xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนฯ แจงบทบาทหลัง 11 ส.ค. หยุดค้ำเงินฝาก-เคลียร์ภาระหนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการกองทุนฟื้นฟูฯ เผยบทบาทภายใน 4 ปีข้างหน้าก่อนปิดตัว ระบุยังคงรับหน้าที่ช่วยเหลือสถาบันการเงินที่มีปัญหาวิกฤตทางการเงิน หากยังไม่มีการตรากฎหมายขึ้นมาช่วยเหลือ และเป็นกรณีเร่งด่วนที่ต้องเข้าไปดูแล แต่ต้องได้รับการอนุมัติจากครม.และภาครัฐต้องใช้เงินคืนในการดำเนินการในภายหลัง ขณะเดียวกันท้ายที่สุดแล้วหากภาระสินทรัพย์และหนี้สินยังเหลืออยู่ก่อนปิดตัวกองทุนฯ จะโอนให้ครม.จัดการแทน

นางทองอุไร ลิ้มปิติ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารกองทุน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ในฐานะผู้จัดการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน(กองทุนฟื้นฟูฯ) กล่าวว่า หลังจากที่พ.ร.บ.คุ้มครองเงินฝากมีผลบังคับใช้ในวันที่ 11 ส.ค.นี้ ซึ่งสถาบันคุ้มครองเงินฝากจะเข้ามาทำหน้าที่จ่ายเงินคืนให้แก่ผู้ฝากเงินที่ได้รับผลกระทบเมื่อเกิดเหตุสถาบันการเงินถูกปิดกิจการ ดังนั้น ก่อนที่กองทุนฟื้นฟูฯจะมีการปิดตัวลงในปี 2556 หรือภายในช่วง 4 ปีข้างหน้า หากสถาบันการเงินรายใดในระบบมีปัญหาวิกฤตทางการเงิน ธปท.สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ แต่ต้องได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) จากเดิมในช่วงวิกฤตปี 40 ธปท.ต้องเข้าไปช่วยเหลือก่อนแล้วค่อยให้ครม.อนุมัติตามหลัง เพราะมองว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน

“กองทุนฟื้นฟูฯจะเข้าไปช่วยเหลือสถาบันการเงินได้ภายใน 4 ปีนี้ ต่อเมื่อในขณะนั้นยังไม่มีการตรากฎหมายใดๆที่เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สถาบันการเงินที่ประสบภาวะวิกฤติทางการเงิน ซึ่งต้องเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่แสดงให้เห็นว่าอาจผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินได้ และเป็นกรณีที่ได้ดำเนินการตามมาตรา 42 ในพ.ร.บ.ธปท. 2485 เรียบร้อยแล้ว จึงให้คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน(กนส.).เสนอแผน แนวทาง และวิธีการแก้ไขปัญหาภายใต้ความเห็นชอบของธปท.และส่งต่อให้คณะกรรมการจัดการกองทุนฟื้นฟูฯ เห็นชอบและเสนอนี้ให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติต่อไป”

ทั้งนี้ ในแง่ของกฎหมายกองทุนฟื้นฟูฯจะมีอำนาจเข้าไปแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินได้เฉพาะให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงิน ซึ่งจะมีหรือไม่มีหลักประกันก็ได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ครม.อนุมัติ และสามารถเข้าไปซื้อหรือถือหุ้นในสถาบันการเงินแห่งนั้น รวมทั้งซื้อ ซื้อลด หรือรับช่วงซื้อลดตราสารแสดงสิทธิในหนี้ หรือรับโอนสิทธิเรียกร้องของสถาบันการเงิน ซึ่งหากกองทุนฟื้นฟูฯ จำเป็นต้องกู้ยืมเงิน เพื่อดำเนินการดังกล่าว ธปท.อาจให้วงเงินกู้ยืม หรือรัฐบาลค้ำประกันการกู้ยืมนั้น ซึ่งรัฐบาลให้เงินคืนทั้งดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องแก่กองทุนฟื้นฟูฯ ต่อไป ขณะเดียวกันการจัดทำบัญชีดังกล่าวแยกต่างหากจากบัญชีอื่นด้วย

“แม้ในต่างประเทศ สถาบันคุ้มครองเงินฝากจะเป็นผู้ทำหน้าที่ดูแลสถาบันการเงินที่มีปัญหา แต่เราไม่ให้สถาบันฯ แห่งนี้ดูแลเรื่องนี้ต่อ เพราะไม่อยากให้ปัญหาซ้ำรอยที่ต้องทำหน้าที่ดูแลหนี้ต่อไปเรื่อยๆ”

