xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์ชาติใต้จับตา Q2 พิษน้ำมัน-ซับไพรม์มะกัน ตัวเสี่ยงเศรษฐกิจย่ำ “ประมง-อุตสาหกรรม” ฝืด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธุรกิจประมงในภาคใต้ยังคงซบเซาต่อเนื่องในไตรมาส 2 จากพิษราคาน้ำมัน ส่งผลให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องขาดแคลนวัตถุดิบ
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่-แบงก์ชาติสำนักงานภาคใต้ เผยภาวะเศรษฐกิจใต้ไตรมาสแรกรายได้เกษตรกรเพิ่มร้อยละ 30.2 ด้วยราคายางพาราพุ่งเฉลี่ย 81 บาท/กก.ส่วนปาล์มทะลายแตะ 5.47 บาท/กก.รวมกับภาคการท่องเที่ยวที่มีต่างชาติเข้าเที่ยวทั้งฝั่งอันดามันและสงขลาเฉียดล้านคน แต่ห่วงภาคประมงที่วิกฤตต่อเนื่องไร้ทางควบคุมด้วยพิษราคาน้ำมัน สัตว์น้ำไทยมีน้อย รายใหญ่หันไปทำประมงนอกน่านน้ำและขึ้นสัตว์น้ำท่าเทียบเรือยังต่างประเทศแทน ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่อง เพราะขาดแคลนวัตถุดิบ ชี้ปัจจัยเสี่ยงต่อ ศก.ใต้ที่น่าจับตาในไตรมาสต่อไปยังคงเป็นความผันผวนด้านราคาน้ำมันในตลาดโลก และหนี้เสียสินเชื่อด้อยมาตรฐานของสหรัฐอเมริกา

นายนิรุธ รักษาเสรี ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคใต้ไตรมาส 1 ปี 2551 ว่าเศรษฐกิจภาคใต้โดยรวมในไตรมาสแรกขยายตัวทั้งการผลิตและการใช้จ่าย โดยอุปทานในภาคเกษตรและการท่องเที่ยวขยายตัว ส่วนการทำประมงและอุตสาหกรรมหดตัว อุปสงค์ด้านการบริโภคภาคประชาชนปรับขยายตัวจากปัจจัยสนับสนุนด้านรายได้เกษตรและการท่องเที่ยว การเบิกจ่ายเงินงบประมาณเพิ่มขึ้น การส่งออกขยายตัวดี การลงทุนยังคงซบเซา ส่วนระดับราคาอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งตัวขึ้นตามราคาสินค้าหมวดอาหารฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ภาคเกษตรดัชนีรายได้เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 30.2 ทั้งปริมาณการผลิตและราคา โดยดัชนีผลผลิตหลักเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตยางพาราและปาล์มน้ำมัน ขณะเดียวกันราคาพืชผลผลิตหลักปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.5 เนื่องจากราคายางพาราและปาล์มทั้งทะลายเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 81.86 บาท/กิโลกรัม และ 5.47 บาท/กิโลกรัม หรือร้อยละ 14.4 และ 74.2 ตามลำดับ

แต่ในไตรมาสนี้ภาคประมงหดตัวต่อเนื่อง จากต้นทุนการประมงที่สูงขึ้น ปริมาณสัตว์น้ำนำขึ้นท่าเทียบเรือทางการ 65,030 เมตริกตัน ลดลงร้อยละ 15.7 ส่วนผลผลิตกุ้งมีปริมาณลดลงร้อยละ 26.2 เนื่องจากเกษตรกรชะลอการเสี่ยงหลังประสบปัญหาราคากุ้งตกต่ำ และสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย ทำให้เกิดโรคระบาดในหลายพื้นที่ ขณะที่ราคากุ้งปรับลดลงมาตั้งแต่ต้นปี เนื่องจากตลาดต่างประเทศชะลอการนำเข้า ราคากุ้งขนาด 60 ตัว/กิโลกรัมเฉลี่ย 111.83 บาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 2.3 ยกเว้นกุ้งขนาด 50 ตัว/กิโลกรัมที่ราคาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องร้อยละ 3.8 หรือเฉลี่ย 131.67 บาท

นายนิรุธ กล่าวถึงภาคอุตสาหกรรมว่า ในไตรมาสนี้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 2.8 เนื่องจากการผลิตเพื่อการส่งออกลดลงตามความต้องการและวัตถุดิบเป็นสำคัญ โดยอุตสาหกรรมยางมีปริมาณการส่งออกลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 14.6 สัตว์น้ำแช่แข็งลดลงร้อยละ 21.2 และอาหารบรรจุกระป๋องลดลงร้อยละ 15.4 ขณะที่ผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบมีปริมาณเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 48.3 ตามผลผลิตปาล์มน้ำมันที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 56.2

“ด้วยปัญหาของภาคประมงส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่องมานานทั้งระบบ นับตั้งแต่ราคาน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนหลักพุ่งสูงขึ้น ประกอบกับอ่าวไทยมีสัตว์น้ำน้อย ต้องพึ่งพาการทำประมงนอกน่านน้ำซึ่งต้องนำสัตว์น้ำขึ้นที่ต่างประเทศตามข้อตกลง โดยเฉพาะที่อินโดนีเซียที่ไทยยังไม่รวมถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคประมงเองด้วย ทำให้ภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากประมงขาดแคลนวัตถุดิบและต้องนำเข้าสัตว์น้ำจากต่างประเทศ และยอมรับว่าการแก้ไขปัญหายังไม่สามารถทำได้เพราะปัจจัยราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นต้นทุนหลักของประมงนั้นไม่สามารถควบคุมได้ แต่ก็ยังมีกุ้งที่เป็นวัตถุดิบเสริมในการส่งออก และผู้ประกอบการเองก็ต้องปรับตัวต่อสภาพความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น” นายนิรุธ กล่าว และว่า

ในไตรมาสนี้ภาคการท่องเที่ยวทั้งภาคใต้ขยายตัวอย่างสดใส ด้วยมีกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องทั้งฝั่งอันดามัน และนักท่องเที่ยวต่างชาติมั่นใจความปลอดภัยใน จ.สงขลา จึงเดินทางกลับเข้ามาท่องเที่ยวอีก โดยมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในภาคใต้รวม 952,392 คน เพิ่มจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 15.3 อัตราการเข้าพักโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 66.2

จากรายได้ภาคเกษตรที่ปรับเพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้ส่งผลให้การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนมีดับชีขยายตัวร้อยละ 2.6 โดยภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้เพิ่มขึ้น และเครื่องชี้ในหมวดสินค้าคงทนปรับตัวดีขึ้น โดยยอดการจดทะเบียนรถเพิ่มขึ้นทุกประเภท โดยเฉพาะรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คนมีการจดทะเบียนใหม่ถึง 9,946 คัน หรือเพิ่มขึ้นสูงสุดร้อยละ 11.5

นายนิรุธ กล่าวด้วยว่า ในไตรมาสนี้การลงทุนของภาคเอกชนไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากขาดความเชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจ ประกอบกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ทำให้โครงการที่ได้รับการส่งเสริมจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ทั้งจำนวนรายและเงินลงทุนลดลงร้อยละ 28.6 และ 46.6 ตามลำดับ พื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างลดลงร้อยละ 11.4 ตามการลดลงของการก่อสร้างและที่อยู่อาศัยและบริการเป็นสำคัญ ส่วนการจดทะเบียนธุรกิจนิติบุคคลจำนวนรายเพิ่มขึ้น แต่ทุนจดทะเบียนลดลง ส่วนระดับราคา อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของภาคใต้อยู่ที่ร้อยละ 5.1 ตามราคาสินค้าในหมดอาหารและเครื่องดื่มที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4

ทั้งนี้ การค้าต่างประเทศผ่านด่านศุลกากรในภาคใต้มีมูลค่ารวม 4,219.9 ล้านดอลลาร์ สรอ.เพิ่มจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 9.1 แยกเป็นมูลค่าการส่งออก 2,882.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.1 ตามการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการส่งออกยางพาราเป็นสำคัญ ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 1,337.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 0.3 เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ลดลงร้อยละ 26.0

ภาคการคลัง การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการในภาคใต้มีจำนวน 32,654.0 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 2.9 ตามการเพิ่มขึ้นของการเบิกจ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในทุกคลังจังหวัด ส่วนรายได้จากการจัดเก็บภาษีทุกประเภทลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.9

ด้านภาคการเงินทั้งเงินฝากและสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 8.8 และร้อยละ 12.2 ตามลำดับตามการขยายตัวของสินเชื่อในพื้นที่เศรษฐกิจหลัก 3 จังหวัดคือ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และสงขลา โดยสินเชื่อที่ขยายตัวมากได้แก่สินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล

สำหรับแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ในไตรมาส 2 ปี 2551 คาดว่าจะยังคงขยายตัวต่อเนื่อง เนื่องจากรายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้นจากราคาพืชผลเกษตรที่สำคัญ เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ซึ่งอยู่ในระดับสูง ประกอบกับการท่องเที่ยวขยายตัวดีขึ้น โดยเฉพาะฝั่งอันดามัน ขณะที่ภาคใต้ตอนล่างเริ่มปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ช่วงสงกรานต์ ตลอดจนเงินงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงคือความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก และปัญหาหนี้เสียในส่วนของสินเชื่อประเภทด้อยมาตรฐานของสหรัฐอเมริกา [ซับไพรม์]

กำลังโหลดความคิดเห็น