นักลงทุนโล่ง หลังธนาคารกลางทั่วโลก ร่วมมืออัดฉีดสภาพคล่องบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตสถาบันการเงินสหรัฐฯ ก่อนจะขยายวงกว้าง คาดตลาดหุ้นสัปดาห์นี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ 5 วันทำการต่างชาติทิ้งหุ้นไทยรวม 4.3 พันล้านบาท สังเวยพิษเลห์แมน บราเธอร์ส ล้มละลาย ด้านนักวิเคราะห์ แนะขายทำกำไร พร้อมจับตากรอบมาตรการแก้วิกฤต-การเมืองในประเทศ ด้าน ก.ล.ต. ยันกองทุนเอฟไอเอฟไม่น่าห่วง หลังตรวจสอบพบลงทุนหุ้น-ตราสารหนี้ ของเอไอจีแค่ 20 ล้านบาท และเงินฝากอีก 2 พันล้าน ขณะที่ลงทุนกับมอร์แกน สแตนเลย์ -โกลด์ แมนแซคส์ 68 ล้านบาท
บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ นักลงทุนคงเบาใจได้ระดับหนึ่ง หลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยต้องเจอมรสุมอย่างหนักจากวิกฤตการเงินของสหรัฐฯ จนกระทั่งเลห์แมน บราเธอร์ส วาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่อันดับ 4 ต้องประกาศล้มละลาย จนส่งผลขยายวงกว้างต่อตลาดการเงิน รวมทั้งกดดันให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงถ้วนหน้า
ทั้งนี้ ช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ได้ประกาศความร่วมมือที่จะให้ความช่วยเหลือสถาบันการเงินภายในประเทศของตนเอง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบลุกลามบานปลายมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวดีขึ้นในช่วง 2 วันสุดท้าย โดยเฉพาะวันศุกร์ที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นแรงถึง 24.45 จุด ปิดที่ระดับ 624.83 จุด
จากการสำรวจยอดการซื้อขายหุ้นไทยของนักลงทุนต่างประเทศพบว่า ตลอดสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติขายทิ้งหุ้นไทยออกมาอย่างต่อเนื่อง ยกเว้นวันศุกร์ (19 ก.ย.) ที่มียอดซื้อสุทธิ 1,406.44 ล้านบาท ส่งผลให้ตลอดสัปดาห์ตั้งแต่เกิดวิกฤตเลห์แมนฯ มียอดขายสุทธิ 4,347.61 ล้านบาท และยอดขายสุทธิตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนรวม 23,058.06 ล้านบาท ขณะที่ยอดขายสุทธิตั้งแต่ต้นปีสูงถึง 120,713.15 ล้านบาท
นางสาวมยุรี โชติวิกรานต์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวถึง แนวโน้มตลาดหุ้นในสัปดาห์นี้ (22-28 ก.ย.) ว่า ดัชนีตลาดหุ้นน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังรัฐบาลสหรัฐฯ มีมาตรการออกมาช่วยเหลือสถาบันการเงินในประเทศ และจะมีประกาศมาตรการออกมาในสัปดาห์นี้ ทำให้นักลงทุนคลายความกังวลเรื่องวิกฤตสถาบันการเงินสหรัฐฯ ในระยะสั้น แต่ปัจจัยดังกล่าวจะยังคงกดดันตลาดต่อเนื่องหากมีสถาบันการเงินประสบปัญหาเพิ่มขึ้นอีก
ประกอบกับสัปดาห์นี้ จะมีนักลงทุนสถาบันเข้ามาลงทุนซื้อหุ้นเพื่อปิดสมุดทะเบียน (Window dressing) เพราะเป็นช่วงใกล้ปิดงบไตรมาส 3/51 ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ประมาณ 30 จุด
"เราได้แนะนำให้นักลงทุนเข้าไปทยอยซื้อหุ้นเพื่อเก็งกำไรตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะหุ้นขนาดใหญ่ พร้อมประเมินแนวรับไว้ที่ระดับ 624 จุด และแนวต้านที่ระดับ 650 จุด"
