xs
xsm
sm
md
lg

เลือกซื้อแฟรนไชส์อย่างไรไม่ให้ถูกหลอก!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เป็นเรื่องไม่ยากเลย ที่จะซื้อแฟรนไชส์ ไม่ให้ผิดหวัง แต่ปัญหาที่สำคัญของคนส่วนใหญ่ ก็คือ ไม่ลงสนามสำรวจของจริง นี่ข้อผิดพลาดที่ไม่ทำการบ้าน จึงเกิดผลเสียหายตามมาอย่างที่เราเห็นกัน แต่ที่จริงแล้ว ถ้าคุณได้ปฏิบัติตามข้อแนะนำนี้ โดยไม่ละเลย เชื่อมั่นได้ว่า คุณจะได้คนพบผู้ร่วมธุรกิจที่ดี และไม่มีทางถูกหลอกได้อย่างแน่นอน

สมจิตร ลิขิตสถาพร กรรมการผู้จัดการ บริษัทแฟรนไชส์โฟกัส ผู้ผลิตนิตยสาร และจัดงานแสดงบูท โอกาสธุรกิจ&แฟรนไชส์ ได้เสนอข้อแนะนำต่อไปนี้จะเรียงลำดับ จากสิ่งคุณควรยึดปฏิบัติ เป็นอันดับแรกก่อน

อันดับที่ 1 สำรวจร้าน

ที่จริงแล้ว การตัดสินใจเลือกซื้อแฟรนไชส์ หรือเลือกซื้อธุรกิจใดๆ เพียงคุณได้ลงมือปฏิบัติตามข้อแรก ข้อนี้เพียงข้อเดียว ก็ช่วยคุณได้แล้ว ถ้าคุณคิดว่ากำลังจะซื้อธุรกิจแฟรนไชส์ใดก็ตาม คุณจำเป็นจะต้องรู้ว่า ร้านแฟรนไชสซี่ หรือผู้ที่ซื้อธุรกิจนี้ก่อนหน้านี้ เป็นใคร และอยู่ที่ไหนกันบ้าง คุณจะต้องขอหรือหารายชื่อมาให้ได้ และลงสนามสำรวจร้านจริงที่มีอยู่แล้วว่า พวกเขาเป็นอย่างไรกันบ้าง และร้านเหล่านั้นทำกำไรได้จริงหรือไม่

ถ้าแฟรนไชส์ที่ดีจริง จะต้องไม่ปิดบัง หรือกีดกันไม่ให้คุณไปรู้จักร้านเหล่านั้น เขาจะต้องเต็มใจให้คุณศึกษาให้มั่นใจเสียก่อน ถึงข้อดี-ข้อเสีย เพื่อให้คุณมีความพร้อมเต็มที่ที่จะทำธุรกิจนั้นให้สำเร็จ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ คุณต้องลงสนามสำรวจร้านให้มากที่สุดเท่าที่คุณจะทำได้ ไม่ใช่ไปคุยแค่ 1 แห่ง คุณก็มาสรุปแล้วว่า เป็นธุรกิจที่ดีหรือไม่ดี สมมุติว่า แฟรนไชส์ที่คุณสนใจ มีร้านแฟรนไชซีเปิดไปก่อนแล้ว 10 แห่ง คุณก็ควรไปสำรวจให้ได้อย่างน้อย ครึ่งหนึ่ง คือ 5 แห่งเป็นต้น ประเด็นสำคัญที่คุณจะนำไปใช้ในการตัดสินใจก็คือ ถ้าร้านที่คุณไปพบมานั้น ดีเกินกว่าครึ่งก็แปลว่าใช้ได้ แต่ถ้าส่วนใหญ่ไม่ค่อยดีนัก คุณก็ต้องนำมาคิดกันใหม่

การออกเยี่ยมร้าน เป็นการตรวจเช็คที่ดีที่สุด ที่คุณละเลยไม่ได้อย่างเด็ดขาด ซึ่งถ้าคุณลงมือแล้วคุณจะพบคำตอบที่จริงที่สุด และดีที่สุดได้ด้วยตัวของคุณเอง

