รองผู้ว่าฯ ธปท.โต้ข้อหาแก้เงินเฟ้อ โดยไม่สนใจการเติบโตของศก. เพราะปัญหาใหญ่ขณะนี้ คือเงินเฟ้อสูง ขณะที่ตัวเลขจีดีพียังเติบโตในระดับที่น่าพอใจ ยืนยัน การทำนโยบายการเงิน ต้องมี side effect แต่จะดูแลให้กระทบน้อยที่สุด เช่นเดียวกับธนาคารกลางทั่วโลก
วันนี้ (13 ส.ค.) นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตุว่า ธปท.มุ่งให้ความสำคัญกับเรื่องเงินเฟ้อโดยไม่สนใจเรื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศนั้น เนื่องจาก ธปท.เห็นว่าปัญหาสำคัญของเศรษฐกิจของไทยในขณะนี้คือปัญหาเรื่องเงินเฟ้อสูง ไม่ใช่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยจะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกยังมีอัตราการเติบโตในระดับที่ดี
“หากประเทศไทยต้องการให้เศรษฐกิจโตในระยะยาว ก็ต้องให้แน่ใจว่าปัญหาเงินเฟ้อสูง จะไม่ยืดเยื้อยาวนาว เป้าหมายที่แท้จริงของเรา คือการดูเสถียรภาพราคา เพื่อให้เศรษฐกิจโตอย่างมีเสถียรภาพ โดยปัญหาหลักของเศรษฐกิจไทยตอนนี้คือเงินเฟ้อ ไม่ใช่การขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพราะครึ่งปีแรกเศรษฐกิจยังโตได้ดีอยู่"
รองผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 2/51 จะขยายตัวได้ต่ำกว่า 6% เล็กน้อย โดยเศรษฐกิจไตรมาส 2 จะไม่ห่างจาก 6% มาก แต่อาจจะต่ำกว่าเล็กน้อย
นางอัจนา ยืนยันว่า การตัดสินใจกำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีการหารือกันอย่างรอบคอบ และทุกคนทราบดีว่าการใช้นโยบายการเงินย่อมจะมีผลข้างเคียงที่ชัดเจนกว่าการใช้นโยบายการคลัง แต่การตัดสินใจใช้นโยบายการเงินในการแก้ปัญหาเงินเฟ้อสูงด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ผ่านมามานั้น เชื่อว่าเป็นนโยบายที่เหมาะสม
“หมอต้องแน่ใจว่าคนไข้พร้อมรับยาตัวนี้ การประชุม กนง.ทุกครั้งได้มีการหารือกันว่ายาจะแรงกว่าโรคไม่ได้ เราทราบดีกว่าการทำนโยบายการเงินมี side effect เราจะไม่ให้ยาแรงจนคนไข้รับไม่ไหว และเราไม่ได้มุ่งมั่นที่จะรักษาโรคโดยไม่สนใจ side effect"
พร้อมระบุว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในสภาวะที่เงินเฟ้อสูง และน้ำมันมีราคาแพง เป็นเรื่องที่ธนาคารกลางของหลายประเทศได้ดำเนินการ เพราะได้มีการพิสูจน์แล้วว่าการลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อจะหวังเพิ่มอำนาจซื้อของประชาชนนั้นไม่เป็นผล เนื่องจากเมื่อราคาน้ำมันปรับตัวลดลง เงินเฟ้อก็ยังคงอยู่ในระดับที่สูง
ด้านนายปรเมธี วิมลศิริ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้มีความเป็นไปได้ที่จะเติบโตราว 5% แต่สิ่งสำคัญที่รัฐบาลจะต้องเร่งทำในช่วงครึ่งปีหลังและต่อเนื่องไปจนถึงต้นปีหน้า คือการสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนเพื่อให้เกิดการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน เพราะช่วงที่ผ่านมาการลงทุนภาคเอกชนเริ่มชะลอตัวจากปัญหาเงินเฟ้อ, อัตราดอกเบี้ย รวมถึงปัญหาการเมืองในประเทศ
“เดิมเราคิดว่าการลงทุนภาคเอกชนจะเป็นตัวขับเคลื่อน แต่พอมาเจอปัญหาเงินเฟ้อ ดอกเบี้ย การเมือง การลงทุนเลยชะลอไป เพราะฉะนั้นเราต้องสร้างความมั่นใจและกระตุ้นในครึ่งปีหลังจนถึงครึ่งปีหน้า เพราะเศรษฐกิจที่โตด้วยการลงทุนจะไม่ถูก freeze จากเงินเฟ้อ และต้องอาศัยภาครัฐเป็นตัวช่วยในการสร้างความมั่นใจ" นายปรเมธี กล่าวสรุปทิ้งท้าย