บิ๊ก ตลท.มั่นใจ ตลาดหุ้นไทยไม่ต้องปิดทำการเหมือนในต่างประเทศ ลั่นใช้ Circuit Breaker ทันที หากดัชนีปรับตัวลดลงถึง 10% พร้อมยอมรับ ต่างชาติเทขายหุ้นไปแล้ว 1.3 แสนล. และยังมีสัญญาณขายไม่หยุด เผยมาร์เก็ตแคปลดลงเหลือแค่ 4 ล้านล้านบาท ยืนยัน “ชอร์ตเซล” ไม่ส่งผลกระทบการลงทุน เล็งเสนอคลังลดภาษี พร้อมหารือ ก.ล.ต.-พาณิชย์ เปิดทาง บจ.ซื้อหุ้นคืนสะดวกขึ้น หนุนตั้งกองทุนรวมเพื่อการศึกษา
นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวถึงภาวะตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลงอย่างรุนแรงในวันนี้ โดยยืนยันว่า ตลท.จะไม่ปิดทำการซื้อขายเหมือนกับตลาดหุ้นในต่างประเทศ แต่หากดัชนีปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงก็พร้อมใช้มาตรการ Circuit Breaker ในทันที ที่ดัชนีปรับตัวลดลงแตะ 10% และมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่เกิดวิกฤติเหมือนเศรษฐกิจปี 2540 เพราะปัจจัยพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจมีความแตกต่างกัน
นายปกรณ์ ระบุว่า เศรษฐกิจไทยยังคงมีความเข้มแข็ง ทั้งนี้ยอมรับว่าปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติ ได้มีการเทขายสุทธิออกต่อตลาดหุ้นไทยแล้วถึง 1.3 แสนล้านบาท และยังมีสัญญาณที่จะเทขายหุ้นอีก แต่ก็เป็นโอกาสดีที่นักลงทุนจะหาจังหวะเข้าช้อนซื้อหุ้นที่มีพื้นฐานดี และเก็บไว้ลงทุนในระยะยาว โดยขอให้นักลงทุนอย่างตื่นตระหนกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและใช้ความระมัดระวังในการเข้าลงทุน
ขณะที่การประชุมร่วมระหว่างตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กับสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ต่างประเทศ สมาคมบริษัทจัดการกองทุน และสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ เห็นพ้องต้องกันว่าควรมีการออกมาตรการเสริมการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยจะมีการเสนอให้กระทรวงการคลัง ลดหย่อนภาษีเงินปันผล หรือ Capital Gain Tax สำหรับการลงทุนในพันธบัตรและหุ้นกู้ เพื่อดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ
**ตลท.จับมือ 4 สมาคม ถกเครียด รับมือวิกฤตโลก
โดยเช้าวันนี้ นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานกรรมการ ตลท. ร่วมด้วยนางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลท.และผู้บริหาร ตลท.ได้ประชุมร่วมกับผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทหลักทรัพย์ทั้งไทยและต่างประเทศ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน รวมทั้งนักวิเคราะห์ จำนวนกว่า 40 ราย โดยนายปกรณ์ได้เปิดเผยว่า การปรับตัวลดลงของดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ร้อยละ 41.73 ตั้งแต่ต้นปี มาอยู่ที่ระดับ 499.99 จุด (9 ต.ค.) ทำให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดลดลงถึง 41% มาอยู่ที่ระดับ 4 ล้านล้านบาท ถือว่าเป็นไปตามทิศทางของตลาดหุ้นทั่วโลก ซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งส่งผลต่อเนื่องไปยังภูมิภาคอื่นๆ รวมทั้งเอเชีย โดยดัชนีตลาดหุ้นต่างประเทศที่สำคัญ มีการปรับตัวลดลงประมาณ 30–60% ตั้งแต่ต้นปี
“นอกจากปัจจัยดังกล่าวแล้ว ตลาดหุ้นไทยยังได้รับผลกระทบจากปัจจัยการเมืองในประเทศด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ถือว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องปิดการซื้อขาย โดยในช่วงที่ผ่านมา พบว่าผู้ที่มีเงินออมได้มีการเข้าเลือกลงทุนในหุ้นพื้นฐานดีเป็นระยะ ๆ เนื่องจากเห็นว่ามีหุ้นของบริษัทพื้นฐานดีหลายตัว ที่มีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) ที่สูงถึงกว่า 10% ซึ่งเป็นโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่ดี”
รายงานข่าวระบุว่า ผู้บริหารจากบริษัทหลักทรัพย์ทั้งไทยและต่างประเทศ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน รวมทั้งนักวิเคราะห์ที่ได้มาประชุมร่วมกันในวันนี้ ได้ประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และเห็นว่ากฎเกณฑ์ต่างๆ ของตลาดหลักทรัพย์ในขณะนี้มีความเหมาะสมและเป็นไปตามมาตรฐานสากลอยู่แล้ว ตลท.ควรรักษาแนวทางการดำเนินงานและวินัยตามมาตรฐานของตลาดหลักทรัพย์ต่อไป พร้อมทั้งเชื่อมั่นว่า มาตรฐานการดำเนินงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ จะสามารถรองรับเหตุการณ์ในขณะนี้ได้เป็นอย่างดี
