หุ้นภาคบ่ายเปิดตลาดเพียง 5 นาที ดัชนีรูดหนักไปถึง 10% แล้ว หลังตลาดยุโรปร่วงแรง ขณะที่ ตลท.งัด Circuit Breaker หยุดการซื้อขาย 30 นาที ขณะที่ผู้บริหาร ตลท. และ 4 สมาคม เร่งสรุปมาตรการอุ้มตลาดหุ้น พร้อมงัดมาตรการฉุกเฉิน
บรรยากาศการซื้อขายตลาดหุ้นไทย วันนี้ เปิดตลาดภาคบ่ายเพียง 5 นาที ดัชนีร่วงลงแรงกว่า 10% โดยเมื่อเวลา 14.35 น.ดัชนีตลาดหุ้นไทยได้ปรับตัวลดลงไปที่ระดับ 449.91 จุด ลดลง 50.08 จุด หรือคิดเป็น 10.02% มูลค่าการซื้อขาย 10,537.02 52.41 ล้านบาท หลังตลาดยุโรปร่วงลงแรง โดยทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ใช้มาตรการหยุดการซื้อขายชั่วคราว (Circuit Breaker) เป็นเวลา 30 นาที หลังจากตลาดหุ้นภาคบ่ายร่วงแรงแตะ 10% เข้าเกณฑ์ โดยระบุว่า ตลท.เตรียมจะมีการออกข่าวชี้แจงในเร็วๆ นี้
ตลท.ระบุว่า ตลาดหลักทรัพย์หยุดทำการซื้อขายหลักทรัพย์ทั้งหมดเป็นการชั่วคราว เป็นเวลา 30 นาที ตั้งแต่เวลา 14.35-15.05 น.หลังดัชนีราคาหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงจากดัชนีราคาปิดวันทำการก่อนหน้า 50.08 จุด คิดเป็น 10.02% โดยระบบการซื้อขายจะอนุญาตให้ผู้ลงทุนส่งคำสั่งใหม่หรือยกเลิกคำสั่งได้ (Pre-open) ตั้งแต่เวลา 14.55 น.และจะเริ่มเปิดทำการจับคู่คำสั่งซื้อขายในเวลา 15.05 น.เป็นต้นไป
อนึ่ง อำนาจตามความในข้อ 15 ของข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่อง การซื้อขาย การชำระราคาและการส่งมอบหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2542 ซึ่งกำหนดให้หยุดทำการซื้อขายหลักทรัพย์ทั้งหมดเมื่อ ระดับที่ 1 เมื่อดัชนีราคา SET Index ลดลงเท่ากับหรือมากกว่า 10% ของดัชนีราคาวันทำการก่อนหน้า จะหยุดทำการซื้อขายหลักทรัพย์ทั้งหมดเป็นการชั่วคราวเป็นเวลา 30 นาที
ส่วนระดับที่ 2 เมื่อดัชนีราคา SET Index ยังคงลดลงจนถึงเท่ากับหรือมากกว่า 20% ของดัชนีราคาวันทำการก่อนหน้าจะหยุดทำการซื้อขายอีกครั้งหนึ่งเป็นเวลา 1 ชั่วโมง
ทั้งนี้ การใช้เซอร์กิตเบรกเกอร์ครั้งนี้ ถือเป็นการประกาศใช้ครั้งที่ 2 นับตั้งแต่ ตลท.เปิดทำการ โดยครั้งแรก ตลท.ประกาศใช้ไปเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2549 หลังรัฐบาลโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศใช้มาตรการควบคุมเงินทุนนำเข้าระยะสั้น 30% โดยในครั้งนั้น ดัชนีหุ้นไทยลดลง 140 จุด ภายในวันเดียว ซึ่งมี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล (หม่อมอุ๋ย) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
รายงานข่าวระบุเพิ่มเติมว่า ดัชนีฟุตซี่ตลาดหุ้นลอนดอน เปิดตลาดบ่ายวันนี้ (ตามเวลาประเทศไทย) ร่วงลงถึง 10% ตามตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียและตลาดหุ้นสหรัฐฯที่ตกลงอย่างหนักเช่นกัน โดยดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นโตเกียวปิดร่วงลงกว่า 800 จุด ในการซื้อขายวันนี้ โดยดัชนีดิ่งลงกว่า 9% และแตะที่ระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับวิกฤตการณ์การเงินที่ลุกลามไปทั่วโลก รวมทั้งดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กที่ดิ่งลงกว่า 600 จุดเมื่อคืนนี้ และค่าเงินดอลลาร์ที่ร่วงลงเมื่อเทียบกับเงินเยน
นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาวะโดยรวมการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยภายหลังจากที่ตลาดหุ้นไทยได้เปิดทำการซื้อขายตามปกติ หลังจากได้ใช้มาตรการเซอร์กิตเบรกเกอร์ ว่าน่าจะมีทิศทางปรับลดลงตามตลาดหุ้นยุโรปและดาวโจนส์
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการใช้มาตรการเซอร์กิตเบรกเกอร์ก็ไม่น่าจะช่วยให้เงินไหลออกน้อยลงได้ เพราะแนวโน้มตลาดหุ้นที่ยังปรับตัวลดลงยังส่งผลให้แนวโน้มเงินทุนไหลออกยังมีอยู่เช่นกัน
“นักลงทุนเทขายหุ้นในตลาดดาวโจนส์ส่งผลให้มีผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทย เนื่องจากนักลงทุนเริ่มมีความกังวลว่าปัญหาวิกฤตการเงินสหรัฐฯ จะไม่ได้ส่งผลกระทบอยู่เฉพาะเรื่องสภาพคล่อง แต่จะกระทบไปยังภาคเศรษฐกิจจริงและมาตรการที่ออกมาก็เป็นแค่มาตรการชะลอปัญหาไม่ใช่มาตรการแก้ไขปัญหา อีกทั้งการที่ตลาดหุ้นปรับลดลงแสดงว่านักลงทุนเริ่มไม่อยากรับความเสี่ยงในหุ้นแล้ว แม้ราคาหุ้นต่อกำไรจะต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน แต่ก็ไม่รู้ว่าปัจจัยพื้นฐานจะแน่นอนหรือไม่”
มล.ทองมกุฏ ทองใหญ่ ผู้บริหารฝ่ายค้าหลักทรัพย์ บล.ซิตี้ คอร์ป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะนายกสมาคม โบรกเกอร์ต่างประเทศ เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ตลาดหลักทรัพย์ไทยใช้เซอร์กิตเบรกเกอร์ ตลาดหุ้นไทยปรับลดลงไป10 % ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ตลาดฯ จำเป็นจะต้องใช้มาตราการที่มีอยู่ ขณะเดียวกันมองว่าการปรับตัวลดลงครั้งนี้เป็นเพราะปัจจัยลบจากปัญหาการเงินจากต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้ทั่วโลกถูกแรงขาย
โดยพบว่าวันนี้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับตัวลดลงค่อนข้างแรง เช่นเดียวกันกับดัชนีดาวโจนส์ล่วงหน้าก็ปรับตัวลดลงค่อนข้างแรงในขณะนี้ ซึ่งหากเปรียบเทียบกันแล้วก็มองว่าตลาดหุ้นไทยยังปรับตัวลดลงน้อยเมื่อเทียบกับภูมิภาค รวมถึงมองว่าแรงขายของนักลงทุนต่างชาติน่าจะคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง แม้จะพบว่าตั้งแต่ต้นปีจนถึงเมื่อวานนี้ต่างชาติเทขายแล้วประมาณ 4 พันกว่าล้านเหรียญสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม คาดว่าหลังจากที่ตลาดเปิดการซื้อขายหลังจากปิดการซื้อขายไป 30 นาที ดัชนีตลาดหุ้นไทยน่าจะปรับตัวลดลงไม่ถึง 10%
W'ครั้งนี้เป็นอีกครั้ง หลังจากที่มีมาตรการกันสำรองเงินฝากประกาศใช้ในช่วงวันที่ 19 ธ.ค. 49 แต่ก็ต้องยอมรับว่าครั้งนั้นกับครังนี้แตกต่างกัน เพราะว่าในครั้งก่อนปัญหาเกิดจากปัจจัยในประเทศ แต่ถ้ามาเทียบกับครั้งนี้ภาพรวมของประเทศไทยก็ยังดีอยู่ สภาพคล่องก็ยังปกติไม่ได้ปัญหา ส่วนสถาบันทางการเงินฐานะปัจจุบันก็ยังแข็งแกร่ง แม้ว่าตัวเลขการส่งออก การเติบโตอาจจะลดลงบ้าง แต่ก็ยังถือโอเค ซึ่งเราก็หวังว่าให้การเมืองรีบสรุปเร็วขึ้น"
**ตลท.ระดมความเห็นฟื้นการลงทุนในตลาดทุน
โดยเช้าวันนี้ ตลาดหลักทรัพย์เชิญผู้แทนและสมาชิกของสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ ทั้งไทยและต่างประเทศ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน และสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ร่วมประเมินสถานการณ์ตลาดทุนไทย หลังได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐ โดยได้รับความร่วมมือจากผู้บริหารกว่า 40 ราย ในวงการตลาดทุนร่วมระดมความเห็น
นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ร่วมด้วย นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลท.และผู้บริหาร ตลท.ประชุมร่วมกับผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทหลักทรัพย์ทั้งไทยและต่างประเทศ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน รวมทั้งนักวิเคราะห์ กว่า 40 ราย เปิดเผยถึงการปรับตัวลดลงของดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ร้อยละ 41.73 ตั้งแต่ต้นปี มาอยู่ที่ระดับ 499.99 (ณ วันที่ 9 ต.ค.2551) ทำให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดลดลงถึงร้อยละ 41 อยู่ที่ระดับ 4 ล้านล้านบาท ถือว่าเป็นไปตามทิศทางของตลาดหุ้นทั่วโลก ซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐส่งผลต่อเนื่องไปยังภูมิภาคอื่นๆ รวมทั้งเอเชีย โดยดัชนีตลาดหุ้นต่างประเทศที่สำคัญ มีการปรับตัวลดลงประมาณร้อยละ 30-60 ตั้งแต่ต้นปี
นายปกรณ์ กล่าวว่า “นอกจากปัจจัยดังกล่าวแล้ว ตลาดหุ้นไทยยังได้รับผลกระทบจากปัจจัยการเมืองในประเทศด้วย อย่างไรก็ตาม ถือว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องปิดการซื้อขาย โดยในช่วงที่ผ่านมา พบว่าผู้ที่มีเงินออมได้มีการเข้าเลือกลงทุนในหุ้นพื้นฐานดีเป็นระยะ ๆ เนื่องจากเห็นว่ามีหุ้นของบริษัทพื้นฐานดีหลายตัว ที่มีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) ที่สูงถึงกว่าร้อยละ 10 ซึ่งเป็นโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่ดี”
ด้านผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ทั้งไทยและต่างประเทศ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน รวมทั้งนักวิเคราะห์ได้ประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และเห็นว่า กฎเกณฑ์ต่างๆ ของ ตลาดหลักทรัพย์ ขณะนี้มีความเหมาะสมและเป็นไปตามมาตรฐานสากล ตลาดหลักทรัพย์ควรรักษาแนวทางการดำเนินงานและวินัยตามมาตรฐานของตลาดหลักทรัพย์ ต่อไป พร้อมทั้งเชื่อมั่นว่ามาตรฐานการดำเนินงานของตลาดหลักทรัพย์ จะสามารถรองรับเหตุการณ์ในขณะนี้ได้เป็นอย่างดี
สำหรับผลกระทบที่มีต่อตลาดทุนในระยะที่ผ่านมา ถือว่าส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศจนอาจทำให้ระดับราคาหุ้นมีความเคลื่อนไหวที่ผันผวน เนื่องจากการตอบสนองต่อข่าวและเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศที่มีเข้ามาเป็นระยะ ๆ ดังนั้น ผู้ลงทุนจึงต้องใช้ความระมัดระวังในการลงทุน พิจารณาเลือกลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี โดยต้องติดตามข่าวสารต่างๆ อย่างใกล้ชิด โดยสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ จะนำข้อมูลจากสถานการณ์ปัจจุบันไปประเมินมูลค่าหุ้นใหม่ เพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลใช้ประกอบการตัดสินใจอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนต่างๆ ยังมีฐานะทางการเงินที่ดี ในขณะที่ระบบซื้อขายหลักทรัพย์ของทั้งตลาดหลักทรัพย์ และบริษัทสมาชิก รวมถึงระบบชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ และ Clearing fund ก็มีความพร้อมรองรับความผันผวนของการซื้อขายหลักทรัพย์ได้