ในการทำวิจัยร้านที่มีอยู่แล้วนี้ อาจสร้างความลำบากใจให้คุณอยู่บ้าง ที่ไม่พบตัวเจ้าของร้าน หรือเจ้าของร้านอาจไม่เต็มใจที่จะพูดคุยกับคุณ แต่คุณก็ต้องมีความพยายามหาวิธีการหาข้อมูลที่ต้องการ แต่ถ้าคุณได้เจอคนที่ชอบพูดคุยเกี่ยวกับความสำเร็จของตัวเอง หรือบางคนไม่พอใจบริษัทแม่ พวกเขาก็จะยินดีพูดคุยกับคุณ

อย่างไรก็ตาม มีคำถามสำหรับแฟรนไชซี่ที่คุณควรถาม เพื่อให้คุณ ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ดังนี้ คือ

การลงทุนธุรกิจนี้ คุณใช้ไปเท่าไหร่ ตรงตามที่บริษัทแม่บอกเอาไว้หรือไม่ ?
สินค้าที่คุณขาย ใครเป็นกลุ่มลูกค้า ?
คุณภาพสินค้าที่ขายนี้ ดีไหม ลูกค้านิยมไหม ?
คุณมีลูกค้าต่อวัน ประมาณเท่าไหร่ ?
สินค้าที่บริษัทแม่จัดให้ ส่งทันไหม และเพียงพอหรือไม่ ?
คุณได้รับการอบรมจากบริษัทแม่บ่อยแค่ไหน และอบรมในเรื่องอะไรบ้าง วิธีการอบรมเป็นอย่างไร ?
อะไรคือปัญหาของธุรกิจนี้ ?
บริษัทแม่ มีมนุษยสัมพันธ์ดีไหม ?
คุณพอใจกับแผนการตลาดที่บริษัทแม่ทำให้หรือไม่ และได้ผลดีไหม?
บริษัทเม่ มีการจัดทำคู่มือการทำธุรกิจหรือไม่ และคู่มือนั้นใช่ได้หรือเปล่า?
สินค้าที่ขาย ขายได้ตลอดทั้งปีไหม หรือขายดีเฉพาะบางช่วง ?
คุณเคยมีเรื่องขัดแย้งกับบริษัทแม่หรือไม่ ถ้ามีเป็นเรื่องอะไร และมีทางออกในการแก้ปัญหากันอย่างไร?
ถ้าให้คุณเริ่มใหม่ คุณจะซื้อแฟรนไชส์นี้อีกหรือไม่ เพราะอะไร ?
คุณรู้ไหมว่า ร้านไหนทำรายได้ดีที่สุด และอยู่ที่ไหน ?
คุณทราบไหมว่า มีร้านไหนที่ปิดตัวไปบ้าง เพราะอะไร และอยู่ที่ไหน ?
ลักษณะนิสัยของเจ้าของหรือผู้บริหารแฟรนไชส์นี้ เป็นอย่างไร ?
คุณต้องจ่ายเงิน ให้กับบริษัทแม่ เป็นค่าอะไรบ้าง และจ่ายด้วยวิธีการแบบไหน ?
ร้านของคุณทำกำไรได้หรือไม่ ?
การหาคำตอบว่าร้านได้กำไรเท่าไหร่ คงเป็นเรื่องยากที่จะได้รับคำตอบ แต่ก็เป็นข้อมูลสำคัญยิ่งที่คุณต้องมี ที่จะนำมาใข้ในการตัดสินใจ ถึงแม้ว่าคุณไม่รู้ข้อมูลนี้โดยตรง แต่คุณก็จะสามารถพอจะเมินตัวเลขได้จากการสังเกตุการณ์

เช่น สมมุติว่า เป็นร้านก๋วยเตี๋ยว คุณอาจมีการกดตัวเลขคนเข้าร้าน โดยจ้างเด็กไปแอบนับก็ได้ ถ้าคุณไม่ทำเอง แต่การนับคุณต้อง ใช้ข้อมูลทั้งช่วงวันปกติ และวันเสาร์-อาทิตย์ จากนั้นคุณต้องเฉลี่ยการใช้จ่ายต่อ 1 คนที่เข้าร้าน เช่น ร้านก๋วยเตี๋ยวเฉลี่ยต่อคนอาจจะจ่ายที่ 80 บาท/คน คุณก็มาคำนวณ เป็นรายได้ ต่อวัน แต่ต่อเดือนออกมาได้ ส่วนตัวเลขค่าใช้จ่าย เจ้าของร้านอาจจะให้คุณได้ ทีนี้คุณก็จะสามารถประเมินรายได้ต่อเดือนของธุรกิจที่คุณสนใจนั้นออกมาได้ และประเมินตัวเลขออกมาได้ว่า จริงๆแล้วเดือนหนึ่งคุณอาจจะเหลือกี่บาท หรืออาจขาดทุนประมาณกี่บาท

ไม่ยกเลย ที่จะหาข้อมูล ถ้าคุณได้ลงมือทำแบบนี้แล้ว ที่คุณสามารถตัดสินใจที่ถูกต้องได้ด้วยตัวคุณเอง อย่างชนิดที่ไม่มีทางที่ใครจะมาหลอกคุณได้อย่างแน่นอน

อันดับที่ 2 สำรวจตัวเอง

สิ่งที่ผิดมากที่สุดในเรื่องของแฟรนไชส์ก็คือ คนส่วนมากเข้าใจผิดว่า การซื้อแฟรนไชส์ เป็นการเอาเงินมาลงทุน แล้วบริษัทแม่จะต้องช่วยทำให้กิจการนั้นจนได้ผลกำไร โดยผู้ซื้อแฟรนไชส์คอยรับผลตอบแทน

นี่เป็นเรื่องที่เข้าใจกันมากจริงๆ ทำให้คนตกเป็นเยื่อ ของการระดมเงิน ซึ่งไม่ใช่วิธีการของแฟรนไชส์เลย

คุณต้องจำไว้ว่า การทำธุรกิจแฟรนไชส์นั้น คุณต้องลงมือทำเอง หรือบริหารเองเท่านั้น ธุรกิจจึงจะมีกำไร หลักของแฟรนไชส์ก็คือ การที่กิจการหนึ่งเดยประสบความสำเร็จมาแล้ว และขายระบบงานที่ประสบความสำดเร็จนี้ให้คนอื่นทำบ้าง ดังนั้นการจะทำแฟรนไชส์ให้ได้เงิน จึงขึ้นกับการทำงานตามระบบงาน โดยมีบริษัทแม่เป็นผู้สนับสนุน

ดังนั้น ข้อสำคัญลำดับที่ 2 นี้ก็คือการสำรวจตัวเองว่า คุณมีความพร้อม ความตั้งใจที่ทำธุรกิจนั้นๆหรือไม่ ถ้าคุณไม่อยากทำกิจการนั้นจริง ก็ผิดทางที่คุณจะนำเงินมาลงทุน

อันดับ 3 สำรวจบริษัท

แต่คุณได้ผ่าน 2 ขั้นตอนขั้นต้นมาแล้ว อันดับ 3 ที่คุณก็จำเป็นต้องศึกษา คือ บริษัทแม่ว่า มีตัวตนจริงหรือไม่ กิจการที่อาศัยเรื่องของแฟรนไชส์มาระดมเงิน มีเกิดขึ้นเสมอ กิจการเหล่านั้น มมักเพิ่งก่อตั้งขึ้นมาไม่นาน บางรายไม่มีตัวตนด้วยซ้ำ วิธีการเลือกบริษัท แฟรนไชส์ที่ดี ที่คุณสมควรเข้าร่วมธุรกิจด้วย ควรมีลักษณะดังนี้

