ตลาดหุ้นดิ่งลงทั่วโลก ต่างชาติเทกระจาดหุ้นไทยร่วงกว่า 10% ตลท.งัดมาตรการ circuit breaker กู้สถานการณ์ ก่อนปิดตลาดลดลง 45 จุด ต่ำสุดรอบกว่า 5 ปี "ภัทรียา" แนะรอดู บจ.ประกาศงบ Q3 ด้านโบรกฯ เชื่อข่าวร้ายยังไม่หยุด ระบุ ความรุนแรงมากที่สุดในรอบ 100 ปี แค่เดือน ต.ค.ดัชนีหายไป 300 จุด มูลค่าในตลาดหุ้นทั่วโลกหายไปแล้ว 400 ล้านล้านบาท นักลงทุนฝากความหวังประชุมเฟด 28-29 ต.ค.นี้ ลดดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่า 1.00% ต่อลมหายใจตลาดหุ้นได้ช่วงสั้น ขณะที่ดาวโจนส์ยังรูดกว่า 200 จุด เมื่อคืนนี้ โดยคาดว่าจีดีพี Q3 ที่จะประกาศปลายสัปดาห์นี้ ยังเป็นแรงกดดัน
ตลาดหุ้นไทยวานนี้ (27 ต.ค.) ดัชนีปรับลดลงอย่างหนักในการซื้อขายช่วงบ่าย ทำให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ต้องประกาศใช้มาตรการเซอร์กิต เบรกเกอร์ (circuit breaker) เพื่อหยุดการซื้อขายชั่วคราวเป็นเวลา 30 นาที เมื่อเวลา 16.04 น. หลังจากดัชนีหุ้นไทยร่วงลงมาอยู่ที่ 389.58 จุด ลดลง 43.29 จุด หรือเปลี่ยนแปลง -10% ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์หยุดทำการซื้อขายหลักทรัพย์ชั่วคราวในระดับที่ 1 ทั้งนี้ ดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดที่ระดับ 387.43 จุด ลดลง 45.44 จุด ต่ำสุดในรอบ 5 ปี 5 เดือน มีมูลค่าการซื้อขาย 11,786.99 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 2,212.97 ล้านบาท เช่นเดียวกองทุนในประเทศขายสุทธิ 48.74 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนทั่วไปซื้อสุทธิ 2,261.71 ล้านบาท
ขณะที่ตลาดหุ้นในภูมิภาคก็ปรับลดลงในทิศทางเดียวกัน เช่น ตลาดหุ้นฮ่องกงทรุดตัวลงกว่า 12% ทำสถิติดิ่งลงมากที่สุดภายในวันเดียวนับตั้งแต่เกิดวิกฤติการณ์การเงินเอเชียในปี 1997 ดัชนีฮั่งเส็งปิดดิ่งลง 1,602.54 จุด หรือ 12.70% สู่ระดับ 11,015.84 จุด ส่วนตลาดหุ้นโตเกียวดิ่งลงทำสถิติปิดต่ำสุดในรอบ 26 ปี ดัชนีนิกเกอิปิดตลาดทรุดลง 486.18 จุด หรือ 6.4% สู่ระดับ 7,162.90 จุด ขณะที่ตลาดหุ้นไต้หวันปิดร่วงแตะระดับต่ำสุดใหม่ในรอบ 5 ปี หลังจากรัฐบาลไต้หวันยกเลิกกฎชั่วคราวในการปรับลดช่วงการปรับตัวลงของราคาหุ้นในแต่ละวันลงครึ่งหนึ่งสู่ระดับ 3.5% ซึ่งดัชนีเวทเต็ดปิดร่วงลง 212.75 จุด หรือ 4.65% มาที่ 4,366.87 จุด
นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลท. กล่าวว่า การที่ดัชนีหุ้นไทยวันนี้ปรับลงแรงจนต้องใช้มาตรการ Circuit Breaker นั้นเนื่องมาจาความวิตกกังวลในเรื่องของปัจจัยภายนอก ทำให้ดัชนีร่วงลง 10% เข้าหลักเกณฑ์การหยุดซื้อขายหุ้นเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม การปรับตัวลงในครั้งนี้เป็นการปรับตัวลดลงในทิศทางเดียวกับภูมิภาค อย่างฮ่องกงก็ปรับลงถึง 12% บางแห่งก็ลดลง 8-9% จากวิกฤติความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ทำให้เทขายหุ้นทั่วโลกแล้วหันมาถือเงินสด จากความกังวลปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจที่ลุกลามไปยังยุโรป
