xs
xsm
sm
md
lg

สรรพากรปัดลดแวตท่องเที่ยว เล็งจัดเก็บภาษีคณะบุคคลใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สรรพากรปัดยังไม่ได้รับข้อเสนอลด VAT จากกระทรวงท่องเที่ยวฯ 6 ด้าน ระบุไม่มีประเทศใดในโลกทำ เผยผู้ประกอบการรวมภาษีในการคิดค่าบริการจากลูกค้าแล้วหากลดภาษีให้ก็เหมือนการโกงภาษีลูกทัวร์ พร้อมประสานคณะแก้ไขประมวลรัษฎากรศึกษาเกณฑ์การจัดเก็บภาษีจากคณะบุคคลที่มีการจดทะเบียนเพื่อลดจำนวนการจ่ายภาษีนับแสนราย

นายสาธิต รังคสิริ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี กรมสรรพากร เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับข้อเสนอลดภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) จากกรณีที่นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เสนอกระทรวงการคลังลดภาษีเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว แต่จากรายละเอียดที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์นั้นพบว่า ข้อเสนอลดภาษี 6 ด้าน ที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอมาไม่มีประเทศใดในโลกดำเนินการเช่นนั้น

โดยเฉพาะข้อเสนอที่ให้ยกเว้นแวตให้บริษัทนำเที่ยวที่ขายแพ็กเกจท่องเที่ยวในประเทศในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ในกรณีที่ทำยอดได้ตามกำหนด และลดภาษีให้บริษัทต่างชาติที่เป็นบริษัทด้านออแกไนซ์นำค่าใช้จ่ายการจัดประชุมสัมมนามาหักค่าลดหย่อน เพราะทั้งสองกรณีผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยวได้จัดเก็บแวตจากลูกค้าไว้ก่อนแล้ว หากต้องลดหย่อนให้ผู้ประกอบการก็เท่ากับโกงภาษีลูกค้าหรือผู้บริโภค ซึ่งในหลักภาษีสากลไม่สามารถทำได้

ทั้งนี้โดยปกติการซื้อขายสินค้าในประเทศไทยแล้วนำกลับประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติก็สามารถขอคืนแวตได้อยู่แล้ว เพราะตามหลักการภาษีแวตหากซื้อสินค้าประเทศใดแต่ไปใช้อีกประเทศหนึ่งก็จะยกเว้นภาษีแวตให้ในประเทศผู้จำหน่ายสินค้านั้นๆ

"คงไม่สามารถยกเว้นแวตให้กับบริษัททัวร์ใดๆได้ เพราะการขายทัวร์ให้ลูกทัวร์นั้นจะมีการจัดเก็บแวตจากลูกทัวร์ไว้ก่อนหน้าแล้ว เงินส่วนนั้นเขาตั้งใจเสียภาษีให้ประเทศเจ้าของสินค้าและบริการ แต่จะมายกเว้นให้บริษัททัวร์ก็เท่ากับโกงภาษีลูกทัวร์ไม่มีที่ใดในโลกเขาทำกัน"นายสาธิตกล่าว

นายสาธิต กล่าวต่อว่า ศักยภาพการท่องเที่ยวในประเทศไทยมีสูงมาก ฉะนั้นสิ่งที่ควรจะทำคือใช้มาตรการทางสังคมและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมแทน เช่น ปรับปรุงถนน สถานที่ท่องเที่ยวให้สะอาด จูงใจ หรือการคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมชุมชนของแท้ เหล่านี้สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มาก

***ศึกษาแก้เกณฑ์เก็บภาษีคณะบุคคล

นอกจากนี้กรมสรรพากรได้ประสานไปยังศูนย์วิจัยกฎหมายและพัฒนา คณะนิติศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิเพื่อสนับสนุนการพัฒนาวิชาการทางนิติศาสตร์ ที่อยู่ระหว่างแก้ไขประมวลรัษฎากรเพื่อเสนอมุมมองทางวิชาการเพื่อแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับคณะบุคคล เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ประกอบธุรกิจจำนวนมากเลือกจดทะเบียนธุรกิจเป็นคณะบุคคล เพราะสามารถลดภาระภาษีอย่างถูกกฎหมายได้ โดยคณะบุคคลเป็นเพียงหน่วยภาษีการเรียกเก็บภาษีจะจัดเก็บเป็นเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งปัจจุบันมีคณะบุคคลที่จดทะเบียนกับกรมสรรพากรเป็นหลักแสนราย แต่หลังจากจดทะเบียนไปแล้วมีทั้งที่สามารถติดตามและไม่สามารถติดตามเพื่อชำระภาษีได้

"ต้องยอมรับว่ามีความพยายามของกลุ่มธุรกิจหลายส่วนเลือกจดทะเบียนคณะบุคคลเพื่อลดภาระภาษี ซึ่งไม่ถือว่าผิดกฎหมายแต่ก็ทำให้รายได้ที่จะต้องเข้ารัฐลดน้อยลง จึงต้องส่งให้นักวิชาการที่อยู่ระหว่างแก้ไขประมวลรัษฎากรศึกษาว่าถึงเวลาหรือยังที่ต้องปรับปรุงแก้ไขในส่วนนี้โดยพิจารณาจากการจัดเก็บภาษีดังกล่าวทั่วโลกว่าเป็นอย่างไรและประเภทใดที่จะเหมาะสมในบ้านเรา"นายสาธิต กล่าว

สำหรับการจัดเก็บภาษีคณะบุคคลในปัจจุบันของประเทศไทยจะจัดเก็บจากรายได้สุทธิของคณะบุคคลนั้นๆ และจะไม่จัดเก็บอีกเมื่อแบ่งรายได้ให้ผู้ถือหุ้นแล้ว แต่บางประเทศเช่นนิวซีแลนด์จะไม่จัดเก็บตอนต้นแต่จะมาจัดเก็บเมื่อแบ่งรายได้ให้ผู้ถือหุ้นแล้ว

นายสาธิต กล่าวด้วยว่า สิ่งที่จะส่งให้ศูนย์วิจัยกฎหมายฯศึกษาพร้อมกันไปด้วยคือการจัดเก็บภาษีคู่สมรสว่าถึงเวลาที่ต้องแก้ไขเพื่อให้คู่สมรสแยกกันยื่นแทนที่จะคิดรายได้รวมแล้วยื่นครั้งเดียวจะทำให้เม็ดเงินในการเสียภาษีสูงขึ้นเพราะระบบภาษีในประเทศไทยจัดเก็บอัตราก้าวหน้า ยิ่งมีเงินได้มากก็ต้องเสียมาก ขณะที่การแยกยื่นจะช่วยให้รายได้สุทธิในการคำนวณภาษีลดลง ซึ่งบุคคลธรรมดาส่วนใหญ่จะเสียภาษีในอัตราต่ำสุดที่ 5% ทั้งนี้หลักการภาษีคู่สมรสเกิดจากสังคมไทยในอดีตผู้ชายทำงานมีรายได้เป็นเม็ดเงินเพียงฝ่ายเดียว และอยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ แต่ปัจจุบันสังคมไทยเป็นสังคมขยาย ลูกหลานแยกครอบครัวออกไปและคู่สามีภรรยาต่างมีงานทำ
กำลังโหลดความคิดเห็น