-มุ่งหวังเป็นอันดับ 1

แฟรนไชส์ที่คุณเลือกนั้น ควรมีเป้าหมาย ต้องการเป็นผู้นำการตลาด ซึ่งมันจะทำให้คุณได้ประโยชน์ไปด้วย เพราะบริษัทเหล่านี้จะกระตือรือร้นในการทำการตลาด การโฆษณา เพื่อทำให้ได้ส่วนแบ่งการขายสูงสุดของประเทศ โดยมีคุณเป็นช่องทางที่จะช่วยให้ถึงเป้า

-ความชำนาญในธุรกิจ

ความชำนาญในธุรกิจ เป็นส่วนสำคัญต่อความสำเร็จของคุณด้วย เพราะการซื้อแฟรนไชส์ เป็นการซื้อระบบที่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นกิจการที่จะมาขายแฟรนไชส์ได้ ควรต้องช่ำชองในธุรกิจนั้นๆมากพอ จะเห็นว่ามีโรงงานหลายแห่งอยากจะทำแฟรนไชส์ เพื่อเป็นที่ระบายสินค้าของโรงงาน หรือมุ่งหวังยอดขายสูงสุด แม้กิจการนั้นอาจทำธุรกิจโรงงานมายาวนานนับ 100 ปีก็ตาม แต่อาจไม่ได้มีความชำนาญในเปิดร้านค้าปลีกเลย คุณคิดว่า แฟรนไชส์ลักษณะนี้จะสามารถให้คำแนะนำ และมีวิธีการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับคุณได้ได้หรือไม่ และนี่เป็นความเสี่ยงของคุณ ถ้าคุณซื้อแฟรนไชส์นั้น

-อายุธุรกิจ

เพิ่งเปิดร้านมา 1 ปี หรือ 2 ปี ก็ขายแฟรนไชส์แล้ว คือรายชื่อที่คุณควรโยนทิ้งไปเลย เพราะ กิจการที่จะขายแฟรนไชส์ควรมีอายุแก่พอ ยิ่งมากยิ่งดี เพราะจะทำให้คุณได้รับความรู้จากลองผิด-ลองถูกมาแล้ว นอกจากนี้แล้ว บริษัทที่ขายแฟรนไชส์ควรจะมีระยะเวลาในการขยายร้านสาขาของตัวเอง มาระดับหนึ่งก่อน เพื่อเป็นบทเรียนในการบริหารร้านแฟรนไชส์ได้จริงๆ

-มีอำนาจในการต่อรอง

บริษัทผู้ขายแฟรนไชส์ที่ดี ควรมีอำนาจในการต่อรองได้ดีพอสมควร ที่จะเอื้อประโยชน์ในสิ่งที่คุณทำไม่ได้ อย่างเช่น การเช่าสถานที่ หรือส่วนลดราคาสินค้ากับซัพพลายเออร์ และถ้าถึงขนาดมีเครดิตในการช่วยเหลือคุณในกู้เงินธนาคารก็จะดีมาก บริษัทที่คุณเลือกนั้นควรเป็นบริษัทความน่าเชื่อถือในวงการธุรกิจพอสมควร

-ผู้บริหารมีความสามารถ

ผู้บริหารของบริษัทแม่มีความสำคัญต่อความสำเร็จของคุณเป็นอย่างสูง ธุรกิจแฟรนไชส์ต้องการผู้บริหารที่มีความชาญฉลาด มีคุณธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องมีความสามารถในเรื่องการจัดการร้านสาขา มีธุรกิจจำนวนมาก ขายแฟรนไชส์ได้มากมาย จนเจ้าของงง ไม่รู้ว่าจะบริหารมันต่ออย่างไร สุดท้ายก็ต้องจบไปตามๆกัน คุณอาจจะต้องรู้ประวัติของผู้บริหารบ้างว่า มีประวิติส่วนตัวเป็นอย่างไร ทั้งด้านลักษณะนิสัย และความสามารถในการบริหารธุรกิจ คุณเชื่อมั๊ยว่า แฟรนไชส์ที่ล้มเหลว ส่วนใหญ่ มาจากผู้บริหารเอาเงินไปใช้ผิดประเภท หรือบริหารร้านสาขาไม่เป็น หรือ บริหารกิจการผิดพลาด หรือมีเป้าหมายในการระดมเงิน อย่างที่เราประสบกัน

