xs
xsm
sm
md
lg

พิษน้ำมันดันต้นทุนปูนใหญ่พุ่ง กำไร Q1 ปีนี้วูบกว่าพันล้านบาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

SCC ไตรมาสแรก ปีนี้กำไรฮวบ 1,097 ล้านบาท เหตุต้นทุนการผลิตพุ่งทุกสายธุรกิจ ทั้งพลังงานและค่าขนส่งเพิ่มสูง สวนทางยอดขายยอดขายที่ขยายตัวถึงกว่า 20% มั่นใจปีนี้ขายโตตามเป้า 10% ขณะที่กำไรไม่แปรผันตาม เชื่อราคาน้ำมันปรับเพิ่มไม่หยุด เผยปริมาณการใช้ปูนซีเมนต์ไตรมาสแรกขยับเพิ่ม 1.4% จากการเดินหน้าโครงการเมกกะโปรเจกต์

นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ( SCC ) (ปูนใหญ่ )เปิดเผยว่างบการเงินรวมก่อนสอบทานประจำไตรมาส 1/51 ของบริษัทและบริษัทย่อย มียอดขาย 78,602 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13,265 ล้านบาท หรือคิดเป็น 20.30% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มียอดขาย 65,337 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาขายผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะธุรกิจเคมีภัณฑ์ และธุรกิจกระดาษ

อย่างไรก็ตาม บริษัทมีกำไรสุทธิ 7,116 ล้านบาท ลดลง 1,097 ล้านบาท หรือคิดเป็น 13.36% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 8,213 ล้านบาท เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มธุรกิจหลัก ทั้งนี้ ในระหว่างไตรมาสบริษัทมีกำไรสุทธิภาษีที่ไม่เกิดขึ้นเป็นประจำจากการขายเงินลงทุนทั้งหมดในบริษัทแปซิฟิค พลาสติคส์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้กับ Dow Chemical Company ประมาณ 200 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาแยกตามธุรกิจปรากฎดังนี้ธุรกิจเคมีภัณฑ์ มียอดขายรวม 37,357 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากราคาขายและปริมาณขายผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยมีปริมาณขาย Polyolefins ในไตรมาสนี้ เท่ากับ 288,740 ตัน เพิ่มขึ้น 30,864 ตัน จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากในไตรมาส 1/50 ได้รับผลกระทบจากการหยุดซ่อมบำรุงของโรงงาน Olefins ในภูมิภาค โดยมี EBITDA เท่ากับ 5,257 ล้านบาท ลดลง 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากราคาขายผลิตภัณฑ์พลอยได้ (By-products) เพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่น้อยกว่าต้นทุน Naphtha ที่ปรับตัวสูงขึ้น แม้ว่าส่วนต่างราคาระหว่าง HDPE และ Naphtha (GAP) ในไตรมาสนี้จะอยู่ในระดับ 732 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันก็ตาม และมีกําไรสุทธิเท่ากับ 3,874 ล้านบาท ลดลง 1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับธุรกิจกระดาษ มียอดขายรวม 12,257 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากราคาขายและปริมาณขายที่เพิ่มสูงขึ้น โดยมี EBITDA เท่ากับ 1,999 ล้านบาท ลดลง 17% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ เป็นผลจากต้นทุนวัตถุดิบและต้นทุนพลังงานยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้กำไรสุทธิเท่ากับ 740 ล้านบาท ลดลง 20% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้านธุรกิจซิเมนต์ มียอดขายรวมของธุรกิจซิเมนต์ 12,712 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาขายทั้งในประเทศและส่งออก ประกอบกับปริมาณขายในประเทศที่เพิ่มขึ้น แต่จากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น โดยมี EBITDA ลดลง 4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิลดลง 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่ธุรกิจผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง มียอดขายสุทธิ 6,205 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปริมาณความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นตามฤดูกาล มี EBITDA เท่ากับ 1,093 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยมีกำไรสุทธิเท่ากับ 320 ล้านบาท ลดลง 8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากค่าเสื่อมราคาเพิ่มสูงขึ้น และธุรกิจจัดจำหน่าย มียอดขายรวม 27,558 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นของสินค้าเหล็ก ถ่านหิน และสินค้าผลิตภัณฑ์ก่อสร้างภายในประเทศ มี EBITDA เท่ากับ 526 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิในเท่ากับ 339 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

