xs
xsm
sm
md
lg

"คุ้มครองเงินฝาก"ติดหล่ม ธปท.ยอมรับไร้เงาผู้บริหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แบงก์ชาติห่วง "สถาบันคุ้มครองเงินฝาก" เผยจนถึงขณะนี้ยังไม่มีผู้บริหารสถาบันฯ ส่งผลไม่สามารถเบิกจ่ายงบได้ เพราะไม่มีคนเซ็นอนุมัติ หลังจากเลื่อนการตั้งคณะกรรมการไป 2 สัปดาห์แล้ว

นายสรสิทธิ์ สุนทรเกศ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝากฉบับใหม่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 11 ส.ค.2551 ที่ผ่านมา แต่การดำเนินงานจนถึงขณะนี้ยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร เนื่องจากยังไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินงานต่างๆ ทั้งตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร ผู้อำนวยการ รวมทั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ทำให้การเบิกจ่ายงบกลางมีปัญหาไม่สามารถเบิกจ่ายได้ เพราะไม่มีผู้เซ็นต์อนุมัติ

“จริงๆ แล้วการแต่งตั้งตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร ผู้อำนวยการ และผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามานั่งเป็นประธานจะต้องมีการเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาตั้งแต่วันที่ 13 ส.ค.ที่ผ่านมา แต่ก็มีอันต้องเลื่อนมาถึง 2 ครั้งแล้ว จึงหวังว่าการประชุม ครม.ครั้งหน้าน่าจะมีการพิจารณาเรื่องดังกล่าว”

ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า บทบาทของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หลังการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากแล้ว กองทุนฟื้นฟูฯ จะต้องยุติบทบาทในการแก้ไขปัญหาหรือการให้ความช่วยสถาบันการเงิน แต่อย่างไรก็ตามกฎหมายได้เปิดช่องไว้ให้ว่าในช่วง 4 ปีต่อไปนี้ หากยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาช่วยเหลือสถาบันการเงินเมื่อเกิดปัญหาขึ้น ทางกองทุนฟื้นฟูฯ จะเข้ามาทำหน้าที่นี้ต่อไป แต่ต้องผ่านการอนุมัติของคณะรัฐมนตรีก่อน

“หน้าที่ของสถาบันคุ้มครองเงินฝากต่อไปจะมีทำหน้าที่จ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้ฝากเงินในกรณีที่สถาบันการเงินล้มเพียงอย่างเดียว ส่วนบทบาทในการเข้าไปฟื้นฟูหรือช่วยเหลือสภาพคล่องนั้น ตามกฎหมายไม่สามารถทำได้”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝากฉบับใหม่นี้จะมีการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ซึ่งมีการบริหารงานและกำหนดนโยบายโดยคณะกรรมการ ซึ่งมีผู้แทนจากกระทรวงการคลัง ธปท.และผู้ทรงคุณวุฒิที่แต่งตั้งโดย ครม.

นอกจากนี้ กำหนดให้สถาบันการเงินจะมีการนำส่งเงินเข้าสถาบันคุ้มครองเงินฝากแทนกองทุนฟื้นฟูฯ โดยจะมีการคำนวณอัตราเงินนำส่งตามความเสี่ยงและความแข็งแกร่งเป็นรายสถาบันการเงิน จากกฎหมายฉบับเดิมที่กำหนดให้สถาบันการเงินนำส่งทุก 6 เดือนในอัตรา 0.2% ของปริมาณเงินฝากที่นำส่งแต่ละสถาบันการเงิน หรือในแต่ละปีคิดในสัดส่วน0.4%ของยอดเงินฝาก

ทั้งนี้ หากสถาบันการเงินรายใดมีความเสี่ยงสูง สถาบันคุ้มครองเงินฝากต้องมีความรับผิดชอบตามความเสี่ยงนั้นๆ ถือว่ายุติธรรมที่สถาบันการเงินจะจ่ายอัตราเงินนำส่งสูงด้วย ซึ่งหลักเกณฑ์คล้ายกับธุรกิจประกันภัยหรือประกันชีวิต อย่างไรก็ตามแม้ขณะนี้ค่าครองชีพสูงจนสร้างปัญหาเรื่องของแพง แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจยังไม่มีปัญหา และสถาบันการเงินยังดำเนินธุรกิจได้ดีและมีความแข็งแกร่งอยู่

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่เห็นว่าผู้ฝากเงินจะมีสัญญาณแห่ถอนหรือโยกเงินฝากตามที่หลายฝ่ายกังวลแต่อย่างใด เพราะในช่วงปีแรกหรือปี 2551 สถาบันคุ้มครองเงินฝากยังคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวนทั้ง 100% อยู่ แต่ปีที่ 2 สัดส่วนคุ้มครองลดเหลือ 100 ล้านบาทต่อบัญชีต่อสถาบันการเงิน และค่อยๆ ทยอยลดวงเงินคุ้มครองลงเป็นเป็น 50 ล้านบาท 10 ล้านบาท และ 1 ล้านบาทในปีที่ 5 หรือปี 2555 เป็นต้นไป.
กำลังโหลดความคิดเห็น