xs
xsm
sm
md
lg

SCCกำไร6เดือนสูญ2.5พันล. เจอพิษราคาพลังงานดันต้นทุนพุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปูนใหญ่ เจอพิษราคาพลังงานดันต้นทุนพุ่ง ฉุดผลงานงวด 6 เดือน กำไรสุทธิวูบเกือบ 2.5 พันล้านบาท บวกกับปีก่อนมีกำไรจากการขายเงินลงทุน ด้านผู้บริหารเตรียมอวดโฉมใหม่ปี 53 หลังรับรู้รายได้จากโครงการที่เริ่มเดินเครื่องตั้งแต่ปลายปี 52 มูลค่ากว่าแสนล้าน พร้อมประกาศจ่ายปันผลครึ่งปีแรกหุ้นละ 5.50 บาท หลังบอร์ดกำหนดการจ่ายปันผล 40-50% ของกำไรสุทธิรวม

นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCC ) แจ้งผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ปีนี้ สิ้นสุด 30 มิถุนายน 51 ว่าบริษัทมีกำไรสุทธิ 7,195,044 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 8,815,262 ล้านบาท หรือลดลง 18% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ขณะที่งวด 6 เดือนแรกปีนี้มีกำไรสุทธิ 7,485.56 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 9,923.62 ล้านบาท หรือลดลง 2,438.06 ล้านบาท คิดเป็น 24.57% อันเป็นผลจากต้นทุนการผลิตของกลุ่มธุรกิจหลักเพิ่มสูงขึ้น ประกอบด้วย ต้นทุนวัตถุดิบ ถ่านหิน และพลังงาน โดยเฉพาะธุรกิจเคมีภัณฑ์สูงขึ้นมาก รวมถึงมีผลกระทบจากค่าใช้จ่ายในการขนส่งที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ในไตรมาสที่ 2 ปี 50 บริษัท มีรายการ Non-recurring items ได้แก่ กำไรสุทธิภาษีจากการขายเงินลงทุนในบริษัทเหล็กสยามยามาโตะ จำกัด และบริษัทอะโรเมติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (ATC) จำนวน 2,500 ล้านบาท

โดยการเพิ่มขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบ ส่งผลให้บริษัทไม่อาจปรับราคาขายได้ทัน เนื่องจากต้นทุนเพิ่มสูงต่อเนื่อง แม้ว่าขบวนการผลิตของเครือส่วนใหญ่จะใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง แต่ราคาถ่านหินที่ขยับเพิ่มขึ้นเกิน 100% แบบปีต่อปี แม้จะสต๊อกได้บางส่วน แต่ผู้ประกอบการก็ไม่อาจส่งให้บริษัทในราคาที่สต็อกได้ทั้งหมดตามความต้องการนัก ผลจากคาคาตลาดโลกพุ่ง ส่งผลให้บริษัทไม่อาจครอบคลุมต้นทุนที่ขยับเพิ่มต่อเนื่องได้ แต่ยอมรับว่าราคาน้ำมันดีเซลกระทบต่อการขนส่งบ้างบางส่วน

แม้ว่าไตรมาสนี้บริษัทมียอดขายสุทธิ 80,253 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26 %จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปริมาณขายเพิ่มขึ้นและราคาขายผลิตภัณฑ์หลักปรับตัวสูงขึ้น แต่ก็ไม่ได้ช่วยดันกำไรให้เพิ่มได้ เนื่องจาก มาร์จินลดลง ทำให้กำไรหด ดังนั้น SCC จึงหันผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม เพื่อดันให้ยอดขายและกำไรโตตามกัน

นอกจากนี้ SCC ยังเน้นการลดต้นทุนการผลิต ด้วยการอัดงบ 15,000 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงระบบการผลิตและอื่น ๆ โดยใช้เครื่องจักรจำนวนเท่าเดิม แต่เพิ่มปริมาณการผลิตให้สูง ขณะเดียวกันกับที่ต้นทุนก็ทะยานต่อเนื่อง ส่งผลให้ต้องหันมาลดค่าใช้จ่ายด้านการเงิน ซึ่งปัจจุบันเครือมีต้นทุนการเงินอยู่ที่ 5.0-5.1% ถือว่าอยู่ในระดับที่ยอมรับได้