นางสุภากร สุจิรัตนวิมล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.เคทีบี กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้จะยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังจากปรับตัวลดลงแรงในช่วงที่ผ่านมา จากการที่รัฐบาลสหรัฐฯ เตรียมออกมาตรการที่จะดูแลปัญหาสถาบันการเงิน ด้วยการเตรียมตั้งบรรษัทบริหารหนิ้เสียเข้ามาดูแล ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ในช่วงระยะสั้น
ทั้งนี้ หากดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 638-640 จุด ซึ่งเป็นแนวต้านนั้น จะมีการปรับตัวลดลงมาจากแรงขายทำกำไรของนักลงทุน จึงทำให้ดัชนีในสัปดาห์หน้าจะค่อยข้างผันผวน และจากการที่ปัจจัยทางการเมืองขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าหรือปัจจัยที่เป็นลบ โดยประเมินแนวรับที่ระดับ 601-620 จุด
นางสาวปองรัตน์ รัตนะตวณานนท์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. บัวหลวง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตลาดหุ้นน่าจะมีแนวน้าที่ดีขึ้นจากการเข้าแก้ไขภาวะทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) โดยให้แนวรับที่ 610 จุด และแนวต้านที่ 640 จุด พร้อมทั้งแนะนำให้ติดตามทิศทางนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลสหรัฐฯ ส่วนหุ้นที่น่าลงทุนจะเป็นหุ้นในกลุ่มธนาคารและกลุ่มอสังหาริมทรัพย์
นายชัย จิรเสวีนุประพันธื ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล. พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยวันนี้ คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยหลังทางการสหรัฐฯ ประกาศแก้ไขภาวะทางการเงินของรัฐบาลสหรัฐฯ โดยให้แนวรับที่ 610 จุด แนวต้านที่ 635-640 จุด ซึ่งหุ้นที่น่าลงทุนจะเป็นหุ้นกลุ่มธนาคารและกลุ่มอสังหาริมทรัพย์
นักวิเคราะห์กล่าวเพิ่มเติมว่า นักลงทุนจะต้องติดตามรายละเอียดของมาตรการที่จะเข้ามาช่วยแก้วิกฤตสถาบันการเงินของสหรัฐฯ ว่าจะมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด แม้ระยะสั้นๆ ตลาดหุ้นจะได้รับผลดีจากมาตรการดังกล่าวที่จะช่วยผ่อนคลายวิกฤตได้ระยะหนึ่ง โดยในช่วงต้นสัปดาห์คาดว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องไปทดสอบแนวต้านที่ 640 จุด
สำหรับประเด็นการเมืองในประเทศนั้น แม้ว่า พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ยอมรับว่า ได้มีโอกาสพูดคุยทางโทรศัพท์กับตัวแทนของรัฐบาลเพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง แต่ยังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียด ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี แต่คาดว่าการเจรจาคงจะหาข้อยุติได้ยาก ดังนั้นนักลงทุนจะต้องติดตามท่าที่ของรัฐบาล รวมถึงโผคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ โดยกลยุทธ์การลงทุนแนะนำให้หาจังหวะขาย ประเมินแนวรับไว้ที่ 600 จุด และแนวต้าน 640 จุด
***เล็งเพิ่มข้อจำกัดไพรเวทฟันด์ลงทุนนอก
ด้านนายประเวช องอาจสิทธิกุล ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า จากที่ในสหรัฐฯเกิดวิกฤตทางการเงิน เริ่มจากเลย์แมน บราเธอร์ เอไอจี ที่ประสบปัญหาทางการเงิน และอาจจะรวมถึงมอร์แกน สแตนเลย์ และโกลด์ แมนแซคส์ ที่มีความเสี่ยง ซึ่งก.ล.ต.ได้ติดตามการลงทุนของกองทุนในต่างประเทศ (FIF) ซึ่งมีมูลค่าลงทุนในต่างประเทศ 4 แสนล้านบาท
