ยังต้องขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพการเบิกจ่ายของรัฐ รวมถึงคุณภาพและประสิทธิผลของโครงการต่างๆ อุปสรรคที่สำคัญคือความต่อเนื่องของนโยบายที่อาจถูกกระทบจากความไม่แน่นอนทางการเมือง และความล่าช้าในขั้นตอนการดำเนินโครงการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งจะทำให้เม็ดเงินงบประมาณที่ลงไปสู่เศรษฐกิจอย่างแท้จริงอาจไม่สูงดังที่ตั้งเป้าหมายไว้ นอกจากนี้ ปัญหาทางการเมืองที่อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชน ก็อาจทำให้ประสิทธิผลทางนโยบายไม่สามารถสร้างผลทวีคูณให้เกิดการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการลงทุนในเศรษฐกิจตามมาดังเช่นยามที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะปกติ

ที่มา: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงข้อมูลได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณของตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็นหรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น