xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนรวม 7 เดือนโต 2.4% เอฟไอเอฟดึงเงินสู้เงินฝาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กองทุนรวมติดเครื่อง เผย 7 เดือนแรกเงินไหลเข้า 34,259.83 ล้านบาท คิดเป็นการเติบโต 2.4% โดยได้กองทุนเอฟไอเอฟตราสารหนี้เป็นพระเอก ดึงเงินลงทุนสู้เงินฝากแบงก์ ส่วนกองทุนหุ้น ติดลบตามภาวะตลาดหุ้นที่ผันผวนหนัก ลุ้นครึ่งปีหลังสถานการณ์ดีขึ้น “วรวรรณ” มองทั้งปีเติบโต 10% ชู กองทุนแอลทีเอฟ-อาร์เอ็มเอฟ กระตุ้นยอดช่วงปลายปี

รายงานข่าวจากสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (สมาคม บลจ.) เปิดเผยถึงตัวเลขเงินลงทุนของธุรกิจกองทุนรวมในเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา ว่า เริ่มกลับมาเห็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาบ้างแล้ว โดยล่าสุด ณ วันที่ 25 กรกฎาคม 2551 กองทุนรวมทั้งระบบมีเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 1,460,886.75 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 19,323.47 ล้านบาท จากเดือนก่อนหน้านี้ ซึ่งมีเงินลงทุนรวม 1,441,563.28 ล้านบาท โดยการเพิ่มขึ้นดังกล่าวถือว่าสูงกว่าการเพิ่มขึ้นตลอด 6 เดือนแรกที่ผ่านมา ที่มีเงินลงทุนเพิ่มเพียง 13,265.18 ล้านบาท หรือขายตัว 0.93% เท่านั้น อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับสิ้นปี 2550 พบว่า กองทุนรวมทั้งระบบเติบโตขึ้นแล้วถึง 34,259.83 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโต 2.40%

โดยเงินลงทุนส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้เป็นหลัก โดยมีเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 995,640.65 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 34,564.52 ล้านบาท จากจำนวนเงินลงทุนรวม 961,076.13 ล้านบาท ในเดือนมิถุนายน ส่วนกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในหุ้น ปรับลดลงไปถึง 11,715.89 ล้านบาท จากเงินลงทุนรวม 129,959.38 ล้านบาทมาอยู่ที่ 118,243.49 ล้านบาท ในเดือนกรกฎาคม เช่นเดียวกับกองทุนผสมที่ปรับลดลงประมาณ 2,404.29 ล้านบาท

ทั้งนี้ หากจำแนกตามประเภทกองทุนที่มีลักษณะพิเศษ จะพบว่า กองทุนรวมต่างประเทศ (เอฟไอเอฟ) ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยได้ปัจจัยหนุนมาจากการเปิดขายกองทุนตราสารหนี้ที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลต่างประเทศ โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย ส่วนหนึ่งมาจากตราสารทางการเงินของสถาบันการเงินในต่างประเทศ (ECP) ด้วย สำหรับเงินลงทุนในกองทุนเอฟไอเอฟสิ้นสุดเดือนกรกฎาคม มีจำนวนทั้งสิ้น 220,055.45 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18,239.50 ล้านบาทจากเงินลงทุนรวม 201,815.95 ล้านบาทในเดือนก่อนหน้านี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจัยที่ให้กองทุนรวมเอฟไอเอฟ มีสัดส่วนการเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เป็นผลมาจากกองทุนที่เน้นลงทุนในตราสารทางการเงินของสถาบันการเงินต่างประเทศ หรือ ECP (Euro Commercial Paper) ซึ่งเปิดขายในช่วงปลายปีที่ผ่านมาทยอยครบอายุไปหมดแล้ว ทำให้สัดส่วนของกองทุนที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ที่บริษัทจัดการกองทุนนิยมเปิดขายออกมาเป็นจำนวนมาก สามารถเข้าไปชดเชยกองทุนที่ครบอายุได้หมด จึงเห็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว โดยหลังจากนี้ เชื่อว่า กองทุนเอฟไอเอฟจะเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง จากแนวโน้มกองทุนบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ที่ยังเปิดขายออกมาอยู่อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับกองทุน ECP ที่มีออกมาเพิ่มด้วย ซึ่งกองทุนเหล่านี้ส่วนใหญ่มีอายุการลงทุนประมาณ 1 ปี ดังนั้น จึงน่าจะยังเห็นการเติบโตได้อยู่

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบเงินลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (อาร์เอ็มเอฟ) แล้ว จะเห็นว่าลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับตัวลดลงของดัชนีตลาดหุ้นไทยนั่นเอง โดยเฉพาะกองทุนแอลทีเอฟที่มีเงินลงทุนลดลง 4,137.98 ล้านบาทมาอยู่ที่ 44,414.26 ล้านบาท ส่วนกองทุนอาร์เอ็มเอฟ มีเงินลงทุนลดลงจากเดือนก่อนหน้านี้ประมาณ 1,723.57 ล้านบาท มาอยู่ที่ 36,686.41 ล้านบาท ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่า ธุรกิจกองทุนรวมน่าจะขยายตัวได้มากกว่าในช่วงครึ่งปีแรก โดยปัจจัยที่สำคัญปัจจัยแรก คือ ไม่มีกองทุนที่ครบกำหนดอายุเป็นจำนวนมากอย่างกองทุน ECP แล้ว ทำให้การเปิดขายกองทุนใหม่ๆ หลังจากนี้เป็นต้นไป ไม่ต้องเข้ามาชดเชยในส่วนที่หายไปเช่นช่วงครึ่งปีแรก โดยกองทุนที่น่าจะมีออกมาให้เห็นมากขึ้น คงจะเป็นกองทุนตราสารหนี้ทั้งในและต่างประเทศ โดยกองทุนในประเทศเองจะเริ่มเห็นกองทุนที่เน้นลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลมากขึ้นตามแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น

**นายกสมาคม บลจ.มองทั้งปีกองทุนโต 10%**

นางวรวรรณ ธาราภูมิ ในฐานะนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน และกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บัวหลวง จำกัด เปิดเผยว่า การเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมกองทุนรวม สิ้นสุด ณ วันที่ 25 กรกฎาคม 2551 จากการรายงานของสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (สมาคม บลจ.) พบว่า มีอัตราการเจริญเติบโตประมาณ 2% โดยกองทุนหุ้นติดลบไปประมาณ 10% ประกอบกับการที่นักลงทุนมีการซื้อเข้าขายออกไปด้วย ส่งผลให้มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (NAV) ปรับตัวลดลงด้วย ขณะที่ดัชนีของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ติดลบประมาณ 20% ดังนั้น เมื่อมองโดยรวมแล้ว กองทุนหุ้นยังสามารถทำได้ดีกว่าดัชนีหุ้น ส่วนกองทุนตราสารหนี้ขยับขึ้นมาเล็กน้อย และมองว่า อุตสาหกรรมกองทุนรวมทั้งปีนี้จะเจริญเติบโตประมาณ 10%

นอกจากนี้ หากธนาคารพาณิชย์มีการระดมเงินฝากก็จะส่งผลกระทบต่ออัตราการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมกองทุนรวมอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ขายกองทุน ก็คือ ธนาคารพาณิชย์นั่นเอง เมื่อธนาคารพาณิชย์ต้องการเงินฝาก ก็ต้องไประดมทางด้านนั้นก่อน ทาง บลจ.เองก็ต้องมีการผ่อนทางด้านนั้นด้วย ขณะเดียวกัน การที่ธนาคารพาณิชย์และหลาย บลจ.เป็นหนึ่งเดียวกัน เมื่อเงินฝากสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ก็ควรจะไปที่เงินฝาก แต่หากเงินฝากมีผลตอบแทนไม่ดีเท่ากับกองทุน ซึ่งมีระดับความเสี่ยงที่ใกล้เคียงกัน ก็ควรจะมาที่กองทุนแทน ซึ่ง บลจ.ควรจะมีความซื้อสัตย์ต่อลูกค้าด้วย คาดว่า การเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมกองทุนรวมจะมาจากการกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนหุ้นระยะยาว (LTF) ที่ส่วนใหญมักจะขายดีในช่วงปลายปีเป็นหลัก

ทั้งนี้ จากการรายงานสมาคมบริษัทจัดการ (สมาคม บลจ.) สิ้นสุด ณ วันที่ 25 กรกฎาคม 2551 พบว่ามูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) ของบริษัทมีประมาณ 167,852 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 6,156 ล้านบาท หรือประมาณ 15.2% โดยกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพขยายตัว 4.2% กองทุนหุ้นระยะยาวลดลง 8.0% กองทุนที่เน้นลงทุนในต่างประเทศ (FIF) โต 64.4% โดยขยับอันดับจากอันดับ 4 เมื่อประมาณปลายปี 2550 ขึ้นมาอยู่อันดับ 3 ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ด้วย

นางวรวรรณ กล่าวว่า บริษัทเตรียมออกกองทุนกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพที่เน้นลงทุนในหุ้นในช่วงปลายปีนี้ 1 กองทุน ซึ่งที่ผ่านมา การบริหารกองทุนประเภทดังกล่าวมีการปรับพอร์ตลงทุนในหุ้นลดลงตั้งแต่ปลายปีก่อน เนื่องจากคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้วว่าภาวะตลาดจะได้รับแรงกดดันจากเศรษฐกิจในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งบริษัทจะมีจังหวะในการปรับพอร์ตลงทุนในแต่ละช่วงดัชนีที่ปรับตัว แต่จะยังคงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นไว้ที่ประมาณ 80% ของพอร์ตหุ้นโดยรวม ส่วนการลงทุนในตราสารหนี้มีการปรับลดอายุการถือครองลง ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยประเภทตราสารที่มีอายุ 3 ปี ลดเหลือ 2 ปี และปัจจุบันปรับลดอายุการถือครองเหลือไม่เกิน 1 ปีมากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวขึ้น ส่วนกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (Property fund) และกองทุนที่เน้นลงทุนในต่างประเทศ จะต้องดูสภาวะตลาดอีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น