สำหรับแนวทางการซื้อขายหุ้นโดยการทำ Short sell ในระยะที่ผ่านมา เห็นว่าไม่ได้เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อภาวะการลงทุน เนื่องจากมีปริมาณเฉลี่ยร้อยละ 0.6-0.7 ของมูลค่าการซื้อขายต่อเดือนในขณะที่กฎเกณฑ์การทำ short sell ของตลาดหุ้นไทย ก็มีความแตกต่างจากตลาดหุ้นต่างประเทศ โดยกำหนดให้ทำได้เฉพาะหุ้นใน SET50 ซึ่งเป็นหุ้นที่มีขนาดใหญ่และมีสภาพคล่อง ณ ราคาที่ไม่ต่ำกว่าราคาที่ตกลงซื้อขายครั้งสุดท้าย จึงไม่มีส่วนทำให้ราคาหุ้นปรับลดลง นอกจากนี้ ยังต้องมีการยืมหุ้นเพื่อการส่งมอบด้วย โดยปัจจุบันธุรกรรมการให้ยืมหุ้นเพื่อการทำ short sell มีจำนวนน้อย เนื่องจากมีผู้ที่ทำธุรกิจให้ยืมหลักทรัพย์เพียงไม่กี่ราย ที่ประชุมจึงเห็นว่า ยังไม่จำเป็นต้องมีการกำหนดมาตรการเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำ Short sell
สำหรับยอดรวมการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ทั้งระบบมีประมาณ 27,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับที่ปกติหากต้องมีการ Force sell ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดทุน ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และกระทรวงพาณิชย์ พิจารณาปรับแนวทางการซื้อหุ้นคืน เพื่อเอื้ออำนวยให้บริษัทจดทะเบียนมีการซื้อหุ้นคืนได้สะดวกขึ้น โดยในช่วงที่ผ่านมามีบริษัทแจ้งความจำนงในการซื้อหุ้นคืนแล้วกว่า 14 บริษัท และยังมีบริษัทที่สนใจอีกจำนวนมาก
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เสนอให้กระทรวงการคลังเพื่อเสนอมาตรการด้านภาษี เพื่อส่งเสริมการลงทุน เช่น การลดหย่อนภาษีเงินปันผล และการยกเว้นภาษีจากกำไรจากการลงทุนในพันธบัตรและหุ้นกู้ รวมทั้งเสนอให้กระทรวงการคลังทบทวนเรื่องการตั้งกองทุนรวมเพื่อการศึกษา (Education Mutual Fund) เพื่อส่งเสริมการลงทุนของนักลงทุนสถาบัน และประโยชน์ในการศึกษาของประชาชนทุกระดับ “เชื่อว่าในช่วงปลายปี จะมีเม็ดเงินลงทุนจากการลงทุนในกองทุน LTF และ RMF เข้ามาในตลาดทุนอีกประมาณ 10,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มีเม็ดเงินเข้ามามากกว่า 10,000 ล้านบาท” นายปกรณ์ กล่าว
สำหรับการร่วมลงทุนใน Matching Fund ซึ่งจะมีมูลค่ารวม 8,250 ล้านบาทนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ พร้อมที่จะพิจารณาขยายวงเงินลงทุนเพื่อร่วมลงทุนกับผู้ที่สนใจจะลงทุนเพิ่มเติมในลักษณะ Opportunity Fund โดยจะทำงานร่วมกับสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ สมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ และสมาคมบริษัทจัดการลงทุน อีกทั้งที่ประชุมยังมีความเห็นร่วมกันว่า กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ขณะนี้มีความเหมาะสมและเป็นไปตามมาตรฐานสากลอยู่แล้ว และเห็นว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ ควรรักษาแนวทางการดำเนินงานและวินัยตามมาตรฐานของตลาดหลักทรัพย์ต่อไป พร้อมทั้งเชื่อมั่นว่า มาตรฐานการดำเนินงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ จะสามารถรองรับเหตุการณ์ในขณะนี้ได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์จะให้ข้อมูลข่าวสารแก่ผู้ลงทุนอย่างต่อเนื่อง และจะติดตามผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐ รวมทั้งปัจจัยการเมืองในประเทศ และประเมินสถานการณ์ร่วมกับผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ เป็นระยะๆ พร้อมกำหนดมาตรการเพิ่มเติม หากผลกระทบต่อการซื้อขายหลักทรัพย์ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ลงทุนในวงกว้าง” นายปกรณ์กล่าวสรุป