ทั้งนี้พบว่ากองทุนส่วนใหญ่ 95% มีการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล โดยประเทศที่มีการลงทุน ที่สูง เช่น พันธบัตรรัฐบาลเกาหลี ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ มีบางส่วนที่ลงทุนในกองทุนส่วนบุคคล (ไพรเวทฟันด์) และที่เหลือ 5% ลงทุนในหุ้น และตราสารหนี้เอกชน ซึ่งมองว่าปัญหาสหรัฐฯ นั้นจะไม่กระทบการลงทุนของกองทุนFIF จากที่ก.ล.ต.มีการจำกัดการลงทุนในสินค้าที่มีความเสี่ยงต่ำ
สำหรับก.ล.ต. พบว่ามีกองทุนที่ลงทุนในหุ้น และตราสารหนี้ของเอไอจี เพียง 10-20 ล้านบาท และมีการฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ของเอไอจี จำนวน 2,000 ล้านบาท ซึ่งไม่น่ากังวลเพราะการฝากเงินในต่างประเทศนั้นได้รับการค้ำประกันเงินฝากจากรัฐบาล และมีการลงทุนในหุ้น และตราสารหนี้ของเลห์แมน บราเธอร์ส จำนวน 58 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน จากการตรวจสอบได้พบว่ามีกองทุนไทยไปลงทุนหุ้นและตราสารหนี้ในมอร์แกน สแตนเลย์ และโกลด์ แมนแซคส์ วาณิชธนกรอันดับต้นๆของสหรัฐ มูลค่ารวม 68 ล้านบาท ซึ่งทั้งในส่วนของ มอร์แกนสแตนเลย์ และโกลด์ แมนแซคส์ ยังไม่ได้ล้ม เพียงแต่มีความเสี่ยงเท่านั้น ก.ล.ต.จึงจับตามองกองทุนที่เข้าไปลงทุนใน 2 บริษัทดังกล่าว เพราะก.ล.ต.ได้มีการติดตามจากตราสารหนี้ประกันความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ ผ่านระบบ(Credit Default Swap: CDS) ซึ่งมีการจัดอันดับความเสี่ยง ซึ่งปรากฏว่า มอร์แกนสแตนเลย์ และโกลด์ แมนแซคส์ ติดอันดับความเสี่ยงต้นๆ จึงทำให้ก.ล.ต.มีการจับตามองอย่างใกล้ชิด ว่ากองทุนเอฟไอเอฟไปเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่
"ก.ล.ต.ได้เข้าไปสำรวจดูการลงทุนของกองทุนเอฟไอเอฟ และพบว่าเม็ดเงินการลงทุน และความเสี่ยงที่เกิดขึ้นคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก จึงไม่ต้องการให้นักลงทุนมีความกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยก.ล.ต.จะติดตามการลงทุนของกองทุนเอฟไอเอฟอย่างใกล้ชิด ด้านความเสี่ยงทางด้านค่าเงินนั้น ส่วนใหญ่กองทุนที่ลงทุนในต่างชาติจะมีการทำประกันความเสี่ยงค่าเงินไว้แล้ว" นายประเวช กล่าว
นายประเวช กล่าวต่อว่า ส่วนการลงทุนของกองทุน Feeder Fund นั้น ซึ่งเป็นกองทุนที่ตั้งขึ้นมาเพื่อไปลงทุนในกองทุนหลักเพียงกองทุนเดียวเกิน 80% ขึ้นไป โดยกองทุนหลักคือ Master Fund ดังนั้นกองทุนที่ตั้งขึ้นมาเพื่อไปลงทุนใน Master Fund เรียกว่า Feeder Fund ซึ่งก.ล.ต. ต้องเข้าไปดูโดยละเอียดอีกครั้ง โดยจะไม่ติดตามกองทุนที่ลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์และทองคำ ส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ดี ก.ล.ต. อาจขยายข้อจำกัดของกองทุนไพร์เวทฟันด์ ที่เกี่ยวข้องกับรายย่อย โดยจะขยายเป็นขั้นตอน และจะสำรวจความคิดเห็น (เฮียริ่ง) ทุกครั้งกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนจะมีการออกเกณฑ์ใหม่