บสย. เผยยอดค้ำประกันสินเชื่อให้เอสเอ็มอีในปี 52 รวมกว่า 6 หมื่นล้าน ตั้งเป้าปี 53 ค้ำได้ถึง 1 แสนล้าน
นายพิชิต อัคราทิตย์ ประธานกรรมการ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า จากmujคณะรัฐมนตรีอนุมัติชดเชยค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อยกเว้นไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมกับลูกค้าในปีแรก เดิมจัดเก็บร้อยละ 1.75 ของวงเงินค้ำประกันที่อนุมัติจริง จากเดิมครบกำหนดในเดือน ธ.ค. แต่ให้ขยายเวลาออกไปจนถึงวันที่ 6 มี.ค.53 โดยรัฐบาลชดเชยให้เป็นวงเงิน 526 ล้านบาท ซึ่งจากมาตรการส่งเสริมแนวทางการปล่อยสินเชื่อของรัฐบาลดังกล่าว ทำให้ยอดค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในปี 52 ทำได้ประมาณ 5-6 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ จากปัจจัยบวกหลายด้านทั้งเศรษฐกิจภาพรวมเริ่มฟื้นตัว โครงการลงทุนไทยเข้มแข็งของรัฐบาล ยอดการขอค้ำประกันต่อการขอสินเชื่อได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 1,000 ล้านบาทต่อเดือน เพิ่มเป็น 5,000 ล้านบาทต่อเดือน นับว่าเอสเอ็มอีต้องการสินเชื่ออีกจำนวนมาก และการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของ บสย. คณะกรรมการจึงได้ตั้งเป้าหมายให้ บสย.ค้ำประกันสินเชื่อให้ได้ 100,000 ล้านบาท ในปี 53
และเพื่อให้สามารถทำได้ตามเป้าหมายข้างต้น จึงได้หารือกับกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทยในเบื้องต้นแล้ว ในการขยายเวลาผ่อนปรนเงื่อนไขค้ำประกันสินเชื่อออกไปถึงสิ้นปี 53 รวมไปถึงแนวทางการเพิ่มทุนให้เพียงพอต่อการค้ำประกัน เนื่องจากในปัจจุบันมีทุนจดทะเบียนอยู่ 6,000 ล้านบาท เพื่อค้ำประกันสินเชื่อในสัดส่วน 1 ต่อ 10 จะเป็นยอดสินเชื่อ 60,000 ล้านบาท หากจะปรับเพิ่มยอดค้ำประกันเป็น 100,000 ล้านบาท ต้องเพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 4,000 ล้านบาท ให้ทุนจดทะเบียนเพิ่มเป็น 10,000 ล้านบาท เนื่องจากเห็นว่าเอสเอ็มอีในประเทศยังต้องการสินเชื่อมากกว่า 4 ล้านล้านบาท โดยต้องการให้มีการค้ำประกันสินเชื่อประมาณ 2 ล้านล้านบาท ขณะที่ บสย.ยังทำหน้าที่ในสัดส่วนที่น้อยมาก หรือประมาณร้อยละ 5 ของความต้องการสินเชื่อในปัจจุบัน
นายสุรชัย ดนัยตั้งตระกูล รักษาการกรรมการผู้จัดการ บสย. กล่าวว่า เพื่อทำงานรองรับเป้าหมายดังกล่าว คงต้องปรับปรุงระบบการทำงาน ทั้งการออกไปดูแลลูกค้า การให้คำปรึกษา การปรับภาพลักษณ์องค์กรให้ประชาชนรู้จัก บสย.มากขึ้น การร่วมกับธนาคารพาณิชย์ออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินเฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะการบริหารความเสี่ยง โดยจำกัดความเสี่ยงไว้ไม่เกินร้อยละ 15.5 หากมีความเสียหายเกินวงเงินสินเชื่อในสัดส่วนดังกล่าวธนาคารพาณิชย์ จะเป็นผู้รับความเสี่ยงและหากเสียหายในวงเงินต่ำกว่าร้อยละ 15.5 กระทรวงการคลังพร้อมช่วยเหลือให้การชดเชยด้วยจึงไม่กระทบต่อฐานะการดำเนินงานขององค์กรมากนัก