xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.จวก6มาตรการศก.เหลว เงินไม่ถึงมือSME-ค้านอุ้มหุ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปชป.จวก 6 มาตรการศก.เหลว เงินไม่ถึงมือSME-ค้านอุ้มหุ้น จวก 6 มาตรการรอบ 2 รัฐบาลฆาตกร ปชป.ชี้ขาดความชัดเจน จับต้องไม่ได้ เอสเอ็มอียังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน ขนาดเผยแหล่งเงินเมกะโปรเจกต์ไม่รู้กู้ที่ไหน ค้านเอาเงินซื้อหุ้นไม่สร้างประโยชน์

นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (เงา) กล่าวว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เงา ได้หารือเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชนเป็นพิเศษ รวมถึงได้วิเคราะห์มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล 6 มาตรการรอบ 2 โดย ครม.เงา รู้สึกเป็นห่วง 6 มาตรการดังกล่าว เพราะขาดความชัดเจน ไม่มีรูปธรรมที่จับต้องได้ และไม่มีคำตอบให้แก่ผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดย่อม ในแง่ของปัญหาโดยเฉพาะการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ สืบเนื่องมากจาวิกฤติทางตลาดเงินและตลาดทุนของโลก

"จะขอวิเคราะห์ 6 มาตรการนี้ และมีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลกลับไปทำการบ้าน เพราะเห็นว่า 6 มาตรการรอบ 2 นั้นไม่มีผลต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการโฆษณาของรัฐบาลที่ว่า 6 มาตรการนี้ จะนำมาซึ่งการอัดฉีดเงินสูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท เข้ามาในระบบ ความจริงแล้วเป็นเม็ดเงินเก่า ที่มีอยู่ในระบบแล้วทั้งสิ้น และก็อาจจะมีส่วนของเม็ดเงินใหม่ ที่อาจจะเข้ามาจากการสูญเสียภาษีของรัฐบาลประมาณ 900 ล้านบาท ที่จะเป็นเม็ดเงินได้มาจากการเพิ่มการลดหย่อนภาษี ในส่วนของการลงทุนในกองทุนบางประเภท ซึ่งจากการวิเคราะห์ของครม.เงาเห็นว่า ผู้ที่จะได้ประโยชน์จากมาตรการที่เข้ามาเยียวยาตลาดทุนนั้น คือผู้ที่มีรายได้สูงมาก ซึ่งมีอยู่เพียงไม่กี่หมื่นคน ดังนั้นจึงไม่ได้ตอบโจทย์ที่มีความหมายต่อประชาชนส่วนใหญ่ และไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องช่วยเหลือตลาดทุนในลักษณะนั้น" นายกรณ์กล่าว

นายกรณ์กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์มีแนวคิดว่าแทนที่จะเอาเงินมาคอยช้อนซื้อหุ้นโดยไม่สร้างประโยชน์ให้กับใคร ก็ควรที่จะมีการเตรียมวงเงินที่จะอัดฉีดเข้าไปในบริษัท ผู้ประกอบการ เพื่อรักษาเสถียรภาพและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากกว่า และรัฐบาลก็ต้องให้คำตอบกับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดย่อม ว่าจะแก้ไขปัญหาการเข้าถึงแหล่งวงเงินกู้อย่างไร รัฐบาลควรที่จะพิจารณาโครงสร้าง ในการเข้ามามีส่วนช่วยกระตุ้นให้แก่ธนาคารพาณิชย์ปล่อยวงเงินกู้ได้มากขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่เป็นการพูดลอยๆ ในการกำหนดเป้าหมายว่าจะให้ธนาคารพาณิชย์เพิ่มเงินกู้ให้กับระบบเป็นจำนวนเท่าไหร่ แต่รัฐบาลก็ไม่มีคำตอบว่าจะมีส่วนร่วมอย่างไร

รัฐบาลจึงควรจะพิจารณาว่าจะเข้ามาช่วยค้ำประกันอย่างไรบ้าง เพราะวิธีของรัฐบาลก็มีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการใช้บรรษัทค้ำประกันเงินกู้อุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) หรือจะใช้โครงสร้างของบรรษัท หรือองค์กรอื่นๆ ที่อยู่ในมือของรัฐบาล โดยเฉพาะการรักษาระดับสภาพคล่องรัฐบาลต้องให้คำตอบที่ชัดเจนด้วยว่าจากการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 6 มาตรการของรัฐบาลที่อยากจะเพิ่มวงเงินนั้น รัฐบาลจะหาแหล่งทุนจากไหน เพราะเดิมทีรัฐบาลก็พูดถึงการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศ ก็ชัดเจนว่าตอนนี้ตลาดเงินกู้จากต่างประเทศนั้นผันแปร และโอกาสที่รัฐบาลไทยจะเข้าถึงแหล่งทุนนี้ ก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงจากวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา

"อยากถามว่ารัฐบาลจะมีคำตอบเรื่องนี้อย่างไร เพราะรัฐบาลเคยพูดถึงการร่วมลงทุนกับภาคเอกชน ซึ่งตอนนี้ก็ชัดเจนว่าคงเป็นไปไม่ได้ตามแนวคิดเดิม และรัฐบาลก็พูดเพียงแต่ว่า จะกระตุ้นให้มีการลงทุนเมคกะโปรเจคต์เพิ่มขึ้น แต่ก็เป็นการพูดซ้ำๆ เหมือนที่เคยพูดมาแล้วหลายครั้ง หลายปี แต่ก็ไม่มีมาตรการที่ชัดเจนว่าจะทำให้เป็นความจริงอย่างไร ดังนั้น ขอบอกว่ายังมีประเด็นปัญหาอีกค่อนข้างมาก ในส่วนนี้ที่รัฐบาลจะต้องกลับไปทำการบ้านใหม่ และพิจารณาในการเสนอแนวนโยบายใหม่ และถ้าพร้อมที่จะฟังข้อเสนอแนะของพรรคประชาธิปัตย์ เราก็ยินดีที่จะเสนอรูปแบบของรายละเอียดเพิ่มขึ้น" นายกรณ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น