xs
xsm
sm
md
lg

ท่องเที่ยวหาดใหญ่ฟื้น ธปท.ชี้ ศก.ใต้ปี 51 ยังฉิว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ธปท.ภาคใต้ เผยไตรมาส 4 ปีหมู เศรษฐกิจภาคใต้โดยรวมปรับตัวดีขึ้น โดยที่ อ.หาดใหญ่ นักท่องเที่ยวเชื่อมั่นในความปลอดภัย จากการจับกุมแกนนำป่วนใต้หลายราย ส่งผลให้ยอดปรับขึ้นร้อยละ 2.1จากไตรมาสก่อนที่ลดลงร้อยละ 29.1 และคาดว่ามีแนวโน้มเศรษฐกิจใต้ยังขยายตัวต่อเนื่องจนถึงปี 2551เนื่องจากการเมืองเริ่มมีความชัดเจน ตลอดจนได้รับเงินงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ

นายนิรุธ รักษาเสรี ผู้อำนวยการธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ไตรมาสที่ 4 ปี 2550 ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจใต้ปรับตัวดีขึ้น ทั้งทางด้านอุปสงค์และอุปทาน โดยมีปัจจัยบวกด้านภาคการเกษตรและการท่องเที่ยว แต่ปัจจัยลบด้านราคาน้ำมันยังส่งผลกระทบต่อด้านต่างๆ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 จากร้อยละ 1.1 ในไตรมาสก่อน เนื่องจากการปรับเพิ่มราคาสินค้า รวมถึงปัญหาความไม่สงบ 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

ในภาคเกษตร ผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 และราคาพืชผลหลักเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.8 ตามยางพาราและปาล์มน้ำมันที่เป็นผลผลิตหลักที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.2 และ 74.4 ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.3 ยกเว้นภาคการประมงที่หดตัวจากภาวะต้นทุน ราคาน้ำมันสูงแต่ราคาสัตว์น้ำไม่สามารถปรับตัวตามได้ โดยมีปริมาณ 76,733.7 เมตริกตัน มูลค่า 2,950.8 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 5.6 และ 5.3 ตามลำดับ ผู้ประกอบการประมงหลายรายจึงหยุดทำประมงเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ประมาณสัตว์น้ำนำขึ้นท่าเทียบเรือลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน

นายนิรุธ ยังกล่าวด้วยว่า ไตรมาสสุดท้ายปีก่อนมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศประมาณ 894,303 คน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 18.8 โดย จ.ภูเก็ต มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.3 เช่นเดียวกับภาคใต้ตอนล่าง โดยเฉพาะ อ.หาดใหญ่ ภาวะการท่องเที่ยวเริ่มดีขึ้นเช่นเดียวกัน เนื่องจากนักท่องเที่ยวมีความมั่นใจในความปลอดภัยมากขึ้น หลังจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอชายแดนของสงขลา เริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดี มีการจับกุมแกนนำและแนวร่วมก่อความไม่สงบได้มากขึ้น ส่งผลให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางมาเที่ยวในจังหวัดสงขลาเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.1 และปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ลดลงร้อยละ 29.1

ปัจจัยบวกทั้งราคาผลผลิตเกษตรและการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้การอุปโภคบริโภคของภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นเช่นกันร้อยละ 3.3 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 จากเครื่องช้ำสำคัญ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มร้อยละ 9.4 เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูงและสถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ก็ยังคงเป็นปัจจัยลงที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคส่วนหนึ่ง

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของภาคใต้อยู่ที่ร้อยละ 3.0 เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 1.1 ในไตรมาสก่อน เป็นผลจากการเพิ่มราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าหมวดเป็นไก่ หมวดไข่และผลิตภัณฑ์นม หมวดผักและผลไม้ หมวดยานพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร เป็นต้น

ทั้งนี้ภารการลงทุนเอกชนยังหดตัว มีโครงการที่รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนในไตรมาสนี้ 14 โครงการ ลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน 5 โครงการ เงินลงทุนรวม 4,407.1 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 7.3 ส่วนการจดทะเบียนธุรกิจนิติบุคคลทั้งจำนวนรายและทุนจดทะเบียนลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 5.8 และ 19.5 ตามลำดับ

เช่นเดียวกับการค้าต่างประเทศที่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 5.3 ได้แก่ ถุงมือยาง สัตว์น้ำแช่แข็ง ยางพารา และไม้ยางพาราแปรรูปและเฟอร์นิเจอร์ ส่วนมูลค่าการส่งออกผ่านด่านศุลกากรรวม 2,631.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการนำระบบ e-Customs มาใช้ ส่วนการนำเข้ามีมูลค่ารวม 1,449.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.6 ตามการเพิ่มขึ้นของการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง อุปกรณ์ก่อสร้าง และสัตว์น้ำแช่แข็ง

นอกจากนี้ นายนิรุธยังกล่าวถึงภาคการเงินว่า ณ สิ้นเดือนธันวาคม เงินฝากคงค้างของสาขาธนาคารพาณิชย์มีประมาณ 392,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 6.0 ในอัตราชะลอตัวต่อเนื่อง สินเชื่อคงค้างมีประมาณ 334,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.6 ซึ่งใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน ทั้งนี้การขยายสินเชื่อส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่เศรษฐกิจหลักคือ จ.สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต และสงขลา

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจและการเงินของภาคใต้ในปี 2551 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ คาดว่ามีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากปลายปี 50 เนื่องจากการเมืองเริ่มมีความชัดเจน ตลอดจนได้รับเงินงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวัง คือ ความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก และปัญหาซับไพรม์ (Subprime)ของสหรัฐอเมริกา แต่คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาคใต้มากนัก เนื่องจากสินค้าหลัก เช่น ยางพารา ส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาเพียงร้อยละ 8 เท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น