สำหรับผลกระทบที่มีต่อตลาดทุนในระยะที่ผ่านมา ถือว่าส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ และอาจทำให้ระดับราคาหุ้นมีความเคลื่อนไหวที่ค่อนข้างผันผวน เนื่องจากการตอบสนองต่อข่าวและเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศที่มีเข้ามาเป็นระยะๆ ดังนั้น ผู้ลงทุนจึงต้องใช้ความระมัดระวังในการลงทุน พิจารณาเลือกลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี โดยต้องติดตามข่าวสารต่างๆ อย่างใกล้ชิด โดยสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ จะได้นำข้อมูลจากสถานการณ์ปัจจุบันไปประเมินมูลค่าหุ้นใหม่ เพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนต่างๆ ยังมีฐานะทางการเงินที่ดี ในขณะที่ระบบซื้อขายหลักทรัพย์ของทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ และบริษัทสมาชิก รวมถึงระบบชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ และ Clearing fund ก็มีความพร้อมรองรับความผันผวนของการซื้อขายหลักทรัพย์ได้
สำหรับแนวทางการซื้อขายหุ้นโดยการทำ Short sell ในระยะที่ผ่านมา เห็นว่าไม่ได้เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อภาวะการลงทุน เนื่องจากมีปริมาณเฉลี่ยร้อยละ 0.6 – 0.7 ของมูลค่าการซื้อขายต่อเดือน ในขณะที่กฏเกณฑ์การทำ short sell ของตลาดหุ้นไทย ก็มีความแตกต่างจากตลาดหุ้นต่างประเทศ โดยกำหนดให้ทำได้เฉพาะหุ้นใน SET50 ซึ่งเป็นหุ้นที่มีขนาดใหญ่และมีสภาพคล่อง ณ ราคาที่ไม่ต่ำกว่าราคาที่ตกลงซื้อขายครั้งสุดท้าย จึงไม่มีส่วนทำให้ราคาหุ้นปรับลดลง นอกจากนี้ ยังต้องมีการยืมหุ้นเพื่อการส่งมอบด้วย โดยปัจจุบันธุรกรรมการให้ยืมหุ้นเพื่อการทำ short sell มีจำนวนน้อย เนื่องจากมีผู้ที่ทำธุรกิจให้ยืมหลักทรัพย์เพียงไม่กี่ราย ที่ประชุมจึงเห็นว่า ยังไม่จำเป็นต้องมีการกำหนดมาตรการเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำ Short sell
สำหรับยอดรวมการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ทั้งระบบมีประมาณ 27,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับที่ปกติ หากต้องมีการ Force sell ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดทุน
ทั้งนี้ ตลท.จะหารือกับ ก.ล.ต. และกระทรวงพาณิชย์ เพื่อพิจารณาปรับแนวทางการซื้อหุ้นคืน เพื่อเอื้ออำนวยให้บริษัทจดทะเบียนมีการซื้อหุ้นคืนได้สะดวกขึ้น โดยในช่วงที่ผ่านมามีบริษัทแจ้งความจำนงในการซื้อหุ้นคืนแล้วกว่า 14 บริษัท และยังมีบริษัทที่สนใจอีกจำนวนมาก
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เสนอให้กระทรวงการคลังเพื่อเสนอมาตรการด้านภาษี เพื่อส่งเสริมการลงทุน เช่น การลดหย่อนภาษีเงินปันผล และการยกเว้นภาษีจากกำไรจากการลงทุนในพันธบัตรและหุ้นกู้ รวมทั้ง เสนอให้กระทรวงการคลังทบทวนเรื่องการตั้งกองทุนรวมเพื่อการศึกษา (Education Mutual Fund) เพื่อส่งเสริมการลงทุนของนักลงทุนสถาบัน และเพื่อประโยชน์ในการศึกษาของประชาชนทุกระดับ
"เชื่อว่าในช่วงปลายปี จะมีเม็ดเงินลงทุนจากการลงทุนในกองทุน LTF และ RMF เข้ามาในตลาดทุนอีกประมาณ 10,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มีเม็ดเงินเข้ามามากกว่า 10,000 ล้านบาท"
สำหรับการร่วมลงทุนใน Matching Fund ซึ่งจะมีมูลค่ารวม 8,250 ล้านบาทนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ พร้อมที่จะพิจารณาขยายวงเงินลงทุนเพื่อร่วมลงทุนกับผู้ที่สนใจจะลงทุนเพิ่มเติมในลักษณะ Opportunity Fund โดยจะทำงานร่วมกับสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ สมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ และสมาคมบริษัทจัดการลงทุน
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีความเห็นร่วมกันด้วยว่า กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในขณะนี้มีความเหมาะสมและเป็นไปตามมาตรฐานสากลอยู่แล้ว และเห็นว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ ควรรักษาแนวทางการดำเนินงานและวินัยตามมาตรฐานของตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่อไป พร้อมทั้งเชื่อมั่นว่า มาตรฐานการดำเนินงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ จะสามารถรองรับเหตุการณ์ในขณะนี้ได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ ตลท.จะให้ข้อมูลข่าวสารแก่ผู้ลงทุนอย่างต่อเนื่อง ตลท.จะติดตามผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐ รวมทั้งปัจจัยการเมืองในประเทศ และมีการประเมินสถานการณ์ร่วมกับผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้ง หน่วยงานด้านเศรษฐกิจ เป็นระยะๆ และพร้อมกำหนดมาตรการเพิ่มเติม หากผลกระทบต่อการซื้อขายหลักทรัพย์ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ลงทุนในวงกว้าง