xs
xsm
sm
md
lg

เลี้ยบปัดรื้อ BT หวังปลดธาริษา สั่งกลต.ตรวจสอบอินไซด์หุ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หมอเลี้ยบขึงขังกรณีตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีช่วยเหลือเงินเพิ่มทุนไทยธนาคารไม่ได้เจาะจงเอาผิดผู้ว่า ฯ ธปท. แต่หวังเคลียร์ความสับสนข้อมูลสกัดปัญหาลุกลาม สั่ง ก.ล.ต.ตรวจสอบอินไซเดอร์หุ้น เผยการควบรวมกิจการแบงก์รัฐ กองทุนฟื้นฟูฯ ต้องตัดสินใจก่อน ขณะที่ไทยธนาคารขอตลาดหลักทรัพย์ขึ้นเครื่องหมาย SP คน ธปท.แจงยิบทำถูกต้อง "ธาริษา" รูดซิปปาก

กรณีที่ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีความเสียหายที่เกิดจากการแก้ไขปัญหาธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) (BT) ที่มีการเพิ่มทุน 4,450 ล้านหุ้น รวมวงเงินไม่น้อยกว่า 6,000 ล้านบาท นั้น วานนี้ (19 มิ.ย.) นพ.สุรพงษ์ปฏิเสธว่า ไม่ได้มีจุดประสงค์เจาะจงที่จะตรวจสอบนางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่ต้องรอผลสรุปของคณะกรรมการฯ ที่ยังไม่ออกมาตอนนี้

"ประเด็นที่พูดกันผ่านสื่อยังมีข้อมูลที่แตกต่างกัน เช่น การซื้อหุ้นเพิ่มทุน ดังนั้นจึงไม่ต้องการชี้นำข้อมูลใดๆ แต่ต้องการให้กรรมการสอบข้อเท็จจริงตรวจสอบข้อมูลทุกเรื่อง และขณะนี้ยังไม่รู้ว่าจะต้องมีใครรับผิดชอบหรือเอาผิดกับใครบ้าง ข่าวที่ออกมาอาจสับสนอยู่บ้าง เพราะไม่ได้มีการตั้งกรรมการสอบผู้ว่าแบงก์ชาติ" นพ.สุรพงษ์กล่าว

ส่วนการตั้งคณะกรรมการฯ ดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อแผนการขายหุ้นเพิ่มทุนของ BT หรือไม่นั้น นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า เท่าที่ได้หารือกับตัวแทนของกระทรวงการคลังที่เป็นกรรมการอยู่ในกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ก็พบว่ายังคงเป็นไปตามขั้นตอนที่วางไว้ และการจะดำเนินการใดๆ คงต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ

ทั้งนี้ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ควรเข้าไปไปตรวจสอบว่าจะมีอินไซเดอร์ที่มีผลประโยชน์จากการขึ้นลงของราคาหุ้น BT หรือไม่ นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า แม้กระทรวงการคลังจะไม่มีหน้าที่กำกับดูแลกองทุนฟื้นฟูฯ โดยตรง แต่ยอมรับว่ามีความเป็นห่วงที่กระทรวงการคลังจะต้องเป็นผู้รับภาระหนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯ ที่ในปัจจุบันมีอยู่กว่า 1.4 ล้านล้านบาท ดังนั้นจึงต้องการจะเห็นว่าผู้ที่เข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุนของสถาบันการเงินจะต้องมีผลตอบแทนที่ดีให้ด้วย และหากเป็นการซื้อขายหุ้นอย่างเร่งด่วนก็ต้องพิจารณาด้วยเช่นกันว่าได้รับผลตอบแทนที่ดีหรือไม่