นอกจากนี้ กองทุนฟื้นฟูฯ ยังต้องทำหน้าที่บริหารสินทรัพย์ที่มีอยู่ 2.3 แสนล้านบาท และมีหนี้สิน 1.6 แสนล้านบาทด้วย พร้อมทั้งจ่ายคืนดอกเบี้ยพันธบัตรของกองทุนฟื้นฟูฯ ที่มีอายุ 2-4 ปีด้วย อย่างไรก็ตามหากท้ายที่สุดแล้วเมื่อถึงเวลาปิดตัวกองทุนแล้ว แต่ภาระหนี้สินและทรัพย์สินยังเหลืออยู่ กองทุนฟื้นฟูฯ จะต้องตรากฎหมายออกมา เพื่อให้หน่วยงานอื่นมาดูแลแทน ซึ่งต้องได้การอนุมัติจากครม. ด้วย

สำหรับประเด็นคำถามที่ว่าหากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไม่มีการอนุมัติขายหุ้นของธนาคารไทยธนาคาร จำกัด(มหาชน) หรือบีที ซึ่งกองทุนฟื้นฟูฯ ถือหุ้นอยู่ 42.13%จะมีผลต่อสัญญาหรือไม่นั้น นางทองอุไร กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า คงไม่มีเหตุผลอะไรที่กระทรวงการคลังไม่อนุมัติ

***ธปท.เร่งบง.-บค.แปลงตั๋วสัญญาใช้เงิน**

นายเกริก วณิกกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ขณะนี้ธปท.อยู่ระหว่างติดตามให้บริษัทเงินทุน(บง.) และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์(บค.)แปลงตั๋วสัญญาใช้เงิน (Promissory Note) ให้อยู่ในรูปแบบเงินฝาก ซึ่งหมายถึงสมุดเงินฝาก บัตรเงินฝาก (Certificate Deposit) และใบรับเงินฝาก (Deposit Receive) เท่านั้น เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองเงินฝากตามพ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝากที่จะประกาศใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 11 ส.ค.นี้ ซึ่งบง.และบค.จะได้รับคุ้มครองเช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์ตามจำนวนเงินต้นและดอกเบี้ยที่ปรากฎในบัญชี

“จากการสำรวจของธปท.พบว่าบง.และบค.มีตั๋วสัญญาใช้เงินคิดเป็นมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท ถือว่าน้อยมาก หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 0.003%ของสินทรัพย์โดยรวมของระบบสถาบันการเงินไทย อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวยังคงเงื่อนไขในการจ่ายดอกเบี้ย กำหนดเวลาการชำระคืนเงิน และเงื่อนไขต่างๆ เหมือนเดิมทุกประการ ยกเว้นวันที่ออกเอกสารใหม่จะเป็นวันที่ดำเนินการเปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นประเภทเงินฝากแทน”

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ทางการเงินหรือเงินฝากบางประเภทที่อิงกับตราสารอนุพันธ์ต่อไปนี้จะไม่ได้รับการคุ้มครองเงินฝาก เนื่องจากเงินต้นที่เป็นเงินฝากมีจำนวนลดลง แต่เงินฝากบางประเภทที่อ้างอิงกับดัชนี(Index)ต่างๆ ก็ยังเป็นเงินฝากอยู่ เพราะผลตอบแทนที่ได้ไม่ติดลบหรือส่งผลให้เงินต้นไม่ลดลงจากผลของตลาด

“เงินฝากที่ฝังอยู่กับอนุพันธ์จะถือว่าไม่ใช่เงินฝาก อาทิ ผลิตภัณฑ์ทางการเงินประเภท Credit Link Note ที่ดูภายนอกเสมือนเงินฝาก แต่ความจริงแล้วผล คือ ค้ำประกันหนี้ไว้ หากหนี้เสียก็ต้องเอาเงินฝากในธนาคารชดเชยหนี้ได้ ซึ่งในตลาดต่างประเทศมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินประเภทนี้ออกมาเยอะ เพราะรายรับจากเงินฝากต่ำ แต่กลับได้รายรับสูงจากการให้ประกันคนอื่นแทน ส่วนในไทยจะมีผลิตภัณฑ์นี้เฉพาะสถาบันการเงินขนาดใหญ่ ถือว่าไม่เป็นเงินฝากอยู่แล้ว”

ทั้งนี้ในปัจจุบันในระบบมีบง.ทั้งสิ้น 4 แห่ง ได้แก่ บมจ.เงินทุนกรุงเทพธนาทร บง.ฟินันซ่า บมจ.เงินทุนสินอุตสาหกรรม และบง.แอ็ดวานซ์ ส่วนบค.มีจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ บค.ลินน์ ฟิลลิปส์ มอร์ทเก็จ บค.สหวิริยา และบค.เอเซีย
กำลังโหลดความคิดเห็น