**จับตาราคาน้ำมัน

แม้การใช้น้ำมันไม่ได้กระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทมากนัก แต่ SCC ก็ต้องจับตาดูทิศทางราคาน้ำมันเชื้อเพลิงว่าจะไปในทิศทางใด ซึ่งช่วง 1-2 ปีนี้ต้นทุนเชื้อเพลิงถือว่าสำคัญ รวมทั้งการเก็งกำไรของเฮดจ์ฟันด์ต่าง ๆ ด้วย โดยเฉพาะวัตถุดิบที่อิงราคาตลาดโลก ขณะนี้ราคาถีบตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่ 2ไตรมาสแรกปีนี้ ปิโตรเคมี ถือว่ายังดีอยู่ ขณะที่กระดาษก็ยังดีแต่ไม่มากนัก เพราะถูกต้นทุนฉุด ส่วนปูนซีเมนต์นั้นปีนี้ SCC มีแผนจะลดการส่งออก แต่พบว่าครึ่งแรกยอดการส่งออกแล้ว 4 ล้านตัน และเชื่อว่ายอดส่งออกปีนี้จะอยู่ที่ 8แสนตัน

" ปูนซีเมนต์ เราขายในประเทศจะได้เม็ดเงินสูงกว่าการส่งออก เพราะกำไรน้อยมาก หากขายในประเทศได้น้อย กำไรก็จะน้อยลง ซึ่งตั้งแต่ปลายปี 50 ถึงปัจจุบัน ดีมานด์ในประเทศต่ำลง และ 60% มาจากการขายให้กับลูกค้าในต่างจังหวัด ขณะที่ยอดส่งออกครึ่งแรกปีนี้เท่ากับปีที่ผ่านมา ซึ่งจะช่วยพยุงผลการดำเนินงานของบริษัทได้บ้าง แม้ว่าแนวโน้มครึ่งปีหลังตลาดในประเทศยังทรง ๆ และเชื่อว่าครึ่งปีหลังคาดว่ายอดขายจะติดลบ 0-5% โดยทั้งปีอาจติดลบเฉลี่ย 2-3% ในปีนี้ " นายกานต์กล่าว

โดยเฉพาะตลาดเอเชียใต้มีออร์เดอร์ปูนซีเมนต์เข้ามา แต่ต้นทุนก็พุ่ง ทำให้บริษัทปรับราคาขายได้ตามต้นทุนที่ขยับขึ้น ขณะที่ธุรกิจกระดาษก็ดีขึ้น แต่ไม่มากนัก เพราะถูกต้นทุนฉุด ส่วนปิโตรเคมีก็เติบโตต่อเนื่องและดีกว่าที่คาดไว้ เนื่องจากโครงการแครกเกอร์ดีเลย์ แต่ต้นทุนที่ทะยานขึ้น ต้องคอบติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่ง SCC ส่งออกปิโตรเคมีกว่า 30%

นายกานต์กล่าวว่า แนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อปีนี้ น่าจะปรับเพิ่มขึ้นแน่นอน เพราะราคาน้ำมันยังคงทรงตัวในระดับสูง แต่หากราคาน้ำมันลงมาอยู่ที่ 110 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล คงจะช่วยบรรเทาปัญหาเงินเฟ้อได้มาก ขณะเดียวกันหากปีนี้จีดีพีขยายตัวได้ 5% ถือว่ายังคงอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ส่วนปัจจัยที่จะส่งผลให้จีดีพีขยายตัวได้คงจะมาจากการส่งออกที่ยังคงมีทิศทางดีอยู่