ส่วนอนาคตจะมีการควบรวมกิจการในแต่ละธนาคารที่ภาครัฐถือหุ้นเพื่อแก้ไขปัญหาระบบสถาบันการเงินหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่กองทุนฟื้นฟูฯ จะต้องตัดสินใจ ซึ่งคงให้ความเห็นได้เพียงว่าการดำเนินการจะต้องคิดให้ยาวว่าจะทำอย่างไรให้สถาบันการเงินที่ในอดีตรัฐบาลได้เข้าไปฟื้นฟูจะสามารถกลับมาแข็งแกร่งได้

สำหรับคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงชุดนี้ มีนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นประธาน

นพ.สุรพงษ์ยังกล่าวถึงการตั้งข้อสังเกตว่ากรณีของธนาคารทหารไทย (TMB) ก็มีปัญหาลักษณะเดียวกันกับ BT แต่กลับไม่มีการตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า ไม่ได้เป็นการกลั่นแกล้งหรือกระทำการสองมาตรฐาน เพียงแต่เห็นว่ากรณีของ BT เมื่อเป็นข่าวออกมาก็ต้องการให้เกิดความชัดเจนเพื่อไม่ให้ถูกมองว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่จึงได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบขึ้น ส่วนปัญหาของ TMB เกิดขึ้นมา 2-3 ปีแล้ว แต่รัฐบาลชุดก่อนกลับไม่มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง

**ไทยธนาคารขอขึ้นSP**

วานนี้ ธนาคารไทยธนาคารมีหนังสือแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ระบุว่าธนาคารฯ ได้รับแจ้งจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของธนาคารว่า เนื่องจากขณะนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ อยู่ระหว่างการดำเนินการขายหุ้นของไทยธนาคารที่กองทุนฯ ถืออยู่จำนวน 42.13% ซึ่งกระบวนการดังกล่าวมีความคืบหน้าและอาจส่งผลกระทบต่อโครงสร้างการถือหุ้นของธนาคาร รวมทั้งราคาซื้อขายหลักทรัพย์ของธนาคารในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีผลกระทบต่อการตัดสินใจซื้อขายหลักทรัพย์ของนักลงทุนทั่วไป ดังนั้น ธนาคารจึงขอหยุดพักการซื้อขายหลักทรัพย์ของธนาคารไว้เป็นการชั่วคราว (SP) จนกว่าจะได้ข้อสรุป ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในวันที่ 20 มิถุนายน 2551 นี้

อนึ่ง ธนาคารอยู่ระหว่างการประสานงานกับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ และเมื่อได้รับทราบข้อมูลที่ชัดเจน ทางธนาคารจะได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ เพื่อแจ้งนักลงทุนต่อไป

***ธปท.แจงยิบทำถูกต้องแล้ว

นายพงศ์อดุล กฤษณะราช ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์และติดตามฐานะธปท.กล่าวว่า ที่ผ่านมาธปท.ได้มีการเข้าไปตรวจสอบข้อมูลก่อนเพิ่มทุนของไทยธนาคารแล้ว รวมทั้งมีการสุ่มตรวจข้อมูลร่วมด้วย โดยสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ถึง 2-3 ปี นอกจากนี้ที่ผ่านมาแบงก์ก็ได้มีการส่งข้อมูลเรื่องการลงทุนในตราสารซีดีโอ ที่มีปัญหาให้ ธปท.ได้รับทราบแล้ว รวมทั้งมีการระบุว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบ แน่นอนก็คือบอร์ด BT เป็นผู้รับผิดชอบอยู่แล้ว เพราะแบงก์พิจารณาอะไร ก็จะมีหลายบุคคลรับรู้ ไม่ใช่เป็นความเห็นของเพียงคนใดคนหนึ่งเท่านั้น โดยในขณะนั้นก็เห็นว่าไม่มีปัญหาอะไร

"ข้อมูลทุกอย่างที่คลังขอมา ธปท.ก็ให้ไปหมดแล้ว แต่ถ้าถามว่าหากการตรวจสอบข้อมูลของคลังมีผลออกมาต่างกับผลตรวจสอบของธปท. ผมถือว่าไม่เกี่ยวข้องกับการขายหุ้นเพิ่มทุนของบีทีที่ทำอยู่ในขณะนี้ เพราะบีทีได้ดำเนินการไปแล้ว และเห็นว่าธุรกิจแบงก์สามารถดำเนินธุรกิจต่อไป ไม่ควรหยุด"