-มีทีมงานสนับสนุน

ก่อนที่คุณจะตัดสินใจเลือกซื้อแฟรนไชส์ใด คุณต้องมั่นใจว่า มีทีมงานสนับสนุนร้านเครือข่าย โดยได้รู้ว่า จะมีใครทำหน้าที่อะไรบ้าง อย่างไร คุณจะต้องมั่นใจได้ว่า ทีมงานนั้น มีมนุยสัมพันธุ์ที่ดี มีความพร้อม และมีความเป็นมืออาชีพ

-สินค้ามีตลาด

แฟรนไชส์ที่คุณเลือกนั้น ต้องขายสินค้าที่มีลูกค้านิยมมากพอ และสามารถสร้างรายได้ได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่สินค้าที่ขายได้เฉพาะบางช่วงเวลา ไม่เป็นสินค้าแฟชั่น หรือขายสินค้าที่มีคู่แข่งมากเกินไป

-มีระบบ

แฟรนไชส์ที่ดี ควรมีระบบงานที่ดี หรืออย่างน้อยต้องมีโปรแกรมการอบรม เพื่อถ่ายทอดธุรกิจมาสู่คุณอย่างอย่างง่าย และได้ผล มีการจัดทำคู่มือการทำงาน ในด้านต่างๆ ที่ช่วยให้คุณใช้บริหารงานได้ และมีสายด่วนให้คุณปรึกษาได้ และถ้าแฟรนไชส์ใดไม่มีการจัดทำคู่มือ หรือทำไว้เพียงไม่กี่แผ่น ก็แสดงว่าบริษัทนั้นยังไม่มีความเข้าใจในเรื่องแฟรนไชส์เลย

-เป็นเจ้าสิทธิ์ ที่ถูกต้อง

ก่อนที่คุณจะลงลายเซ็นต์ คุณต้องแน่ใจว่า บริษัทนั้นเป็นเจ้าของสิทธิ์อย่างถูกต้อง ในกรณีที่ดิจการนั้นซื้อสินค้าจากที่อื่นมาอีกต่อหนึ่ง เช่นร้านสินค้าแบรนด์แนมต่างๆ ที่คุณควรเห็นหลักฐานว่า กิจการนั้นได้รับการอนุญาตการเป็นตัวแทนที่ถูกต้อง ในระยะเวลาใด เพราะถ้าคุณซื้อแฟรนไชส์จากผู้ที่ไม่ใช่เจ้าของสิทธิ์ที่แท้จริงปัญหายุ่งยากจะตามมา

อันดับ 4 ตรวจสถานะของบริษัท

ไม่ยากที่คุณจะหาข้อมูลเกี่ยวกับฐานะของบริษัทที่คุณต้องการซื้อแฟรนไชส์ คุณสามารถที่จะหาข้อมูลของบริษัทที่คุณต้องการซื้อแฟรนไชส์ได้อย่างง่ายดาย จากการจดทะเบียนบริษัท จากเวปของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อดูว่า บริษัทแฟรนไชส์ที่คุณสนใจ มีใครบ้างเป็นผู้ถือหุ้น ใครเป็นเจ้าของ เจ้าของก็คือผู้ที่เซ็นเอกสารต่างๆ ของทางราชการ และของธนาคารนั่นเอง และทุกปี ทุกบริษัทต้องมีการส่งงบดุล และงบกำไร-ขาดทุน (ยกเว้นกิจการประเภทที่ไม่ต้องจ่ายภาษี เช่น สถานศึกษา เป็นต้น) นี่เป็นหลักฐานที่ดี ที่คุณจะรู้สภาพว่า บริษัทแฟรนไชส์ที่คุณกำลังจะเลือก มีฐานะทางการเงินอย่างไร มีผลการดำเนินงานอย่างไร

