xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ชี้เกณฑ์ใหม่จ่ายเงินสมทบ จัดระดับความแข็งแกร่ง-เสี่ยงสูง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แบงก์ชาติกำหนดอัตราการนำส่งเงินเข้าสถาบันคุ้มครองเงินฝากตามพ.ร.บ.ใหม่ของสถาบันการเงิน จะจ่ายตามอัตราความเสี่ยงและความแข็งแกร่งของแต่ละแห่ง จากเดิมที่ทุกสถาบันการเงินต้องจ่ายปีละ 0.4%ของปริมาณเงินฝากที่นำส่ง ระบุแม้ขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณที่ส่อเค้าให้เห็นว่าคนแห่ถอนเงิน เพราะยังคุ้มครองเต็มจำนวนทั้ง 100% แต่ยังให้แบงก์รองรับทำแผนฉุกเฉินหากเกิดกรณีคนแห่ถอนเงินภายใน 15 ก.ค.นี้

นายพงศ์อดุล กฤษณะราช ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์และติดตามฐานะ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝากฉบับใหม่ที่คาดว่าจะนำมาใช้ในวันที่ 11 ส.ค.นี้ ซึ่งสถาบันการเงินจะมีการนำส่งเงินเข้าสถาบันคุ้มครองเงินฝากแทนกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบัน โดยจะมีการคำนวณอัตราเงินนำส่งตามความเสี่ยงและความแข็งแกร่งเป็นรายสถาบันการเงิน เทียบกับกฎหมายฉบับเดิมที่กำหนดให้สถาบันการเงินนำส่งทุก 6 เดือนในอัตรา 0.2%ของปริมาณเงินฝากที่นำส่งแต่ละสถาบันการเงิน หรือในแต่ละปีคิดในสัดส่วน 0.4%

“หากสถาบันการเงินรายใดมีความเสี่ยงสูง สถาบันคุ้มครองเงินฝากต้องมีความรับผิดชอบตามความเสี่ยงนั้นๆ ถือว่ายุติธรรมที่สถาบันการเงินจะจ่ายอัตราเงินนำส่งสูงด้วย ซึ่งหลักเกณฑ์คล้ายกับธุรกิจประกันภัยหรือประกันชีวิต อย่างไรก็ตามแม้ขณะนี้ค่าครองชีพสูงจนสร้างปัญหาเรื่องของแพง แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจยังไม่มีปัญหา และสถาบันการเงินยังดำเนินธุรกิจได้ดีและมีความแข็งแกร่งอยู่”

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่เห็นว่าผู้ฝากเงินจะมีสัญญาณแห่ถอนหรือโยกเงินฝากแต่อย่างใด เพราะในช่วงปีแรกสถาบันคุ้มครองเงินฝากยังคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวนทั้ง 100% อยู่ แต่ปีที่ 2 หรือประมาณปี 2551-2552 สัดส่วนคุ้มครองลดเหลือ 100 ล้านบาทต่อบัญชีต่อสถาบันการเงิน และทยอยลดลงเรื่อยๆ ทุกปีเป็น 50 ล้านบาท 10 ล้านบาท และ 1 ล้านบาทในปีที่ 5

นายพงศ์อดุล กล่าวว่า ขณะนี้ฝ่ายต่างๆ ของธปท.ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายฉบับนี้ทั้งฝ่ายกำกับสถาบันการเงิน ฝ่ายกฎหมายและคดี หรือแม้แต่กองทุนฟื้นฟูฯ เริ่มออกมาให้ความรู้และชี้แจง เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันธปท.ได้สั่งให้สถาบันการเงินทุกแห่งเตรียมแผนรองรับ หากเกิดกรณีฉุกเฉินเมื่อผู้ฝากเงินแห่ถอนเงินรองรับไว้ ซึ่งในวันที่ 15 ก.ค.นี้จะมีการส่งแผนดังกล่าวมาให้แก่ธปท.พิจารณาต่อไป

สำหรับกรณีที่ทีมงานที่ปรึกษารองนายกฯ และ รมว.คลังระบุว่าคลังต้องการควบรวมกิจการกันระหว่างธนาคารทหารไทย กับไทยธนาคารและนครหลวงไทย ซึ่งดีกว่าจะขายสถาบันการเงินเหล่านี้ไปในราคาถูก จนทำให้รัฐขาดทุนหรือเสียหายมากกว่าเดิม ขณะเดียวกันกลับส่งผลที่ดีทหารไทยให้กลายเป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่เพิ่มมาอีกแห่งด้วยนั้น

นายพงศ์อดุล กล่าวว่า การควบรวมกิจการดังกล่าวเป็นเรื่องที่ยาก และต้องมาแก้ไขปัญหาที่ตามมาของแต่ละสถาบันการเงินด้วย อาทิ ปัญหาการตกงานของพนักงานของแต่ละสถาบันการเงิน ถือว่ายุ่งยากพอสมควร เทียบกับการขายหุ้นที่กองทุนฟื้นฟูฯ ถืออยู่ทีละตัวจะดีกว่า ซึ่งหากแผนการหาพันธมิตรทางธุรกิจรายใหม่ของไทยธนาคารเสร็จสิ้น คาดว่ารายต่อไปจะเป็นการขายหุ้นของธนาคารนครหลวงไทยและกรุงไทยตามลำดับ
กำลังโหลดความคิดเห็น