ด้านนางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงการคลังตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง BT ว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามกระบวนการ และล่าสุดทางประธานของคณะกรรมการชุดนี้ได้ขอข้อมูลมาแล้ว ซึ่ง ธปท.พร้อมจะให้ความร่วมมือ ส่วนความคืบหน้าในการขายหุ้น BT แม้คณะกรรมการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินใช้เวลาประชุมถึง 5-6 ชั่วโมงเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา แต่งไม่ถึงเวลาที่ต้องพูดเรื่องนี้ได้ เนื่องจากหุ้น BT ได้ติดเครื่องหมาย SP และหากพูดไปในช่วงนี้อาจสร้างความสับสนได้จากข่าวหลากหลายกระแส

"ถ้ามีความชัดเจนอะไรจะมาแถลงข่าวให้ทราบถึงความคืบหน้า แต่ขณะนี้ให้ใจเย็นๆ อีกนิดหนึ่ง" นางธาริษากล่าว

**เร่งมือตั้งบอร์ดแบงก์ชาติ**

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการคัดเลือกคณะกรรมการ (บอร์ด) ธปท.ตาม พรบ.ใหม่ เปิดเผยการประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่าที่ประชุมได้พิจารณาระเบียบและหลักเกณฑ์ในการสรรหาบุคคลภายนอกมานั่งในคณะกรรมการ ธปท.ชุดใหม่เสร็จสิ้นแล้ว โดยอิงหลักเกณฑ์จาก ก.ล.ต.มาปรับปรุงให้เข้ากับกฎหมายหรือระเบียบของ ธปท.ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น ในวันที่ 27 มิ.ย.นี้ หากดูตามหมายกำหนดการคาดว่าปลัดกระทรวงการคลังและผู้ว่าฯ ธปท.จะสามารถนำเสนอรายชื่อบุคคลที่มีความเหมาะสมจำนวน 12 รายชื่อ ซึ่งปลัดกระทรวงการคลังจะมีการเสนอรายชื่อ 6 ชื่อ ขณะผู้ว่าฯ ธปท.จะเสนอรายชื่อมา 12 ชื่อ และเมื่อได้รายชื่อดังกล่าวแล้วคาดว่าคณะกรรมการคัดเลือกจะเรียกประชุมในวันเดียวกัน เพื่อให้กระบวนการทุกอย่างดำเนินได้เร็วและรอบคอบที่สุด

“จะพยายามเร่งพิจารณาคุณสมบัติและความเหมาะสมของประธาน 1 คน และกรรมการอีก 5 คน ได้ภายในวันที่ 4 ก.ค.นี้ เพื่อให้รัฐมนตรีคลังอนุมัติก่อนเสนอ ครม. ทั้งนี้ ตำแหน่งประธานก็ต้องรอโปรดเกล้าฯ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือนหลังจากที่ได้รายชื่อคณะกรรมการ”

เหตุผลที่จะต้องเร่งดำเนินการเลือกคณะกรรมการธปท.ให้เสร็จสิ้นโดยเร็วนั้น เนื่องจากตามพ.ร.บ.ธปท.ฉบับใหม่กำหนดให้คณะกรรมการชุดดังกล่าวต้องทำหน้าที่แต่งตั้งคณะกรรมการชุดย่อยที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลภาคการเงินและระบบการเงินอีก 3 ชุด ซึ่งประกอบด้วย คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) และคณะกรรมการระบบชำระเงิน (กรช.)ให้เสร็จสิ้นภายใน 180 วัน หรือให้ทัน 30 ส.ค.นี้ ซึ่งเชื่อว่าจะดำเนินการได้ทัน
กำลังโหลดความคิดเห็น