นายกานต์ กล่าวต่อว่า เมื่อช่วงต้นปีบริษัทตั้งเป้ายอดขายในปีนี้เติบโตที่ 10% แต่จากตัวเลขยอดขายไตรมาส 1/51 ที่ออกมาขยายตัวถึง 20.30% ทำให้เชื่อว่ายอดขายในปีนี้จะเป็นไปตามเป้าหมาย อย่างไรก็ตามแม้ยอดขายจะเพิ่มมากขึ้น แต่ในส่วนของกำไรสุทธิอาจไม่ได้ผันแปรตาม เนื่องจากได้รับผลกระทบจากต้นทุนพลังงานและค่าขนส่งที่ปรับเพิ่มขึ้น ตามราคาถ่านหินและราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น แม้บริษัทจะได้ทำการล็อคราคาถ่านหินล่วงหน้าไว้ที่ 65 เหรียญสหรัฐต่อตัน ทำให้ราคาต่ำกว่าราคาตลาดแต่ยังถือว่าเพิ่มขึ้นสูง ส่วนราคาน้ำมันมองว่ายังมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อีก

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจเคมีภัณฑ์ในตลาดโลกจะเข้าสู่วัฎจักรขาลงในปี 52 เนื่องจากอุปทานใหม่จากประเทศในแถบตะวันออกกลางที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ในขณะที่ปริมาณความต้องการในตลาดโลกยังคงอยู่ในระดับทรงตัว ทำให้มองว่าธุรกิจเคมีภัณฑ์ในปีนี้คงไม่ดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว ด้านธุรกิจซิเมนต์ เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น หลังจากชะลอตัวมาตั้งแต่ไตรมาส 3/49 โดยในช่วงไตรมาส 1/51 ปริมาณการใช้ปูนซีเมนต์ทั้งอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 1.4% เนื่องจากการะตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และการเดินหน้าโครงการเมกกะโปรเจกต์ แม้ว่าการก่อสร้างจะเริ่มดำเนินการได้ช่วงต้นปี 52 ก็ตาม แต่ความคืบหน้าถือเป็นส่วนผลักดันให้เกิดความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชนกล้าที่จะลงทุนโครงการต่างๆ มากขึ้น

พร้อมกันนี้ มติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท วานนี้ ( 30 เมษายน 51) แจ้งว่าบอร์ดบริษัทมีมติเห็นชอบให้บริษัทเอสซีจี เปเปอร์ จำกัด (มหาชน) (เอสซีจี เปเปอร์) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้น 98.37 % เสนอเรื่องการเพิกถอนหุ้นบริษัทไทยเคนเปเปอร์ จำกัด (มหาชน)(TCP) ออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นและหากที่ประชุมผู้ถือหุ้น TCP มีมติอนุมัติการเพิกถอนหุ้นออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน และตลาดหลักทรัพย์ฯ อนุมัติการเพิกถอนดังกล่าว เอสซีจี เปเปอร์จะทำคำเสนอซื้อหุ้น TCP เป็นการทั่วไปเพื่อการเพิกถอนหุ้น TCP ในราคาหุ้นละ 16 บาท ตามหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ และสำนักงานก.ล.ต. ต่อไป

ทั้งนี้ การเสนอให้เพิกถอนหุ้นดังกล่าวข้างต้นสืบเนื่องจากการที่เอสซีจี เปเปอร์ ได้ทำคำเสนอซื้อหุ้นของ TCP เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 50 โดยหลังจากสิ้นสุดระยะเวลารับซื้อหุ้นเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 50 เอสซีจี เปเปอร์ มีการซื้อหุ้นของ TCP เพิ่มเติมอีก จนทำให้ปัจจุบันเอสซีจี เปเปอร์ถือหุ้น TCP ประมาณ 85.2 % ทั้งนี้ ในการทำคำเสนอซื้อหุ้นดังกล่าวเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 50 เอสซีจี เปเปอร์ ได้ระบุว่าประสงค์จะให้ TCP เสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาเพิกถอนหุ้นออกจาก การเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน ตามความผูกพันในคำเสนอซื้อหุ้นที่เอสซีจี เปเปอร์ต้องดำเนินการภายใน1 ปี นับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลาการรับซื้อหุ้นตามหลักเกณฑ์ของสำนักงาน ก.ล.ต.
กำลังโหลดความคิดเห็น