“หอการค้า-ทีดีอาร์ไอ” เตือนรัฐบาลทายาทอสูร หางเริ่มโผล่ อัดฉีดงบประมาณเพิ่มอีก 1 แสน ลบ.ต้องกระตุ้น ศก.ให้ถูกจุด หวั่นเป้าหมายแอบแฝงใช้ภาษีประชาชนละลายแม่น้ำ-หวังปูรากฐานคะแนนนิยมทางการเมือง เตรียมจัดทีมศึกษาใกล้ชิด ไม่มั่นในมาตรการประชานิยม จะช่วยลดอัตราว่างงานได้จริง พร้อมจี้ ธปท.ลดดอกเบี้ย
วันนี้ (29 ต.ค.) นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการที่ภาครัฐเตรียมเสนอเพิ่มงบประมาณรายจ่ายกลางปี 2552 โดยขาดดุลเพิ่มอีก 1 แสนล้านบาทนั้น เชื่อว่า จะช่วยทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนได้เพิ่มขึ้นบ้าง แต่ต้องดูให้ถูกจุดว่าสิ่งที่กระตุ้นมาแล้วจะทำให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นได้แค่ไหน
การตั้งงบขาดดุลจำนวน 1 แสนล้านบาท ถือเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับที่ภาคเอกชนเสนอ ที่ต้องการให้มีการขาดดุลงบประมาณ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่จะสามารถลดปัญหาการว่างงานได้หรือไม่ คงต้องรอดูความชัดเจน ในอีก 2 สัปดาห์
กรณีดังกล่าว หอการค้าไทย คงจะทำการศึกษา เพราะการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยงบประมาณ 1 แสนล้านบาท ต้องกระตุ้นให้ถูกจุด จึงจะประสบความสำเร็จในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เช่น การกระตุ้นการบริโภคภาคประชาชน
“ตอนนี้ถือว่ามาตรการในประเทศเราดีอยู่แล้ว แต่การลงทุนใหม่ๆ คงยังไม่เกิดขึ้นแน่ ดังนั้นภาครัฐและเอกชนควรร่วมมือกันไปหาตลาดด้วยกันเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับประเทศ” นายประมนต์ กล่าว
ทั้งนี้ เนื่องจากในปี 2552 เศรษฐกิจไทยคงจะได้รับผลกระทบแน่จากปัญหาเศรษฐกิจโลก ซึ่งขณะนี้ก็ส่งผลให้การค้าขายระหว่างประเทศลดลงบ้างแล้ว เพราะฉะนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่าการส่งออกของไทยในปีหน้าจะชะลอตัวลง ภาพรวมเศรษฐกิจไทยก็จะชะลอตัวไปด้วย
ส่วนกรณีคาดการณ์การว่างงานนั้น ขณะนี้ยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน แต่จะเข้าไปดูรายละเอียดว่าจากปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ละธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างไร และกลุ่มธุรกิจไหนที่ได้รับผลกระทบบ้าง คาดว่า ภายใน 2 สัปดาห์จะเห็นความชัดเจน
นายประมนต์ กล่าวต่อว่า ตอนนี้สภาพคล่องไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่ที่น่าเป็นห่วง คือ อัตราดอกเบี้ย หากเป็นอย่างนี้อยู่อาจกระทบต่อผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่สามารถลดต้นทุนได้
ด้าน นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการด้านการพัฒนาเศรษฐกิจส่วนรวมและการกระจายรายได้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า การว่างงานคงไม่หนักเมื่อเทียบกับปี 40 เนื่องจากปัญหาตอนนี้เกิดจากการที่อุปสงค์หดตัว
ส่วนการที่รัฐบาลเพิ่มงบประมาณรายจ่ายกลางปี 2552 อีกประมาณ 1 แสนล้านบาท ต้องดูด้วยว่าจะช่วยกระตุ้นเพียงช่วงสั้นหรือไม่ ทั้งนี้ คงต้องดูระยะยาวด้วย เพราะการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเพิ่มเป็นการดึงสภาพคล่องออกจากระบบมากขึ้น ทำให้ต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจสูงขึ้น การลงทุนอาจจะชะลอตัวลงได้ และกระทบจีดีพีเช่นกัน