อาจมีคนแย้งว่า งบที่ส่งไปนั้น ไม่ใช่ตัวเลขที่เป็นจริง เพราะหลายกิจการมีการเลี่ยงภาษี แต่ข้อมูลเหล่านี้มีหลายส่วนที่บ่งบอกถึงสถานะได้ เช่น จำนวนทรัพย์สินของบริษัท และเงินทุนจดทะเบียนตั้งบริษัท ปีที่ตั้งบริษัท เป็นต้น แต่ถ้าเป็นกิจการแฟรนไชส์ที่ดี อาจมีการเสียภาษีที่ถูกต้อง เพราะบริษัทแม่บางราย ก็ต้องการควบคุมบริษัทแฟรนไชซี่ เพราะต้องมีการจ่ายค่าธรรมเนียมตามเปอร์เซ็นต์ของรายได้ ก็อาจต้องการการทำบัญชีที่ถูกต้อง หรือใกล้เคียงก็ได้

ดังนั้น วิธีการหาข้อมูลเรื่องนี้ มีขั้นตอนต่อไปนี้

หากท่านมีความต้องการที่จะตรวจสอบขั้นแรก

ท่านจะสามารถเข้าไปในเว็ปไซด์ของ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

www.dbd.go.th

กรณีที่เคยเป็นสมาชิกอยู่แล้ว ก็สามารถคียในส่วนของ User name / Password

หรือหากยังไม่เคยสมัครเป็นสมาชิก ก็สามารถคลิกเข้าไปในส่วนของการลงทะเบียนสมัครสมาชิกใหม่

ใส่ข้อมูลของคุณลงไปตามช่อง พร้อมกับการจดจำ User name / Password

ที่ท่านใส่ลงไปด้วย เพื่อจะไว้เป็น ข้อความและรหัสในการเข้ามาดูในครั้งต่อๆไป

หลังจากที่ท่านคลิกที่จะยืนยันการสมัคร ทางระบบก็จะมีการส่งข้อมูลเพื่อยืนยัน

User name / Password ให้กับคุณ

และเมื่อคุณเข้าสู่ระบบ คุณก็สามารถเข้าไปตรวจสอบข้อมูลของธุรกิจ ที่คุณต้องการตรวจสอบได้ ทันที โดยไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ทั้งนี้สิ่งที่คุณจะได้ข้อมูลก็คือ สถานภาพธุรกิจ ,ทุนจดทะเบียนธุรกิจ ,สถานะทางการเงินของธุรกิจ ซึ่งสามารถดูได้จากงบดุลและงบกำไรขาดทุน เป็นต้น

ยกตัวอย่างการเข้าสู่การค้นหาข้อมูล

ขั้นตอนที่ 1 พิมพ์เข้าสู่ เว็บไซด์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า www.dbd.go.th

www.dbd.go.th

กรณีที่เคยสมัครสมาชิกมาก่อน สามารถ ใส่ Username / Password

กรอกรายละเอียด ลงในช่องว่าง ยกตัวอย่าง เช่น

User name : n_inno@hotmail.com

Password : 7204821

ยืนยัน password : 7204821

กรอกชื่อ นาย กอไก่ นามสกุล อินโน

อาชีพ รับจ้าง

ที่อยู่ 2095 ถนนพัฒนาการ

แขวง สวนหลวง เขต สวนหลวง จังหวัด กรุงเทพมหานคร

รหัสไปรษณีย์ 10250

โทรศัพท์ 02 7204821

ผู้ถือบัตร ประชาชน

เลขที่ 0100000100000 (13หลัก)

