xs
xsm
sm
md
lg

SCC ออกหุ้นกู้ 2 หมื่นล.พิษ ศก.ฉุดกำไรรูด 14%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

SCC ออกหุ้นกู้ล็อตใหม่ 2 หมื่นล้านบาท เพื่อชำระคืนหนี้เงินกู้ ขณะที่บอร์ดอนุมัติออกหุ้นกู้อีก 5 หมื่นล้านบาท รองรับการขยายงาน ตั้งเป้ายอดขายปี 51 โตอีก 10% หลังโครงการกระดาษขาว และโครงการซีเมนต์ ในกัมพูชา เดินเครื่องผลิต พร้อมแจ้งผลงานงวดสิ้นปี 50 มีกำไรสุทธิก่อนรายการพิเศษ 25,841 ล้านบาท หรือลดลง 14%

นายกานต์ ฮุนตระกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCC) เปิดเผยว่า บริษัทจะออกหุ้นกู้ล็อตใหม่เดือนมีนาคมนี้ จำนวน 2 หมื่นล้านบาท อายุ 4 ปี เพื่อนำเงินไปใช้ในชำระคืนหนี้หุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอน 1 เมษายนนี้ วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท พร้อมกับบริษัทได้ขออนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท เพื่อที่จะออกหุ้นกู้ล็อตใหม่อีกวงเงินไม่เกิน 5 หมื่นล้านบาท รองรับการขยายงานในอนาคต

โดยปีนี้ บริษัทตั้งงบลงทุนไว้ 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งสูงกว่าปี 2550 ที่ตั้งไว้ 2.7 หมื่นล้านบาท โดยจะลงทุนต่อเนื่องในโครงการที่บริษัทได้วางแผนไว้ เช่น โครงการโรงปูนซีเมนต์ที่กัมพูชา และโครงการโอเลฟินส์ที่มาบตาพุด เป็นต้น ซึ่งหากมีโครงการใหม่ๆ บริษัทอาจพิจารณาเพิ่มงบลงทุนอีกครั้ง

สำหรับปี 2551 ตั้งเป้ายอดขายเพิ่มอีก 10% จากปี 2550 ที่มียอดขาย 2.67 แสนล้านบาท เนื่องจากโครงการกระดาษขาวที่จังหวัดขอนแก่นจะแล้วเสร็จ และเดินเครื่องผลิตได้ในเดือนมีนาคมนี้ และโครงการซีเมนต์ที่ประเทศกัมพูชาเพิ่งแล้วเสร็จ ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณขายของบริษัทได้ รวมทั้งคาดว่าธุรกิจซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างจะปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และการอัดฉีดเงินเดินหน้าโครงการเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาลใหม่

อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่อาจทำให้ยอดขายไม่เป็นไปตามเป้าหมาย คือ กำไร (มาร์จิน) ในธุรกิจเคมีภัณฑ์ เพราะบริษัทมีสัดส่วนรายได้ส่วนนี้ถึง 40-50% ซึ่งหากมาร์จินอ่อนตัวมาก ก็อาจทำให้ยอดขายไม่เป็นไปตามเป้าได้ โดยธุรกิจเคมีภัณฑ์ บริษัทตั้งเป้าโตที่ 4-5% แต่ปี 2551 มาร์จินของเคมีภัณฑ์จะต่ำกว่าปี 2550 ซึ่งอยู่ที่กว่า 600 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน เฉลี่ยทั้งปี 2551 คาดว่า ยังจะสูงกว่า 500 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน

ขณะที่ธุรกิจซีเมนต์ปีนี้ จะเน้นขายตลาดในประเทศมากขึ้น หลังจากปีที่แล้ว บริษัทเน้นการส่งออกโดยส่งออกกว่า 8.1 ล้านตัน แต่ผลจากเงินบาทแข็งค่ารวมทั้งค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มาร์จิ้นลดลง ดังนั้นบริษัทจึงปรับลดการส่งออกเพียง 7.5 ล้านตัน พร้อมกับมุ่งตลาดในอาเซียนและเอเชียแทนตลาดสหรัฐฯ ที่อุปสงค์ชะลอตัว โดยคาดว่า ยอดขายปูนซีเมนต์ปีนี้จะประมาณ 28-29 ล้านตัน และตั้งเป้าเติบโตที่ 0-5% ในส่วนธุรกิจกระดาษตั้งเป้าเติบโตที่ 10% จากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นอีก 2 แสนตัน/ปี

“เราคาดว่า ยอดขายในช่วงครึ่งปีแรกปี 2551 จะยังใกล้เคียงกับช่วงไตรมาส 3-4 ของปีที่แล้ว จากภาพเศรษฐกิจที่ไม่ต่างกันมาก ซึ่งโครงการเมกะโปรเจกต์ต่างๆ กว่าจะลงมือก่อสร้างและใช้ปูนซีเมนต์และวัสดุก็น่าจะเป็นไตรมาส 3 หรือ 4 ปีนี้” นายกานต์ กล่าว

โดยการปรับขึ้นราคาปูนซีเมนต์ในประเทศมีความเป็นไปได้ จากต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นมากและราคาก็ไม่ได้ปรับเพิ่มมาถึง 6 ปีแล้ว แต่ทั้งหมดจะคำนึงถึงผู้บริโภคเป็นหลัก” นายกานต์ กล่าว

นายกานต์ กล่าวต่อว่า ปีนี้คาดว่า GDP จะโตราว 4.5-5.0% แต่ภาคการส่งออกจะชะลอตัวลง จากปัญหาซับไพรม์ของสหรัฐฯ ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอย สำหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดครั้งล่าสุด 0.75% อาจส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยภายในประเทศมีแนวโน้มลดลงซึ่งจะช่วยให้อสังหาริมทรัพย์ฟื้นตัวได้

ทั้งนี้ ผลกระทบจากค่าเงินบาท ส่งผลให้บริษัทมีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนลดลงจากปีก่อนที่ขาดทุนราว 2-3 พันล้านบาท ขณะเดียวกัน ก็เชื่อว่า รัฐบาลคงไม่ปล่อยให้เงินบาทแข็งเกินไป

สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 4/50 บริษัทและบริษัทย่อยมียอดขายรวม 69,648 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีกำไรสุทธิ 5,774 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของธุรกิจเคมีภัณฑ์ รวมกับในไตรมาส 4/49 บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิภาษีจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ อันเป็นผลจากการเลิกธุรกิจซีอาร์ที โดยมีกำไรสุทธิก่อนรายการไม่เกิดขึ้เป็นประจำ 5,721 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% จากปีก่อน

ขณะที่ยอดขายรวมทั้งปีอยู่ที่ 267,737 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% จากปีก่อนต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 5% โดยมีกำไรสุทธิ 30,352 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% จากปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการขายเงินลงทุนในบริษัท อะโรเมติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (ATC) และ บ.เหล็กสยามยามาโตะ จำกัด รวมมูลค่าประมาณ 4.5 พันล้านบาท มีกำไรสุทธิก่อนรายการที่ไม่เกิดขึ้นเป็นประจำ 25,841 ล้านบาท ลดลง 14% จากปีก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว รวมกับผลประกอบการในบริษัทร่วมทุนในธุรกิจเคมีภัณฑ์ลดลง ต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น และผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นประมาณ 9% จากปีก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น