ส่วนการที่ ตลท.จะมีออกมาตรการมารองรับตลาดหุ้นที่ปรับลงแรงหรือไม่ กรรมการและผู้จัดการ ตลท. กล่าวว่า คงจะไม่มีมาตรการอะไรออกมาเพราะเรื่องทีเกิดขึ้นเป็นผลกระทบมาจากต่างประเทศ เพราะฉะนั้นอยากให้นักลงทุนติดตามข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุนเพราะเรื่องดังกล่าวไม่สามารถบรรเทาและจบได้ง่าย
ผู้จัดการ ตลท.กล่าวอีกว่า อยากให้นักลงทุนติดตามการประกาศงบการเงินไตรมาส 3/51 ของบริษัทจดทะเบียนที่จะประกาศออกมาในวันที่ 15 พ.ย.นี้ ซึ่งน่าจะเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ว่าแม้ผลการดำเนินการอาจปรับลงบ้างเมื่อเทียบไตรมาส 3/50 แต่หากดูจากกลุ่มธนาคารที่ประกาศงบการเงินมาแล้วก็ยังมีกำไร แสดงให้เห็นว่า ธนาคารของไทยมีความระมัดระวังในการบริหารความเสี่ยงได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับธนาคารในสหรัฐ
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นในเรื่องต้นทุนพลังงานที่ลดลงตามราคาน้ำมันที่อาจเป็นผลดีต่อธุรกิจ
สำหรับความคืบหน้าของกองทุน Matching fund นั้น กองทุนที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ขณะนี้อยู่ในกระบวนการขออนุญาต แต่กองทุนที่ตลท.ร่วมทุนกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนช่วงก่อนหน้านี้ กองทุนที่ร่วมทุนกับบลจ. ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) สามารถระดมทุนได้ครบและเข้าลงทุนไปแล้ว ยังเหลืออีก 4 กองทุนที่อยู่ระหว่างการระดมทุน
"เรื่องนี้คงต้องใช้เวลามากขึ้นและอาจจะล่าช้าเพราะปัจจุบันต้องยอมรับว่าภาวะตลาดกดดันให้การขายกองทุนทำได้ยากขึ้น และการเข้ามาลงทุนของกองทุนฯ คงไม่ได้คงช่วยแก้ไขสถานการณ์ได้ทั้งหมด"
อย่างไรก็ตาม นางภัทรียา กล่าวต่อว่า ในวันที่ 30 ต.ค.นี้ ตลท.จะมีการหารือกับกระทรวงการคลังในการประชุมนัดพิเศษจากผลกระทบที่เกิดขึ้นและการปรับลงแรงของภาวะตลาดหุ้น ที่ทางรมว.คลังเป็นผู้เรียกหารือเป็นพิเศษ
นางภัทรียา กล่าวยืนยันว่าระบบการชำระราคาของตลาดไม่มีข้อติดขัดและสมาชิกก็ดูแลมาร์จินของลูกค้าได้ดี โดยตัวเลขมาร์จินทั้งระบบถือว่าเป็นตัวเลขที่ไม่สูง เพียง 20,000 กว่าล้านบาท และกระจาย 30 โบรกเกอร์ และลูกค้ากว่า 4,000 ราย เพราะฉะนั้นยืนยันว่าระบบยังปกติ และติดตามดูแลการเคลื่อนไหวตลอดเวลา รวงมทั้งโบรกเกอร์ทุกรายก็ยังมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง
"เท่าที่ดู มาร์จินที่ให้กู้ไม่มาก ที่ลงทุนช่วงนี้นักลงทุนใช้เงินสดระยะยาวมากกว่ามาร์จิ้น" นางภัทรียา กล่าว
นางภัทรียา กล่าวต่อว่า หากพิจารณาถึงการขายหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติก็เป็นไปตามปกติ ที่มีแรงขายในทุกตลาดเพื่อดูแลสภาพคล่อง ซึ่งขณะนี้ยังเหลือเม็ดเงินอยู่ 1 แสนล้านบาท จากที่ขายไปแล้ว 1.3 แสนล้านบาท แต่หากพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานแล้วเชื่อว่าหากสถานการณ์คลี่คลายแล้วประทเศไทยจะกลับมาฟื้นตัวเร็วกว่าเมื่อเทียบกับที่อื่น
นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ นายกสมาคมวิเคราะห์หลักทรัพย์ ให้ความเห็นถึงการปรับตัวลดลงของตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลดลงไปมากจนตลาดต้องหยุดซื้อขายชั่วคราว เนื่องจากนักลงทุนวิตกถึงปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจที่กำลังลุกลามมายังภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง โดยจะเห็นได้จากการปิดบริษัทรถยนต์ของเยอรมนี หรือสายการบินทั่วโลก ที่มีรายได้ปรับลดลงมากเมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งถือว่ารุนแรงกว่าช่วงที่เกิดโรคซาร์ส รวมถึงการขนส่งสินค้า หรือคาร์โก้ ที่ลดลงถึง 77% แสดงให้เห็นว่าการค้าขายทั่วโลกเริ่มลดลงมาก
"ขณะนี้มีแต่ข่าวร้าย ซึ่งมองว่าข่าวร้ายจะยังไม่หยุดและขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ โดยวิกฤติการเงินได้กระจายไปสู่ภาคธุรกิจที่แท้จริงแล้วตั้งแต่ปลายปีนี้ต่อเนื่องถึงปีหน้า ถือว่ารุนแรงสุดในรอบ 100 ปี เพราะแค่เดือน ต.ค.เพียงเดือนเดียว มูลค่าหุ้นในตลาดโลกหายไปแล้ว 400 ล้านล้านบาท หรือ 1 ใน 3 หากรวมตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันมูลค่าทรัพย์สินและการลงทุนหายไปแล้วกว่า 1.2 พันล้านล้านบาท ส่วนตลาดหุ้นไทยทั้งปีหายไปแล้ว 55% เฉพาะเดือน ต.ค.นี้หายไป 36% จากดัชนี 600 กว่าจุดลดเหลือ 300 กว่าจุดเท่านั้น"
อย่างไรก็ตาม มองว่าการปรับลดลงของดัชนีหุ้นไทยยังไม่ถึงจุดต่ำสุด และไม่มีใครคาดเดาได้ว่าจะลงไปที่เท่าไร ทั้งที่ขณะนี้ราคาหุ้นต่ำกว่าราคาที่ควรจะเป็น หากซื้อเวลานี้อาจจะได้ราคาถูกกว่าเจ้าของบริษัทด้วยซ้ำ แต่จากการตื่นตระหนกทำให้ทุกคนเทขาย ซึ่งก็จะขาดทุน จึงอยากให้นักลงทุนหยุดขายและดูว่ามีเงินสะสมในมือเท่าไร เพื่อเลือกซื้อหุ้นที่มีพื้นฐานดี หากนักลงทุนมีสติกลับคืนมา และภาครัฐมีมาตรการที่เฉียบขาดออกมา ก็เชื่อว่านักลงทุนจะกลับเข้ามาซื้อหุ้นอีกครั้ง และทำให้ดัชนีปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดเมื่อคืนนี้ ลดลงกว่า 203.18 จุด หรือเปลี่ยนแปลง -2.42 % ปิดที่ระดับ 8,175.77 จุด ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 2003 , ดัชนี S&P 500 ปิดลดลง 27.85 จุด หรือเปลี่ยนแปลง -3.18 % ปิดที่ระดับ 848.92 จุด ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2003
ขณะที่ดัชนี Nasdaq ปิดลดลง 46.13 จุด หรือเปลี่ยนแปลง -2.97 % ที่ระดับ 1,505.90 จุด ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2003 โดยปริมาณการซื้อขายประมาณ 1.34 พันล้านหุ้นในตลาดนิวยอร์กของสหรัฐ และประมาณ 2.27 พันล้านหุ้นในตลาด Nasdaq โดยมีจำนวนหุ้นลบมากกว่าหุ้นบวกในอัตราส่วน4 ต่อ 1 ทั้งในตลาดนิวยอร์กและ Nasdaq
ทั้งนี้ นักลงทุนทั่วโลกกำลังจับตาการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) โดยฝากความหวังว่า เฟดะปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น Fed Funds ลงอีก 0.50% จากอัตรา 1.50% มาที่ระดับ 1.00-1.25% ในวันที่ 28-29 ต.ค.นี้ เพื่อกู้วิกฤตตลาดหุ้นทั่วโลก ซึ่งต้องลดอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 1.00% เพราะยังมีแรงกดดันจากตัวเลขจีดีพี ไตรมาส 3 ที่จะประกาศช่วงปลายสัปดาห์นี้