ออกให้ เขตสวนหลวง วันที่ออก 3 กันยายน 2550

คลิกที่ ลงทะเบียน

อย่าลืม จำ Username และ Password

ขั้นตอนที่ 2 สมัครสมาชิกใหม่(กรณีที่ยังไม่เคยสมัคร)

ขั้นตอนที่ 3 เข้าสู่เมนูการตรวจสอบธุรกิจ

ขั้นตอนที่ 4 ส่วนของขั้นตอนนี้ เมนูด้านข้าง จะเป็นรายการที่คุณจะสามารถเลือกใช้บริการได้

คุณสามารถเลือก พิมพ์ข้อมูลจาก รหัสทะเบียน หรือ คลิกไปในส่วนของค้นหารายชื่อ

กรอกชื่อบริษัท ลงในช่องว่าง แล้ว คลิกไปที่ (ค้นหา)

ตัวอย่างเช่น บริษัท กอไก่ จำกัด ก็พิมพ์คำว่า บริษัท กอไก่ จำกัด แล้วกด คำว่า (ค้นหา)

ซึ่งส่วนนี้คุณจะสามารถค้นหาข้อมูลได้ตั้งแต่

ปัจจุบันสามารถตรวจธุรกิจ ซึ่งจะมีข้อมูลที่จะสามารถตรวจสอบได้ ก็คือ

งบการเงินของนิติบุคคล ของ
เปรียบเทียบงบการเงินของบุคคล 3 ปี
การจัดอันดับนิติบุคคลตามรายได้ 2549
การจัดอันดับนิติบุคคลตามทรัพย์สิน 2549
อันดับที่ 5 เรื่องคืนทุนเป็นเรื่องโกหก

การพูดถึงตัวเลขคืนทุนในเวลาอันสั้น มันได้ผลในการชักชวนลงทุน แต่ คุณต้องจำไว้ว่า การพูดถึงการคืนทุนนั้นเป็นเรื่องโกหก เพราะไม่มีใครที่จะรู้ล่วงหน้าในเรื่องของอนคตได้ แม้ว่า อาจจะมีตัวอย่างความสำเร็จมากมายมาให้คุณเห็นก็ตาม แต่ก็ไม่แน่ว่า คุณทำได้อย่างนั้น ชะตาของธุรกิจคุณ อาจจะมีน้ำท่วม หรืออาจจะมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น และมีตัวแปรที่ต่างกันไป ดังนั้นการบอกว่าคุณจะคืนทุนได้แน่นอนในเวลา 1 ปี 2 ปี หรือกี่ปีก็ตามนั้น เป็นเรื่องโกหก ในในสหรัฐ มีกฎหมายที่กำหนดว่า การชักชวนคนซื้อแฟรนไชส์ด้วยการบอกเรื่องการคืนทุนนี้ เป็นสิ่งที่ผิดฎหมาย

อันดับที่ 6 มีที่ปรึกษา

การเลือกซื้อแฟรนไชส์ไม่ให้ถูกหลอก ถ้าคุณทำตามคำแนะนำข้างต้นนี้ ไม่มีใครมาหลอกคุณได้อย่างแน่นอน แต่อย่างไรก็ตามแฟรนไชส์ในบ้านเรา ถ้าจะให้สมบูรณ์แบบทั้งหมด อาจจะมีน้อยราย ซึ่งอาจทำให้คุณเสียโอกาสทางธุรกิจไปเหมือนกัน เพราะธุรกิจบางอย่างเกิดขึ้นมาใหม่ ใครมาก่อน ก็ได้ก่อน ดังนั้นคุณก็ต้องตัดสินใจด้วยคำนึงถึงความเหมาะสมกับตัวคุณด้วย แต่อย่างน้อยที่สุด การสำรวจร้านแฟรนไชส์ที่มีอยู่เป็นการบ้านที่สำคัญที่สุด ที่คุณละเลยไม่ได้ ก่อนที่จะมีการตัดสินใจ
กำลังโหลดความคิดเห็น