xs
xsm
sm
md
lg

เร่งรัดการใช้จ่ายในประเทศ แนวทางที่ภาครัฐควรเร่งดำเนินการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ได้ออกบทวิเคราะห์เกี่ยวกับแนวนโยบายการบริหารจัดการความเสี่ยงการลงทุนรวมของประเทศไทยในช่วงที่เหลือของปี โดยระบุว่าสำหรับแนวโน้มการลงทุนภาคเอกชนในช่วงที่เหลือของปี 2551 นั้น มีโอกาสฟื้นตัวช้าโดยเฉพาะในภาคก่อสร้างโดยพบว่าปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ซึ่งเป็นสัดส่วนหลักในวัสดุก่อสร้างหดตัวมากถึงร้อยละ -15.0 ต่อปี เนื่องจากแนวโน้มราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวสูงอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 30.0 ต่อปี ทั้งนี้หากพิจารณาในรายละเอียดประเภทการลงทุนในสิ่งก่อสร้างแล้วพบว่ากลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมชะลอตัวลงมากในขณะที่กลุ่มอาคารพาณิชย์และที่อยู่อาศัยยังขยายตัวได้ดี

ขณะเดียวกันการที่รัฐบาลมีมาตรการเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการลงทุนภาคก่อสร้างที่ชะลอตัวผ่านมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นและสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (4 มีนาคม 2551) โดยได้มีการปรับลดอัตราภาษีอสังหาริมทรัพย์เป็นระยะเวลา 1 ปี นั้นทำให้ปริมาณธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวในระดับสูงตั้งแต่เดือนเมษายน 2551 – เดือนกรกฎาคม 2551 เห็นได้จากยอดการจัดเก็บภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉลี่ย 4 เดือนหลังจากปรับลดภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวที่ร้อยละ 32.5 ต่อปี ส่วนการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรของภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากอัตราการขยายตัวของปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนในเดือนสิงหาคม 2551

ส่วนแนวโน้มของการลงทุนภาครัฐนั้น จากข้อมูลการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2551 พบว่า รัฐบาลเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนได้แล้วจำนวน 249.2 พันล้านบาท ทั้งนี้การเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐบาลสามารถเบิกจ่ายได้ตามเป้าหมาย ซึ่งการเบิกจ่ายงบลงทุน 11 เดือนแรกสูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 74.0 ของกรอบวงเงินรายจ่ายลงทุนทั้งปีงบประมาณ 2551

อย่างไรก็ตามรัฐบาลจำเป็นต้องติดตามการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนที่จัดสรรให้แก่ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ว่า อปท.สามารถใช้จ่ายเงินลงทุนดังกล่าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจต่อไปอย่างไร ซึ่งในช่วง 11 เดือนของปีงบประมาณ 2551 รัฐบาลได้มีการโอนงบลงทุนให้แก่ อปท. ไปแล้วจำนวน 117.3 พันล้านบาท ซึ่งหากรัฐบาลโอนงบประมาณรายจ่ายลงทุนให้แก่ อปท. แล้ว แต่ไม่สามารถดำเนินการเบิกจ่ายได้ตามแผนการลงทุนจะทำให้เม็ดเงินการลงทุนของภาครัฐยังไม่สามารถเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพื่อช่วยกระตุ้นการลงทุนของประเทศได้ตามเป้าหมาย

ด้านการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจในปีงบประมาณ 2551 สศค. ระบุว่ามีการเบิกจ่ายสะสมแล้วถึงเดือนสิงหาคม 2551 จำนวน 160.8 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 48.9 จากกรอบวงเงินลงทุนที่ได้รับอนุมัติจำนวน 329.0 พันล้านบาท โดยการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจบางแห่งยังถือว่ามีความล่าช้าและไม่เป็นไปตามแผนงาน เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย เนื่องจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงอยู่ระหว่างกระบวนการจัดหาบริษัทผู้ดำเนินการก่อสร้าง และการรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เพราะโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงบางใหญ่-บางซื่ออยู่ระหว่างการจ่ายชดเชยค่าเวนคืนที่ดินและโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง-บางแคและบางซื่อ-ท่าพระอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดหาผู้รับเหมา โดยคาดว่าจะดำเนินการโครงการได้จริงในปีงบประมาณ 2552 ทำให้คาดว่าการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจสำหรับปี 2551 น่าจะต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ร้อยละ 90.0 ของกรอบวงเงินงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ

 เร่งMega Projectกระตุ้นลงทุนภาคเอกชน

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อสนับสนุนการลงทุนในช่วงที่เหลือของปี 2551ว่า ปัจจุบันรัฐบาลมีแผนการลงทุนในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ สำหรับช่วงปีงบประมาณ 2552-2555 โดยมีกรอบวงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้นกว่า 1.88 ล้านล้านบาท ทั้งนี้จากการวิเคราะห์โดยแบบจำลองเศรษฐกิจมหภาคของ สศค. พบว่า หากภาครัฐสามารถดำเนินการเร่งรัดโครงการลงทุนขนาดใหญ่ได้ตามแผนที่ตั้งไว้คาดการณ์ว่าจะทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (Real GDP growth) ในปี 2552-2555 สามารถขยายตัวเพิ่มขึ้นจากกรณีฐาน (ร้อยละ 5.3-5.6 ต่อปี) ได้ที่ร้อยละ 0.3-0.6 ต่อปี และจะส่งผลกระทบต่อดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลเพิ่มจากกรณีฐานที่ร้อยละ (-0.3) – (-0.7) ของ GDP สำหรับในช่วงปี 2552 – 2555 อย่างไรก็ตามในระยะปานกลาง สศค. คาดว่าฐานะดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศไทยจะยังคงเกินดุลต่อเนื่อง และไม่น่าจะเป็นข้อจำกัดสำหรับการลงทุนที่เพิ่มขึ้นตามนโยบายภาครัฐในอนาคตต่อไป

ส่วนข้อเสนอแนะเชิงนโยบายอื่นๆ เพื่อสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชนนั้น สศค. ระบุว่า ต้องมีการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวน ซึ่งหากค่าเงินบาทอ่อนลงเร็วมากจาก 31.86 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 21 พฤษภาคม 2551 มาอยู่ที่ 34.24 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 1 กันยายน 2551 อาจจะทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนนำเข้าสินค้าทุนประเภทเครื่องมือเครื่องจักร เพราะต้นทุนการนำเข้าคิดเป็นเงินสกุลบาทสูงขึ้น

นอกจากนี้ควรสนับสนุนให้การใช้จ่ายภายในประเทศให้เร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่ยังอยู่ในระดับที่ต่ำมาก เพื่อให้นักลงทุนเห็นโอกาสในการขยายการลงทุน และเร่งสนับสนุนให้ภาคธุรกิจใช้ประโยชน์จากมาตรการ 4 มีนาคม 2551 ที่ให้หักค่าเสื่อมในการลงทุนเครื่องจักรในอัตราเร่งขึ้น รวมทั้งประชาสัมพันธ์มาตรการภาษีที่ส่งเสริมการลงทุนเดิมที่ภาคธุรกิจอาจยังไม่ทราบและไม่มีการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่

ขณะเดียวกันอาจให้สถาบันการเงินของรัฐมีมาตรการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการลงทุน เช่น สินเชื่อพิเศษเพื่อการเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ และเร่งรัดการลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ยังมีอัตราการเบิกจ่ายล่าช้า โดยอัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจสะสมจนถึงเดือนสิงหาคมอยู่เพียงร้อยละ 48.9 ของกรอบวงเงินลงทุนปี 2551 ที่ได้รับอนุมัติจำนวน 329.0 พันล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การลงทุนก่อสร้างของรัฐบาลส่วนกลางที่หดตัวในไตรมาสที่ 2 ส่วนหนึ่งน่าจะมีผลจากราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก ซึ่งคิดเป็นการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณร้อยละ 25 ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 ทำให้ผู้รับเหมาเรียกร้องการปรับค่า K และชะลอการลงทุนออกไป ดังนั้นในช่วงที่เหลือของปีจำเป็นต้องเร่งพิจารณาปรับค่า K ให้เหมาะสมกับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นจากราคาวัสดุก่อสร้างอื่นๆ นอกเหนือจากเหล็กและน้ำมันดีเซลที่ปรับเพิ่มขึ้น และเร่งกำกับการลงทุนให้ตามกำหนด ตลอดจนยืดระยะเวลาจ่ายเงินชดเชยข้ามปีงบประมาณ 2551 ให้ผู้รับเหมาในกรณีที่ใช้สัญญาแบบปรับราคาได้

รวมไปถึงอาจพิจารณาใช้มาตรการงบล้างท่อฯ เพื่อกำชับให้หน่วยราชการเร่งลงทุนภายในกำหนด หากล่าช้ากว่านั้น อาจพิจารณายกเลิกโครงการ และควรประสานกับกระทรวงมหาดไทยให้เร่งให้ อปท.ในการเบิกจ่ายงบประมาณลงทุน และควรจัดทำระบบการติดตามการเบิกจ่ายงบประมาณของ อปท. ให้เป็นระบบ เพราะปัจจุบันงบประมาณในส่วนนี้ใหญ่ขึ้นมาก (ประมาณปีละ 3 แสนล้านบาท) และไม่มีหน่วยงานใดที่ติดตามตรวจสอบประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการเบิกจ่ายของ อปท. โดยควรให้กรมบัญชีกลางร่วมดำเนินการกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

ที่มา : สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
กำลังโหลดความคิดเห็น