**เตรียมอวดโฉมใหม่ปี 53

นายกานต์กล่าวว่า จากนี้ไปภาพของSCC จะแบบทรงตัว เนื่องจากเป็นช่วงที่เครืออยู่ระหว่างลงทุนและดำเนินการก่อสร้างโครงการต่าง ๆ ตามแผนที่บริษัทอัดโครงการที่ลงทุนไปแล้วเม็ดเงินกว่าแสนล้านบาท โดยเป็นการลงทุนในธุรกิจปิโตรเคมีกว่า 6 หมื่นล้านบาท และธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่ปิโตรเคมีกว่า 5 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะสามารถเดินเครื่องผลิตได้ปลายปี52 ดังนั้น SCC จะมีภาพลักษณ์ใหม่ในปี 53 หรือปี ค.ศ. 2010

สำหรับ โรงงานปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ที่เวียดนาม แม้ว่าจะได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาลแต่ยังต้องเจรจาเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษี และรายละเอียดการลงทุนกับรัฐบาลเวียดนามอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนทั้งหมดภายในปลายปี 51 และแล้วเสร็จในปี 56

ล่าสุดบอร์ด SCC ได้อนุมัติให้บริษัทกระเบื้องกระดาษไทย (กระเบื้องกระดาษ) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ SCC (SCC ถือหุ้นร้อยละ 100)ลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท เพื่อขยายกำลังการผลิตผลิตภัณฑ์ไม้สังเคราะห์ซึ่งผลิตจากไฟเบอร์ซีเมนต์โดยมีกำลังการผลิตสูงสุดเพิ่มอีก 7.4 ล้านตารางเมตรต่อปี จากกำลังการผลิตเดิมทั้งหมด 100 ล้านตารางเมตร ต่อปี คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 ที่โรงงานท่าหลวง จังหวัดสระบุรี และคาดว่าตลาดสำหรับไม้สังเคราะห์ซึ่งผลิตจากไฟเบอร์ซีเมนต์จะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องจากคุณสมบัติที่สามารถทดแทนไม้จริง ทั้งในด้านความทนทาน สวยงาม และราคา

**ปันผลระหว่างกาลหุ้นละ 5.50 บาท

โดย SCC แจ้งมติคณะกรรมการบริษัทเมื่อ 23 กรกฎาคม 51ซึ่งบอร์ดมีมติอนุมัติ กำหนดนโยบายการจ่ายเงินปันผลในช่วงอัตราร้อยละ 40 ถึง 50 ของกำไรสุทธิของงบการเงินรวม แต่ในกรณีที่มีความจำเป็น หรือมีเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ บริษัทฯ อาจพิจารณาเปลี่ยนแปลงการจ่ายเงินปันผลในช่วงนั้นๆ ตามความเหมาะสมได้ โดย SCC จะจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลงวดครึ่งแรกปี 51 อัตราหุ้นละ 5.50 บาท หรือคิดเป็น 46% ของกำไรสุทธิของงบการเงินรวม ให้กับผู้ถือหุ้นเฉพาะที่มีสิทธิรับเงินปันผลตามข้อบังคับของบริษัท ตามที่ปรากฏรายชื่อ ณ วันปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้นเพื่อสิทธิในการรับเงินปันผลในวันพฤหัสบดีที่ 7 สิงหาคม 2551เวลา 12.00 น. และกำหนดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในวันพฤหัสบดีที่ 21 สิงหาคม 2551

จากที่ก่อนหน้านี้ SCC ไม่ได้กำหนดนโยบายดังกล่าวออกมา นับจากเกิดวิกฤตทางการเงินเมื่อปี 40 และหลังจากนั้น 4 ปี บริษัทจึงสามารถจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นในอัตราหุ้นละ 1 บาท และหุ้นละ 3 บาทและ 4 บาทในปีถัด ๆ มา จนกระทั่งปี 48 ซึ่งจ่ายปันผลหุ้นละ 15 บาท จนกระทั่งปี 50

" เรากำหนดขึ้นมาชัดเจน เพื่อความสะดวกในการอธิบายและชัดเจนต่อผู้ถือหุ้น รวมทั้งนักวิเคราะห์ด้วย โดยเฉลี่ยที่ผ่านมาเราจ่ายปันผลอัตราเฉลี่ย 50-60% ตลอดช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ก่อนหน้าเราจ่ายที่ 40% ของกำไรสุทธิรวม " นายกานต์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น