ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เมื่อคืนนี้ พุ่งขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยน-ปอนด์ หลังราคาน้ำมันดิบร่วง 3.69 ดอลลาร์/บาเรล ต่ำสุดในรอบ 3 เดือน นักวิเคราะห์คาด เฟด ตรึงดอกเบี้ยที่ 2% เพราะจะให้ความสำคัญกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ มากกว่าการสกัดกั้นเงินเฟ้อ โดยเชื่อว่า สิ่งที่เฟดกังวลมากที่สุดตอนนี้ คือ การพุ่งขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์
วันนี้ ( 5 ส.ค.) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งแกร่งขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินเยนและปอนด์ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (4 ส.ค.) หลังจากราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์ก NYMEX (New York Mercantile Exchange) ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน และข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่ดีเกินคาด อาทิ ยอดสั่งซื้อภาคโรงงาน และรายได้ส่วนบุคคลประจำเดือนมิ.ย.
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนมีท่าทีระมัดระวังก่อนที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะประชุมเพื่อตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยในวันอังคารที่ 5 ส.ค. ซึ่งบรรยากาศการซื้อขายเช่นนี้ส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับยูโร
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐพุ่งขึ้นแตะระดับ 108.26 เยน/ดอลลาร์ จากระดับของวันศุกร์ที่ 107.66 เยน/ดอลลาร์ แต่อ่อนตัวลงแตะระดับ 1.0471 ฟรังค์/ดอลลาร์ จากระดับ 1.0495 ฟรังค์/ดอลลาร์
ค่าเงินยูโรแข็งแกร่งขึ้นแตะระดับ 1.5583 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับ 1.5564 ดอลลาร์/ยูโร แต่เงินปอนด์อ่อนตัวลงแตะระดับ 1.9627 ดอลลาร์/ปอนด์ จากระดับ 1.9752 ดอลลาร์/ปอนด์
ส่วนค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ 0.7293 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ จากระดับ 0.7268 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งแกร่งขึ้นแตะระดับ 0.9294 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย จากระดับ 0.9290 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย
ทั้งนี้ ดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงหนุนจากรายงานของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐที่ระบุว่า รายได้ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 0.1% และการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 0.6%ในเดือน มิ.ย. ส่วนดัชนีราคาการใช้จ่ายด้านการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐานซึ่งไม่รวมราคา อาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้นเกินคาด 0.3 %ในเดือน มิ.ย.
ส่วนยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเพิ่มขึ้นเกินคาด 1.7% ในเดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นผลจากยอดสั่งซื้อสินค้าหมวดที่ไม่คงทนซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยก่อนหน้านี นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดไว้ว่ายอดสั่งซื้อภาคโรงงานจะเพิ่มขึ้น 0.7 % หลังจากเพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือน พ.ค.
นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังได้รับปัจจัยบวกจากราคาน้ำมันดิบตลาด NYMEX ที่ร่วงลง 3.69 ดอลลาร์/บาเรล หรือ 2.9% แตะระดับ 121.41 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือน หลังจากศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติของสหรัฐประเมินว่าพายุโซนร้อน "เอดูอาร์ด" จะไม่สร้างความเสียหายต่อแท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซในอ่าวเม็กซิโก ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำมันที่สำคัญของสหรัฐ
อย่างไรก็ตาม ดอลลาร์สหรัฐถูกกดดันจากรายงานที่ว่า ตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคประจำเดือนมิ.ย.ร่วงลง 0.8% ซึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันเบนซินภายในประเทศที่พุ่งขึ้นและภาวะตกต่ำในตลาดที่อยู่อาศัย สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.4%
นายแอนดรูว์ บุช นักยุทธศาสตร์การลงทุนด้านปริวรรตเงินตราต่างประเทศจากบริษัทบีเอ็มโอ แคปิตอล ในเมืองชิคาโก กล่าวว่า นักลงทุนส่วนใหญ่จับตาดูการประชุมเฟดในวันอังคารที่ 5 ส.ค.นี้ โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า ในระยะใกล้นี้ นายเบน เบอร์นันกี ประธานฯ เฟด จะให้ความสำคัญกับการกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่าการสกัดกั้นเงินเฟ้อ ซึ่งเหตุผลดังกล่าวจะทำให้เฟดตัดสินใจตรึงดอกเบี้ยเอาไว้ที่ 2.00%
อย่างไรก็ตาม เบอร์นันกี กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า ภารกิจสำคัญของเฟดก็คือการดึงเงินเฟ้อให้ลงมาอยู่ในระดับที่สามารถยอมรับได้ โดยเฟดกำลังพิจารณาใช้มาตรการรับมือกับสภาวการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น หนึ่งในปัญหาที่เฟดกังวลมากที่สุด คือ การพุ่งขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น