ศูนย์ข่าวขอนแก่น-เศรษฐกิจอีสานไตรมาส 2 ยังโตต่อเนื่อง แม้ต้องเผชิญปัญหาน้ำมันแพง ธปท.อีสาน เผยปัจจัยภาคเกษตรแข็งแกร่ง ราคาสินค้าเกษตรยังสูงแทบทุกชนิด ทั้งอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรเพิ่มการผลิต รวมถึงอานิสงส์จากลาวเป็นเจ้าภาพจัดกีฬาซีเกมส์ปีหน้า ส่งผลให้ลาวนำเข้าสินค้าก่อสร้างเพิ่ม แต่ห่วงปัญหาน้ำมันแพงฉุดเศรษฐกิจ ต้นทุนการผลิตสูง ราคาอาหารพุ่ง ดันเงินเฟ้อถึง 8.8% เชื่อเศรษฐกิจไตรมาส 3 ยังมีลู่ทางขยายตัวดี เหตุสินค้าเกษตรยังขายได้ราคาดี จับตาปัญหาราคาน้ำมัน ปัจจัยการเมืองในประเทศ และกรณีเขาพระวิหาร อาจกระทบเศรษฐกิจ
ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท.สภอ.) จัดแถลงข่าวเศรษฐกิจครั้งที่ 3/2551 โดยมีนายสมชาย เสตกรณุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท.สภอ.แถลงข่าว ณ สถานสวัสดิการสงเคราะห์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ริมบึงแก่นนคร อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
นายสมชาย เสตกรณุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไตรมาสที่สองปี 2551 ว่า ภาวะเศรษฐกิจไตรมาสที่สองขยายตัวในอัตราที่ลดลงจากไตรมาสแรกเล็กน้อย ปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจโดยรวมของภาคอีสานยังดี แม้ว่าต้องเผชิญกับปัญหาน้ำมันแพง ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวไม่สูงนัก
ปัจจัยหลักภาคเกษตรกรรมยังแข็งแกร่ง เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรหลายชนิด ยังมีราคาสูงขึ้น ยกเว้นข้าวเปลือกเหนียวที่ลดลงโดยดัชนีรายได้เกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขณะเดียวกันการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากอุตสาหกรรมน้ำตาล อุตสาหกรรมแป้งมัน และอุตสาหกรรมผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ล้วนผลิตเพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกันในภาคบริการ ขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.1 จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน เนื่องจากในเดือนเมษายนเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์มีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน จังหวัดต่างๆมีการจัดงานเทศกาลสงกรานต์ รวมถึงกิจกรรมท่องเที่ยวอื่นๆ โดยอัตราการเข้าพักโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 45.9 ลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนที่มีอัตราการเข้าพักร้อยละ 51.4
นายสมชาย กล่าวต่อว่า ส่วนการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยเครื่องชี้วัดที่สำคัญ ประกอบด้วย การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งสิ้น 2,439.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 19.1 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของยอดจำหน่ายห้างสรรพสินค้าและธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีก การจดทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลมีจำนวน 25,230 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขณะที่รถจักรยานยนต์มีจำนวน 106,411 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2
ที่สำคัญการค้าชายแดนขยายตัวดี ทั้งการค้าชายแดนไทย-ลาว และไทย-กัมพูชา โดยการค้าชายแดนไทย-ลาว มีมูลค่าการค้าทั้งสิ้น 19,207.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แยกเป็นการส่งออก 14,954.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 42.7 เป็นการเพิ่มขึ้นของหมวดสินค้าทุกหมวด โดยเฉพาะหมวด วัสดุก่อสร้าง เครื่องจักร และอุปกรณ์ก่อสร้างเขื่อน และสถานที่ต่างๆ เพื่อรองรับการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ปี 2552 ส่วนมูลค่าการนำเข้า 4,253.1 ล้านบาท ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันปีก่อน
ส่วนการค้าชายแดนไทย-กัมพูชา มีมูลค่าการค้าทั้งสิ้น 13,691.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 55.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 55.9 แยกเป็นการส่งออก 12,955 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 54.0 เป็นการเพิ่มขึ้นของสินค้าทุกหมวด ส่วนใหญ่ส่งออกยานพาหนะและส่วนประกอบ ตามความต้องการภายในประเทศ ส่วนมูลค่าการนำเข้า 736.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 98.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน
น้ำมันแพงฉุดเศรษฐกิจ ดันเงินเฟ้อพุ่ง8.8%
อย่างไรก็ตาม ปัญหาราคาน้ำมันแพง เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจไตรมาสที่สอง ราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องและอยู่ในระดับสูง ได้ส่งผลกระทบต่อการลงทุนเอกชน ชะลอตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ทำให้ต้นทุนประกอบการเพิ่มขึ้น โดยโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนมีจำนวน 15 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 2,599.0 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 46.4 และร้อยละ 75.9 ตามลำดับ
ทั้งนี้ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (ภาวะเงินเฟ้อ) สูงขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.8 เนื่องจากราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 13.0 และหมวดอื่นๆไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 6.2
ส่วนพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลเมืองและเทศบาลนครจำนวน 474,006.9 ตารางเมตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงจากไตรมาสแรกที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.0 แต่การจดทะเบียนธุรกิจตั้งใหม่มีทุนจดทะเบียน 1,585.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 69.7 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีโครงการที่ใช้เงินลงทุนสูง
ด้านภาวะการจ้างงาน มีตำแหน่งงานว่าง 12,671 อัตรา ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.5 มีผู้สมัครงาน 23,997 คน มีผู้ได้รับการบรรจุเข้าทำงาน 8,407 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 และร้อยละ 3.4จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนคนไทยภาคอีสานที่เดินทางไปทำงานยังต่างประเทศจำนวน 24,787 คน ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.8 ส่วนใหญ่ไปทำงานที่ประเทศไต้หวัน สิงคโปร์ เกาหลีใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิสราเอล และกาตาร์
สำหรับภาคการเงิน ธนาคารพาณิชย์ในภาคมีเงินฝากคงค้าง 361,318 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 ส่วนใหญ่เป็นเงินออมทรัพย์และเงินฝากประจำ ส่วนด้านสินเชื่อมียอดคงค้าง 361,998 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลขยายตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลอตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีนี้ เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ และลูกค้าชะลอการใช้จ่าย
ส่วนภาคการคลัง การจัดเก็บภาษีอากรสามารถจัดเก็บได้ 10,911.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.4 แยกเป็นภาษีสรรพากรรวม 6,512.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.2 ภาษีสรรพสามิตจัดเก็บได้ 4,328.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.0
ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท.สภอ. กล่าวถึงแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจภาคอีสานช่วงไตรมาสที่ 3 ว่า คาดว่าภาวะเศรษฐกิจภาคอีสานช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2551 จะยังคงขยายตัวดี สาเหตุหลักมาจากราคาพืชผลการเกษตรยังอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งการเพาะปลูกได้รับผลดีจากสภาพอากาศที่ฝนตกชุกในปีนี้ จะทำให้เกษตรกรในภาคอีสานสามารถขายผลผลิตเกษตรได้ราคาดี และได้รับผลดีจากการเพาะปลูก
ที่สำคัญภาคอีสาน ได้รับอานิสงส์จากการที่ลาว ได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ในปี 2552 จะส่งผลดีด้านการท่องเที่ยว และด้านการค้าชายแดนของภาคอีสานตลอดทั้งปี 2551ขยายตัวดีขึ้น ทั้งยังมีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ แต่ยังคงต้องระมัดระวังปัญหาราคาน้ำมัน และสถานการณ์ความตรึงเครียดระหว่างไทย-กัมพูชา กรณีเขาพระวิหาร และปัจจัยการเมืองของประเทศด้วย